ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หินหลง..ผู้น่าหลงใหล..!!  (อ่าน 1255 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28562
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
หินหลง..ผู้น่าหลงใหล..!!
« เมื่อ: สิงหาคม 16, 2012, 11:36:08 am »
0




หินหลง..ผู้น่าหลงใหล..!!

สารคดีสัปดาห์นี้ไทยรัฐออนไลน์พาไปพบกับหิน เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่หลายคนรู้แล้วต้องทึ่งแน่นอน...

คนเหล่านั้นก้มศีรษะ มือไม้ง่วนอยู่กับการขุดดิน พวกเขามารวมตัวกันรอบหินใหญ่ก้อนหนึ่งในลานกลางเมืองแห่งหนึ่งของรัฐแมสซาชูเซตส์เพื่อปลูกต้นดาวเรือง

มิเชล เลเจอร์ ชาวเมืองคนหนึ่งที่มาร่วมงานบอกว่า นี่เป็นประเพณีประจำปี และอธิบายว่า หินโรลสโตนโบลเดอร์ (Rollstone Boulder) “เป็นความภาคภูมิใจของเมืองฟิตช์เบิร์กค่ะ”

ด้วยความสูงถึงสามเมตร ก้อนหินมนใหญ่ (boulder – ก้อนหินขนาดใหญ่มากที่มีความมนเนื่องจากการกระทบกระแทก และการเสียดสีระหว่างถูกนำพาจากแหล่งกำเนิด) ก้อนนี้ช่างน่าประทับใจ เราเรียกหินอย่างโรลสโตนโบลเดอร์ว่า หินหลงที่ธารน้ำแข็งพัดพามา (glacial erratic) และหินหลงจำนวนมากมายก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก


ฟริตซ์ ฮอฟฟ์แมนน์ ช่างภาพ หลงใหลหินหลงเป็นครั้งแรกขณะศึกษาเกี่ยวกับก้อนหินมนใหญ่แปลกประหลาดที่พบในที่ดินของเขาในรัฐคอนเนตทิคัต ต่อมา ขณะเดินทางอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เขาขับรถผ่านป้ายบอกทางไปยังหินพลิมัทร็อก (Plymouth Rock) “เดี๋ยวนะ! ผมชักสงสัยว่า...” เขารีบวกรถกลับเข้าไปจอดรถที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพลิมัท “ผมขอถามแค่ข้อเดียวครับ” เขาพูดกับเจ้าหน้าที่ผู้หญิงที่เคาน์เตอร์ “พลิมัทร็อกเป็นหินหลงหรือเปล่าครับ”



“ธารน้ำแข็งพัดพามันมาค่ะ ถ้านั่นคือสิ่งที่คุณหมายถึงนะคะ” เจ้าหน้าที่ผู้นั้นตอบ

การเดินทางของหินหลงที่ธารน้ำแข็งพัดพามาตลอดสมัยน้ำแข็งหลายสมัยติดต่อกัน เป็นการเดินทางอันยาวไกล บางครั้งไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตรชื่อหินเหล่านี้มาจากคำในภาษาละตินว่า เอร์ราเร (errare) แปลว่า ท่องเที่ยวไป เพราะพวกมันถูกน้ำแข็งพัดพาจากแหล่งกำเนิดมายังสถานที่ที่พบในปัจจุบัน ชนพื้นเมืองยุคโบราณสลักหรือวาดลวดลายรูปสัตว์บนหินหลงในผืนป่า หินยักษ์ลึกลับเหล่านี้โอบล้อมด้วยแมกไม้ ส่วนบนยอดเขา พวกมันตั้งอย่างหมิ่นเหม่ราวกับทรงตัวอยู่บนนิ้วของคนขี้เล่นซักคน

ลูอี อกัสซี นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิส เป็นผู้ทำให้ทฤษฎีสมัยน้ำแข็งโด่งดังขึ้นมาโดยอธิบายว่า ก้อนหินมนใหญ่เหล่านั้นมาอยู่ในสถานที่แปลกประหลาดอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร

อกัสซีสำรวจธารน้ำแข็งในเทือกเขาสวิสแอลป์ และสังเกตเห็นหินแตกหักมากมายกระจายอยู่ทั่วบริเวณส่วนปลายของพืดน้ำแข็งที่กำลังละลาย ก่อนหน้านั้น เขาเคยเห็นแหล่งสะสมของหินลักษณะคล้ายคลึงกันในหมู่เกาะบริติชไอลส์ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีธารน้ำแข็งอยู่เลย อกัสซีตั้งสมมติฐานว่า ครั้งหนึ่งธารน้ำแข็งเคยมีอยู่ทั่วไป

ในปี 1871 อกัสซีเสนอความเห็นเกี่ยวกับก้อนหินมนใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเทือกเขาเบิร์กเชียร์ในรัฐแมสซาชูเซตส์ว่า ธารน้ำแข็งจะต้องคืบคลานลงมาจากทางเหนือ พร้อมกับกลืนกินสรรพสิ่งตามรายทาง เมื่อน้ำแข็งละลาย สิ่งที่ธารน้ำแข็งพัดพามาจะถูกทิ้งไว้บนพื้นดิน อกัสซียังรายงานด้วยว่า ก้อนหินมนใหญ่ที่เกิดจากธารน้ำแข็งยังทิ้งร่องรอยของการแตกหักไว้บนผาหินของเทือกเขาร็อกกีที่อยู่สูงถึง 3,400 เมตรด้วย

นั่นหมายความว่า บรรดาหินหลงอย่างโรลสโตนโบลเดอร์ พลิมัทร็อก และหินก้อนอื่นๆ ต่างเคยเป็นส่วนหนึ่งของผาหินหรือหินดาน (bedrock) บนภูเขา และอาจหลุดออกมาโดยวัฏจักรการแข็งตัวและการหลอมละลายของน้ำแข็งเมื่อน้ำไหลซึมเข้าไปในรอยแตก และขยายตัวเมื่อกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง ก้อนหินเหล่านั้นก็หลุดออกมาจากชั้นหินเดิม



ครั้นสภาพอากาศเย็นลงและธารน้ำแข็งขยายตัวเมื่อ 25,000 ปีก่อน พืดน้ำแข็งที่มุ่งหน้าลงใต้ก็เลื่อนไหลไปบนหินที่หลุดออกมาและฉุดลากพวกมันไปด้วย เบื้องล่างน้ำแข็งที่อาจลึกถึงหนึ่งกิโลเมตรหรือกว่านั้น ก้อนหินต่างบดขยี้และเสียดสีกันจนไม่เหลือเหลี่ยมมุมแหลมคม เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งเมื่อราว 21,000 ปีก่อน น้ำแข็งก็เริ่มหลอมละลาย

แคร์รี เจนนิงส์ นักธรณีวิทยา อธิบายว่า “เรายังคงใช้ประโยชน์จากหินหลงในการทำแผนที่สิ่งทับถมธารน้ำแข็ง (glacial deposit) ในแหล่งสะสมเก่าแก่บางแห่ง ตะกอนละเอียดจากดิน ทราย และกรวด ถูกสายลมและสายน้ำกัดกร่อนจนหมดสิ้น ก้อนหินมนใหญ่จึงอาจเป็นสิ่งเดียวที่เหลือรอดค่ะ”

หากบางคนยังกังขาถึงความพิเศษของหินเหล่านี้ ก็ควรศึกษาหินโรลสโตนโบลเดอร์เป็นตัวอย่าง นานมาแล้วหินดังกล่าวเคยอยู่แถวชานเมือง โดยตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่เหนือเหมืองหินแห่งหนึ่ง ผู้ที่ชื่นชอบต่างเกรงว่ามันอาจกลิ้งหล่นลงมา จึงตกลงใจระเบิดหินเป็นเสี่ยงๆ แล้วช่วยกันชักลากชิ้นส่วนหนักรวม 110 ตันไปตั้งไว้อย่างสมเกียรติ ณ จัตุรัสกลางเมือง ก่อนจะประกอบมันเข้าด้วยกันอีกครั้ง หินโรลสโตนโบลเดอร์ตั้งอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ปี 1930 โดยแวดล้อมไปด้วยป้ายจราจร จักรยาน และรถเข็นเด็ก

และเมื่อถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ชาวเมืองจะมารวมตัวกัน เพื่อปลูกดอกไม้ไว้รอบๆ หินก้อนนี้


เรื่อง : แฮนนาห์ โฮล์มส์ ภาพถ่าย : ฟริตซ์ ฮอฟฟ์แมนน์ ข้อมูลจาก เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย http://www.ngthai.com/ngm/1208/default.asp



ขอบคุณภาพข่าวจาก http://www.thairath.co.th/content/life/283716
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ