« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 23, 2012, 11:00:43 am »
0
คนมีความเพียร
(วัณณุปถชาดก : ผู้ไม่เกียจคร้าน)
"ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางทรายนั้น ณ ที่ลานกลางแจ้งฉันใด
มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น"
พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ตรัสวัณณุปถธรรม เพราะปรารภกุลบุตรคนหนึ่ง ไปฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใน เห็นโทษในกามและอนิสงส์ในการออกจากกามจึงบวช อุปสมบทได้ 5 พรรษา เรียนได้มาติกา 2 บท ศึกษาการประพฤติวิปัสสนา รับพระกรรมฐานที่จิตของตนชอบ ในสำนักของพระศาสดา เข้าไปยังป่าแห่งหนึ่ง จำพรรษา พยายามอยู่ตลอดไตรมาส ไม่อาจทำสักว่า โอภาสหรือนิมิตให้เกิดขึ้น
ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระศาสดาตรัสบุคคล 4 จำพวก ในบุคคล 4 จำพวกนั้น เราคงจะเป็นปทปรมะ เราเห็นจะไม่มีมรรคหรือผลในอัตภาพนี้ เราจักกระทำอะไรด้วยการอยู่ป่า เราจักไปยังสำนักของพระศาสดา แลดูพระรูปของพระพุทธเจ้าอันถึงความงามแห่งพระรูปอย่างยิ่ง ฟังพระธรรมเทศนาอันไพเราะอยู่ (จะดีกว่า) ครั้นคิดแล้ว ก็กลับมายังพระเชตวันวิหารอีก
พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอละความเพียร จริงหรือ
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ ทำไมจึงไม่ให้เขารู้จักตนอย่างนี้ว่า เป็นผู้มักน้อย หรือว่าเป็นผู้สันโดษ หรือว่าเป็นผู้สงัด หรือว่าเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร ให้เขารู้จักว่า เป็นภิกษุผู้ละความเพียร
เมื่อครั้งก่อน เธอได้เป็นผู้มีความเพียรมิใช่หรือ เมื่อเกวียน 500 เล่ม ไปในทางกันดาร เพราะทราย พวกมนุษย์และโคทั้งหลายได้นํ้าดื่มมีความสุข เพราะอาศัยความเพียร ซึ่งเธอผู้เดียวกระทำแล้ว เพราะเหตุไร บัดนี้ เธอจึงละความเพียรเสีย ภิกษุนั้นได้กำลังใจ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้"
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองปกครองนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน เมื่อเจริญวัยแล้วก็ได้เป็นนายกองเกวียนนำพ่อค้าเกวียน 500 เล่ม ไปค้าขายต่างเมืองเป็นประจำ คราวหนึ่ง พระโพธิสัตว์นั้นเดินทางกันดารเพราะทรายแห่งหนึ่ง มีระยะประมาณ 60 โยชน์ โดยออกเดินทางเฉพาะกลางคืน กลางวันจะหยุด
ในการควบคุมพ่อค้าเกวียนไปค้าขายดังกล่าว พระโพธิสัตว์จะตั้งผู้เชี่ยวชาญทางดาราศาสตร์ให้เป็นผู้กำหนดทิศทาง คราวนั้น คนกำหนดทิศทางได้ม่อยหลับไปเพราะเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากไม่ได้หลับเป็นเวลานาน ทำให้โคนำเกวียนหวนกลับมาในเส้นทางเดิมอีก
พออรุณรุ่งตื่นขึ้นได้รู้ว่าเป็นเส้นทางเดิมจะบอกให้กลับเกวียน แต่ขณะนั้นสว่างเสียแล้ว พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อรู้ว่าพวกตนได้กลับมายังที่ที่พักแรมเมื่อวานนี้ก็ได้แต่เสียใจ เพราะน้ำดื่มน้ำใช้รวมทั้งฟืนที่เตรียมมาหมดลงพอดี จึงพากันหยุดพัก ณ ที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง
ฝ่ายนายกองเกวียนโพธิสัตว์พยายามสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดแก่บริวาร จึงเดินไปรอบ ๆ บริเวณค่ายพักในขณะที่ยังเช้าอยู่ พลันได้เหลือบเห็นหญ้าแพรกกอหนึ่งยังเขียวสดอยู่ท่ามกลางทะเลทราย เกิดความคิดว่าหญ้าจะสดชื่นอยู่ได้จะต้องมีน้ำที่ให้ความชื่นอยู่เบื้องล่าง จึงสังคนนำจอบขุดลงไปใต้กอหญ้า พอขุดลึกลงไปถึง 60 ศอก ก็พบแผ่นหินใหญ่จึงเกิดความท้อถอย
ฝ่ายนายกองเกวียนโพธิสัตว์คิดว่า ใต้แผ่นหินนี้จะต้องมีสายน้ำเป็นแน่ได้เงี่ยหูฟังและได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่เบื้องล่าง จึงบอกคนรับใช้ให้ใช้ค้อนเหล็กทุบลงไปที่แผ่นหินนั้น พอแผ่นหินแตกเกลียวน้ำประมาณเท่าลำตาลก็พุ่งขึ้นมา คนทั้งปวงต่างพากันตื่มกันและอาบ พออาทิตย์อัสดงจงได้ยกธงไว้ใกล้บอน้ำนั้น เพื่อผู้ผ่านไปมาจะได้เห็นและแวะมาดื่ม อาบตามอัธยาศัย
ครั้นแล้ว นายกองเกวียนและบริวารก็ออกเดินทางไปค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ขายสินค้าได้กำไร 2-3 เท่าแล้ว จึงกลับไปยังที่อยู่ของตนโดยสวัสดิภาพ
ครั้นตรัสเรื่องนี้จบลงแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสพุทธภาษิตว่า
"ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นใต้ทราย
ได้พบน้ำใต้ทรายนั้น ณ ที่ลานกลางแจ้งฉันใด
มุนี (ผู้รู้) ประกอบด้วยความเพียรและกำลังใจเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
พึงได้ความสงบใจฉันนั้น"
สรุปเทศนา
คนรับใช้ผู้ไม่ละความเพียร ต่อยหินให้นํ้าแก่มหาชนในสมัยนั้น ได้เป็น ภิกษุผู้ละความเพียรรูปนี้ ในบัดนี้
บริษัทที่เหลือในสมัยนั้น ได้เป็น พุทธบริษัท ในบัดนี้
ส่วนหัวหน้าพ่อค้าเกวียน ได้เป็น เราตถาคต
ที่มา พระสูตรและอรรถกถา เล่มที่ 55 ขุททกนิกายชาดก ภาคที่ 1 เอกนิบาตชาดก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 23, 2012, 11:25:52 am โดย arlogo »

บันทึกการเข้า
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแต่เรา ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแต่เรา วิชชาเกิดขึ้นแล้วแต่เรา