« เมื่อ: กรกฎาคม 08, 2012, 12:52:03 pm »
0

กระแสธรรมของ พระโสดาบัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสสติฐานะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือพุทธานุสสติ ๑ ธรรมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสสติฐานะ ๖ ประการนี้
ดูกรมหานามะ อริยะสาวกผู้ได้บรรลุผลทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก คือ อริยะสาวกในพระศาสนานี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยะสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ
สมัยนั้น จิตของอริยะสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุมไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยะสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคตย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความซาบซึ้งธรรมย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์ เกิดแล้ว ย่อมเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น
ดูกรมหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า อริยะสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาทเป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญ พุทธานุสสติ ฯ
ดูกรมหานามะ อีกประการหนึ่ง อริยะสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมเนืองๆว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้ดูควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยะสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยะสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... ก็อริยะสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระธรรม ย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ... เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรมย่อมเจริญธรรมานุสสติ
ดูกรมหานามะ อีกประการหนึ่ง อริยะสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์เนืองๆว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้วเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายะธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นั่นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่าสมัยใด อริยะสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์เนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยะสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ก็อริยะสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระสงฆ์ย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ... เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญสังฆานุสสติ ฯ
ดูกรมหานามะ อีกประการหนึ่ง อริยะสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตนเนืองๆที่ไม่ขาดไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฐิไม่ยึดถือ เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยะสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตนเนืองๆ สมัยนั้นจิตของอริยะสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม... ก็อริยะสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภศีล ...ย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ...เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญสีลานุสสติ
ดูกรมหานามะ อีกประการหนึ่ง อริยะสาวกย่อมระลึกถึงการบริจาคของตนเนืองๆ ว่าเป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ คือ เมื่อหมู่สัตว์ถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม เรามีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือนเป็นผู้มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม(คอยหยิบของบริจาค) ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยะสาวกย่อมระลึกถึงการบริจาคเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยะสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... ก็อริยะสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภจาคะ ย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ... เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญจาคานุสสติ ฯ
ดูกรมหานามะ อีกประการหนึ่ง อริยะสาวกย่อมเจริญเทวตานุสสติ (ความระลึกถึงเทวดาเนืองๆ) ว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาเหล่าดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่ เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัสดีมีอยู่ เทวดาเหล่าพรหมกายิกามีอยู่ เทวดาที่สูงกว่าเหล่าพรหมนั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใดจุติจากโลกนี้แล้วอุบัติในเทวดาชั้นนั้น
ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้นสุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยะสาวกย่อมระลึกถึงศรัทธา ศีลสุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้นเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยะสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ย่อมไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ย่อมไม่ถูกโมหะกลุ้มรุมย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยะสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดา ย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความซาบซึ้งธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อได้ความปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น
นี้ตถาคตกล่าวว่า อริยะสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาทกันอยู่ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม ย่อมเจริญเทวตานุสสติ อริยะสาวกผู้ได้บรรลุผล ทราบชัดพระศาสนาแล้วย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก
ภิกษุเจริญพุทธานุสสติ เจริญธัมมานุสสติ เจริญสังฆานุสสติ เจริญสีลานุสสติ เจริญจาคานุสสติ เจริญเทวตานุสสติ เจริญมรณสติ เจริญอุปสมานุสสติ อันสหรคตด้วยปฐมฌาน อัน สหรคตด้วยทุติยฌาน อันlหรคตด้วยตติยฌาน อันสหรคตด้วยจตุตถฌาน แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดาปฏิบัติตามพระโอวาท ไม่ฉันอาหารบิณฑบาต ของชาวแว่นแคว้นเปล่า
ที่มาหนังสือ คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ
โดยพระครูสิทธิสังวร
วัดราชสิทธาราม คณะ 5