ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “เฟซบุ๊ค” เครือข่ายสังคมอันดับหนึ่ง ปรับตัวอย่างไร..เมื่อถึงขั้นเสพติด!!  (อ่าน 2105 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28596
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“เฟซบุ๊ค” เครือข่ายสังคมอันดับหนึ่ง ปรับตัวอย่างไรเมื่อถึงขั้นเสพติด!!

เป็นกระแสข่าวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศห้ามข้าราชการเล่น ’เฟซบุ๊ก“ ในเวลาทำงาน เนื่องจากพบว่า การใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตในรอบ 8 เดือน ปี 2555 โดเมนที่มีจำนวนการเรียกใช้มากที่สุดเป็นการใช้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียงจากเว็บไซต์ของต่างประเทศในลักษณะออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก

ซึ่งเป็นเว็บไซต์ยอดฮิตนี่เอง ซึ่งการใช้งานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณ จึง มีคำสั่งระงับการเล่นเว็บไซต์นี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไปในเวลาราชการ
   
ปัจจุบันคงไม่ต้องบอกก็รู้ว่าขณะนี้ “เฟซบุ๊ก” หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า FB (เอฟบี) เป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก โดยมียอดสมาชิกกว่า 400 ล้านคน และนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของใครหลายคนไปเสียแล้ว ถ้าเราเล่นกันพอสนุกสนานก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัจจุบันเจ้า “เอฟบี” นี้ได้แทรกซึมเข้าไปผูกมัดการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้นจนถึงขั้นเสพติด  เมื่อเป็นเช่นนี้จะแก้ไขหรือบำบัดได้อย่างไร...!!

   



ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย หน่วยวิจัยเทคโน โลยีไร้สาย ข้อมูล ความมั่นคงและนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติ ให้ความรู้ว่า โลกได้สร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายมหาศาล หรือที่เราเรียกว่า มีอนุภาคในการสื่อสารมาก

ซึ่งการที่มันมีอนุภาคมากเพราะว่าในสมัยก่อนเราใช้ประโยชน์ในการหาข้อมูลอย่างเดียวก็สามารถหาข้อมูลได้ทั่วโลก โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปหาข้อมูล ซึ่งเรียกว่ายุคแรก หรือยุคเว็บ 1.0 แต่เมื่อเข้าสู่ยุคที่ 2 หรือยุคเว็บ 2.0 เปลี่ยนจากระบบที่เป็นการสื่อสารทางเดียวมาเป็นการสื่อสาร 2 ทาง แตกต่างจากสมัยก่อนเป็นการบรอดแคสท์กระจายมาให้เราฟังคล้ายกับวิทยุและโทรทัศน์

แต่ยุคนี้มีการให้ผู้ใช้งานสามารถให้ข้อมูลกันเองหรือสื่อสารกันเองผ่านระบบเว็บ ค่อนข้างเป็นการปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนมากขึ้น ฉะนั้นจึงมีอานุภาพสูงมากในการที่จะสื่อสารกัน ผู้ใช้อยากจะสื่อสารหรือพูดอะไรก็สามารถทำได้ในเครือข่ายสังคม เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ฯลฯ

   



สำหรับเฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายสังคมอันดับหนึ่งที่เรานิยมใช้กันมากที่สุด เพราะสามารถแชร์ภาพให้ผู้อื่นชมได้บนเครือข่ายสังคม หรือถ้าเป็นทวิตเตอร์ก็สามารถสื่อสารด้วยการบอกกล่าวข้อความสั้น ๆ ออกมาได้ หรือถ้าเป็นยูทูบก็สามารถสื่อสารเป็นวิดีโอภาพเคลื่อนไหว ถือว่าแตกต่างจากสมัยก่อนมาก การเปลี่ยนจากการสื่อสารทางเดียวเป็นสองทางมีประโยชน์คือ ตรงใจ

     เพราะเข้าถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยากสื่อสารและแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมามากกว่าฟังคนอื่นพูด และหากจะพูดถึงเครือข่ายสังคมก่อนที่จะเข้ามายังประเทศไทย ในต่างประเทศมีมานานเป็น 10 ปีแล้ว แต่ค่อย ๆ พัฒนาเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากไฮไฟว์ (Hi5) ปัจจุบันคือ เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เป็นกระแสดังไปทั่วโลก ทำให้ทุกคนต้องใช้เฟซบุ๊ก และเชื่อว่าสุดท้ายจะเหลือแต่เฟซบุ๊ก เพราะเจ้าของที่ประเทศอเมริกาพยายามทำให้มันดีที่สุด

   



สาเหตุที่ทำให้เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายสังคมที่โด่งดังไปทั่วโลกเพราะ
     1. ผู้สร้างเฟซบุ๊กใช้วิธีเพื่อนชวนเพื่อน ถึงแม้เราจะไม่อยากเล่นแต่มีเพื่อนมาชวน เมื่อส่งคำขอเป็นเพื่อนมาแล้วก็ต้องกดรับ เมื่อกดรับและลองเล่นก็เริ่มสนุกทำให้สนใจติดตาม
     2. มีเกมออนไลน์ที่สามารถดึงดูดเราให้เล่น เพราะไม่ใช่เกมธรรมดาแต่เป็นเกมทางเครือข่ายสังคม ผู้เล่นสามารถเล่นเป็นทีมและแบ่งปันสิ่งของกันได้ เหมือนเป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่เราได้เข้าไปอยู่ หลายคนติดเล่นเกมในเฟซบุ๊กมาก เช่น เกมปลูกผัก เป็นกระแสที่ทุกคนต้องเล่นเพราะมีการพูดกันปากต่อปาก หลังจากนั้นก็เริ่มเบื่อและมีเกมใหม่มาเรื่อย ๆ และ
     3. บางคนชอบถ่ายรูป เมื่อถ่ายมาแล้วไม่รู้จะนำไปเก็บที่ไหน คนทำเฟซบุ๊กก็จับจุดถูกนำมาเป็นจุดขาย โดยสามารถนำรูปขึ้นไปไว้บนเว็บเพื่อโชว์เพื่อนได้ เพราะสมัยก่อนถ่ายรูปแล้วต้องเข้าร้านถ่ายรูปเพื่อล้างออกมากว่าจะได้เจอเพื่อนและให้เพื่อนดูก็เสียเวลามาก แต่สำหรับเฟซบุ๊กสามารถอัพขึ้นได้ทันทีเมื่อเพื่อนเห็นก็จะไปคอมเมนต์หรือกดไลค์ ถือว่าเข้ากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ เพราะรวดเร็วทันใจผู้ใช้สามารถสื่อสารได้อย่างเรียลไทม์ ทำให้เครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กโด่งดัง

 



    หากถามถึงประโยชน์ของเฟซบุ๊ก คือการได้เจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน โดยการเข้าไปในเฟซบุ๊กเพื่อเสิร์ชหาชื่อ-นามสกุลและแอดเป็นเพื่อนกันก็สามารถพูดคุยกันได้ หรือบางคนได้เจอเพื่อนใหม่เยอะมากขึ้น โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ สาว ๆ พบรักกันทางเฟซบุ๊กและแต่งงานกันก็มีมาก

    เพราะบางครั้งคนดีหรือคนที่เราตามหามักซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของโลก ถ้าไม่มีเครื่องมือนี้เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคนที่มีไลฟ์สไตล์เหมือนเราเป็นใคร เช่น เป็นคนชอบไปวัดทำบุญก็จะนำรูปมาโพสต์ หรืออยากจะเช็กประวัติใครก็เข้าไปเช็กได้โดยดูจากการที่เพื่อน ๆ มาคอมเมนต์ ถ้าเป็นคนดีเพื่อน ๆ จะชื่นชม ในทางกลับกันถ้าเป็นคนไม่ดีก็จะถูกประณาม ซึ่งถ้าเรามีความชอบเหมือนกันสามารถพูดคุยกันได้แต่ในสมัยก่อนไม่มี
   
    นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์โดยการขายสินค้า เช่น ขายเสื้อผ้า โดยการถ่ายรูปอัพขึ้นเฟซบุ๊ก ถ้าใครสนใจจะโทรศัพท์ติดต่อมาเอง ไม่ต้องเสียเงินสร้างเว็บไซต์ ถือเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ อยู่ที่เรามองว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร หรือว่าเป็นเรื่องของการรายงานข่าวทางเครือข่ายสังคมก็มีประโยชน์มาก เช่น วันนี้มีฝนตกบริเวณประตูน้ำรถติดมาก เราถ่ายรูปแชร์ได้เพราะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่จะเดินทางไปบริเวณนั้น





    เมื่อมีเพื่อนมากดไลค์ให้ คนรายงานจะรู้สึกภูมิใจ เป็นมิติใหม่ที่สื่อแบบเดิม ๆ พยายามนำเครือข่ายออนไลน์มาช่วย เช่น สื่อสมัยก่อนตั้งโต๊ะอ่านข่าวกันมีน้อยมาก ปัจจุบันเป็นการเล่าข่าวและให้ผู้ชมทางบ้านสื่อสารเข้ามาไม่ว่าจะเป็นทางเอสเอ็มเอส, ทวิตเตอร์,เฟซบุ๊ก ทำให้แฟนรายการมีส่วนร่วมและเฝ้าดูว่าเมื่อไหร่ข้อความของตัวเองจะขึ้นโชว์บนหน้าจอทีวี
   
     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เสพติดเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นเทรนด์ทั่วโลกที่เราสามารถใช้งานได้ แต่ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่เราติดอยู่นี้กระทบกับงานหรือไม่ ถ้าเล่นแล้วดีไม่มีผลกระทบก็เล่นได้ตามปกติ แต่ถ้าบางคนติดเกมออนไลน์มากจนไม่ทำงานทำการทั้งวันถือว่ามากเกินไปแล้ว เราควรเล่นอยู่ในขอบเขตซึ่งมีตัววัด เช่น ถ้าเล่นแล้วรู้สึกชัดเจนว่าผลการเรียนตกต่ำก็ต้องแก้ไข
 
    ส่วนวัยทำงานก็ตรวจสอบได้ เช่น ทุกปีจะมีการประเมินผลงาน ถ้าสิ้นปีผลงานไม่ออก อาจจะเคยทำยอดได้มากแต่ยอดกลับตก หรือบางคนเล่นเฟซบุ๊กแต่นำมาใช้ช่วยทำงานทำให้ยอดขายเพิ่ม ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ถ้าเราใช้ในทางที่ไม่ดีก็เสียเวลาไปวัน ๆ

   



     สำหรับใครที่ติดแล้วควรทำอย่างไร ส่วนมากมันก็มีเวลาของมัน ที่เราเรียกว่า แฟชั่นจะมา ๆ ไป ๆ ยุคหนึ่งเราเคยติดอะไรสักกี่เรื่อง แต่ติดไม่นานก็เบื่อเพราะเป็นธรรมชาติของสังคม ถ้าไม่ยุ่งกับมันก็จะมีอันใหม่มาแทนและจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าถึงจุดที่คิดว่าเราจมปลักกับมันมากไปแล้วจนถึงขั้นมีพิษมีภัยถึงขนาดต้องบำบัด ก่อนอื่นลองถามตัวเองก่อนว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องใช้เครือข่ายสังคมคืออะไร ส่วนมากคำตอบที่ได้ คือเป็นคนขี้เหงา แต่บางคนมีงานยุ่งมาก ๆ กระทั่งเฟซบุ๊กก็ไม่มีเวลาเล่นก็มี

    ดังนั้นวิธีบำบัด คือ หาอะไรทำให้มันยุ่ง ๆ เข้าไว้ หรือทำเรื่องอื่น เช่น ไปเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ หรือสถานที่ที่ไม่ต้องเข้าเครือข่ายสังคม เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หากิจกรรมอะไรใหม่ ๆ ทำ เช่น เล่นกีฬาจะช่วยให้ชีวิตเราไม่เหงาและไม่น่าเบื่อ แต่ถ้าเล่นแล้วไม่มีพิษไม่มีภัยกับเรา เล่นแล้วมีความสุขก็เล่นบ้างเป็นการให้รางวัลกับชีวิตแต่ไม่ใช่เล่นจนการเรียนตกหรืองานไม่ก้าวหน้า

     เฟซบุ๊กเป็นอะไรที่ดีมากถ้าใช้ถูกทาง แต่บางศาสตร์มองว่าเป็นเครือข่ายสังคมที่เป็นอันตรายมาก เป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะเมื่อไหร่ที่เรานำตัวเองเข้าไปในเฟซบุ๊กความเป็นส่วนตัวจะไม่เหลืออยู่เลย ถือว่าเป็นตัวตนที่เราจะทำอะไรคนอื่นเห็นและรู้หมด เช่น โพสต์ว่าวันนี้อยู่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อน ๆ จะรู้หมดว่าเราอยู่ที่ไหน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นบุคคลสำคัญถ้าโพสต์แบบนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยง เพราะถ้ามีคนต้องการปองร้ายจะตามได้





    ดังนั้นทางราชการหรือหน่วยงานที่ทำงานแบบลับ ๆ เช่น หน่วยงานความมั่นคงของต่างประเทศต้องปิดบังข้อมูลจึงขอความร่วมมือไม่ให้เล่น เพราะถือเป็นเรื่องของความมั่นคงและภาพลักษณ์ของหน่วยราชการ
   
    สุดท้ายในอนาคตตนเองมองว่าควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีการลิงก์กับเครือข่ายสังคมในห้องเรียน และครู อาจารย์เพื่อคอยพูดคุยกับเด็ก ๆ เช่น เข้าไปเมนต์หรือเข้าไปสอนลูกศิษย์นอกเวลาเรียนในสังคมออนไลน์ เพราะปัจจุบันการสอนในห้องเรียนล้าสมัยแล้ว จึงควรเข้าไปดูแลเด็ก ๆ ในเฟซบุ๊กด้วย เยาวชนจะได้มีภูมิคุ้มกันทางเทคโนโลยี

    ส่วนพ่อแม่ก็พยายามตามลูก ๆ เข้าไปอยู่ในเครือข่ายสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อนที่พ่อแม่สามารถดูพฤติกรรมลูก ๆ ได้เฉพาะในบ้านเท่านั้น แต่ปัจจุบันต้องตามเข้าไปดูแลในเฟซบุ๊ก ด้วย แต่ก็ถือว่าไม่ยากจนเกินไป.





วิธีสังเกตตัวเองว่ามีอาการถึงขั้นเสพติดเฟซบุ๊คและควรบำบัด...!!
   
     1. ถ้ามีความจำเป็นต้องลดเวลาการเล่นหรือหยุดเล่นเฟซบุ๊กไม่ว่าด้วยสาเหตุใดจะรู้สึกไม่สบายใจ กระสับกระส่าย และต้องคอยติดตามการอัพเดทหน้ากระดานข้อความของตัวเองตลอดเวลาว่ามีใครมาโพสต์อะไรไว้บ้าง   
     2. การพูดคุยพบหน้าพบตาเพื่อนฝูง หรือการเข้าสังคมเปลี่ยนสถานที่มาอยู่ในเฟซบุ๊กแทนการเข้าสังคมจริง ๆ 
     3. ชอบบอกกับเพื่อน ๆ หรือคนอื่นด้วยประโยคนี้ “ถ้าอยากติดต่ออะไรให้ไปเจอกันในเฟซบุ๊ก”
     4. อดนอนเพื่อเล่นเฟซบุ๊ก หรือยอมลดเวลาการพักผ่อนลงเพื่อเพิ่มเวลาในการเล่นมากขึ้น   
     5. เล่นเฟซบุ๊กมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อเนื่องกันเป็นอาการเริ่มต้นของการติดเฟซบุ๊ก 

     6. เสียสมาธิระหว่างทำงานเพราะนั่งจดจ่ออยู่กับเฟซบุ๊กตลอดทั้งวัน   
     7. สิ่งแรกที่ทำหลังจากตื่นนอนต้องเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเช็กความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กก่อนเป็นอันดับแรก หรือตื่นนอนมากลางดึกเพื่อเช็กเฟซบุ๊ก   
     8. สื่อสารผ่านเฟซบุ๊กมากกว่าการติดต่อกันผ่านการสื่อสารทางอื่น   
     9. คอยติดตามพฤติกรรมคนอื่นผ่านเฟซบุ๊กอยู่ตลอดเวลา 
     10. ใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อกลางหรือช่องทางในการหาเพื่อน หรือลองคบหาไปเที่ยวกับเพศตรงข้ามที่พบเจอในเฟซบุ๊ก   



ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.dailynews.co.th/article/224/158676
(ข้อมูลจาก magazine.trendyday)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2012, 12:02:11 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

นักเดินทาง

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 695
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ทุกสิ่ง ทุกอย่าง มีโทษ และ คุณ ในตัวครับ
เหมือน มีด จะใช้อย่างไร ก็อยู่ที่ ผู้ใช้ครับ

    :49: :c017:
บันทึกการเข้า