ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง.! เด็กไทย.."อ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มต่อปี"  (อ่าน 2844 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29302
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



อึ้ง.! เด็กไทย.."อ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มต่อปี"

อึ้ง! 'นักวิชาการ' ชี้เด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มต่อปี แนะผู้ปกครองปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก วอนครูปรับปรุงเทคนิคการสอน จี้รัฐขยายโอกาส

    25 ต.ค.55 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเสวนา 100 หนังสือที่เด็กและเยาวชนควรอ่าน เพื่อพูดคุยถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเด็กไทย และสถานการณ์หนังสือของประเทศไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมเผยผลวิจัยคัดเลือก 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนควรอ่าน

       รศ.วิทยากร เชียงกูล หัวหน้าวิจัยโครงการ 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย เปิดเผยว่า โครงการวิจัย 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน จัดทำขึ้นเพื่อสร้างแรงกระตุ้นนิสัยรักการอ่านในสังคมไทย เนื่องจากที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักมองว่าหนังสือประเภทบันเทิงคดี เป็นหนังสือสำหรับอ่านเล่นเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงหนังสือประเภทนี้ กลับมีบทบาทช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก

       ทั้งนี้การคัดเลือก 100 หนังสือที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มวัยตามความสนใจและการรับเนื้อหาที่แตกต่างกัน คือ
       1.กลุ่มเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี จะคัดเลือกหนังสือที่มีรูปภาพประกอบและมีเนื้อหาที่อ่านง่าย
       2.กลุ่มเยาวชน อายุ 6-12 ปี จะคัดเลือกหนังสือที่เด็กสามารถเอาตนเองไปเปรียบเทียบได้อย่างสนุก มีเนื้อหาที่สะท้อนชีวิตมากขึ้นทั้งความหวัง ความเศร้า แต่เนื้อหาจะไม่หดหู่และร้ายแรงจนเกินไป และ
       3.กลุ่มวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี คัดเลือกหนังสือที่มีมีเนื้อหาหลากหลาย โครงเรื่องซับซ้อนมากขึ้น และมีการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่สื่อความหมายได้ดี





หนังสือสำหรับเด็กเล็กไม่พัฒนา
     รศ.วิทยากร กล่าวว่า หนังสือที่เลือกมาทั้ง 100 เล่ม คณะกรรมการจะมีคำแนะนำเชิงวิจารณ์ ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่จะนำไปพัฒนางานเขียนต่อไป แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมของประเทศไทย ยังถือว่ามีการพัฒนาหนังสือสำหรับเด็กเล็กค่อนข้างน้อย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันพัฒนาเพราะช่วงเด็กถือเป็นช่วงที่สามารถพัฒนาทักษะการอ่านและปลูกฝังพฤติกรรมรักการอ่านได้ง่ายที่สุด

    โดยเฉพาะช่วงอายุ 4 ขวบ โดยหากเด็กเล็กได้อ่านหนังสือและเกิดติดใจ จะถือเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่เด็กจะติดนิสัยรักการอ่านไปตลอดชีวิต แต่หากเด็กไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในช่วงนี้ เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นการยากที่เด็กจะมีพฤติกรรมรักการอ่าน





คนไทยอ่านหนังสือน้อย
     “จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2551 ระบุว่า
     คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ใช้เวลาอ่านหนังสือเรียนนอกเวลาเรียนและเวลาทำงาน เฉลี่ยวันละ 39 นาที
     โดยกลุ่มเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือมากที่สุด เฉลี่ย 46 นาที


     แต่หากเทียบกับประเทศอื่นยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก ซึ่งจากการจัดลำดับพฤติกรรมการอ่านพบว่า
     ใน 1 ปี เด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 5 เล่ม
     ขณะที่เวียดนามอ่าน 60 เล่ม สิงคโปร์อ่าน 45 เล่ม และมาเลเซียอ่าน 40 เล่ม


     ขณะที่ผลการทดสอบ PISA ในปี 2552 เด็กไทยทั้งประเทศทำคะแนนต่ำกว่ามาตรฐาน อยู่ในอับดับ 50 จากทั้งหมด 65 ประเทศ สะท้อนว่ารัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้น ขณะเดียวกันครูก็ต้องปรับวิธีสอนให้มีความน่าสนใจไม่ใช่เน้นแต่ไวยากรณ์ จนทำให้การเรียนการสอนขาดความสนุกสนานจนเด็กไม่สนใจเรียน” รศ.วิทยากร กล่าว

     นายปรีดา ปัญญาจันทร์ คณะกรรมการคัดเลือก 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กล่าวว่า หนังสือเด็กและเยาวชนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน หากเทียบกับจำนวนเนื้อหาพบว่าประเทศไทยมีผู้ผลิตหนังสือเด็กและเยาวชนของประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากหนังสือเด็กในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนใหญ่จะเน้นการนำนิทานพื้นบ้านกลับมาทำใหม่ ขณะที่หนังสือเด็กในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่มากจากต่างประเทศเพราะไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา





เวียดนามปรับปรุงรูปแบบหนังสือกระตุ้นการอ่าน
     ที่น่าสนใจคือประเทศเวียดนามมีการนำเอาหนังสือจากต่างประเทศมาแปลภาษาทั้งหมด รวมถึงหนังสือนิทานพื้นบ้านก็ได้มีการปรับรูปแบบให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการอ่านและความสนใจของเยาวชนในประเทศ

      ส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่าปัจจุบันหนังสือแปลจากต่างประเทศนั้นลดลง แต่ก็มีการผลิตเนื้อหาภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้อ่านยังคงเป็นกลุ่มเดิมที่มีพื้นฐานการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี ประเทศไทยจึงควรมีมาตรการสนับกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจนให้เข้าถึงหนังสือมากยิ่งขึ้น” นายปรีดา กล่าว

      รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ คณะกรรมการคัดเลือก 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กล่าวว่า คณะวิจัยทำการสำรวจพิจารณาหนังสือที่มีอยู่ในท้องตลาดและห้องสมุดต่างๆ ซึ่งหนังสือที่เราเลือกในครั้งนี้จะเน้นประเภทบันเทิงคดีหรือเรื่องแต่ง เช่น หนังสือภาพ หนังสือเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย เป็นหนังสือที่อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนรักการอ่านได้ง่ายกว่าหนังสือประเภทวิชาการ

     ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาหนังสือที่มีการวางโครงเรื่องอย่างชัดเจน มีการกำหนดบทบาทของตัวละครหลัก ตัวละครรอง เพื่อมุ่งหวังให้เด็กที่อ่านหนังสือได้เกิดการพัฒนาทักษะด้านภาษา โดยทางทฤษฎี จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
       1.จักษุสัมผัส ทั้งรูปภาพและความดีและความถูกต้องของเนื้อเรื่อง การใช้ภาษา และ
       2.มีคุณค่าทางภาษา คุณค่าอารมณ์ความรู้สึก คุณค่าทางสังคม และจิตนาการ





แนะครูเสริมทักษะเด็กอ่านหนังสือ
        ผศ.จินดา จำเริญ คณะกรรมการคัดเลือก 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กล่าวว่า ประเด็นที่การน่าสนใจสำหรับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอีกอย่างหนึ่ง คือการเชื่อมโยงช่วยรอยต่อของประเภทหนังสือจากขั้นเด็กเล็ก ไปขั้นเด็กโต และขั้นวัยรุ่นนั้น ต้องอาศัยบทบาทของครูเข้ามาช่วยส่งเสริมการอ่านและพัฒนาทักษะ เพราะหากเด็กเกิดความสนใจและเลือกที่จะหยิบหนังสือในระดับที่สูงกว่าขึ้นมาอ่านแล้วนั้น ต่อไปตัวเด็กเองจะสามารถพัฒนาทักษะการอ่านและสามารถก้าวไปสู่การอ่านหนังสือในระดับที่สูงขึ้นได้ด้วยตนเอง




"วรรณกรรมเยาวชน" สอนเด็กเปิดมุมมองและความคิด
       ด้าน ผศ.รพินทร คงสมบูรณ์ คณะกรรมการคัดเลือก 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 เดือน คณะกรรมการได้ทำวิจัยร่วมกัน โดยเริ่มจากเลือกเอาหนังสือที่ตนเองเคยอ่านและชื่นชอบตั้งแต่เด็กๆ จากนั้นจึงนำมาคัดเลือกและพูดคุยกันอีกครั้งโดยใช้หลักวิชาการ เหมือนการเหวี่ยงแหและคัดเลือกหนังสือที่ดีที่สุดเอาไว้

       ทั้งนี้ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 12-18 ปี การคัดเลือกหนังสือประเภทวรรณกรรมเยาวชน จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

        1.คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ได้แก่ เค้าโครงเรื่องที่มีความน่าสนใจ น่าตื่นเต้น ชวนให้ติดตาม และมีแง่คิด เช่น หนังสือความสุขของกะทิ ที่เขียนได้อย่างเรียบง่ายกระชับแต่นุ่มลึก หรือที่เรียกว่าน้อยแต่มาก มีการสอนผู้อ่านที่เป็นเด็กในเรื่องการสูญเสียและการพลัดพราก ซึ่งเป็นศิลปะของการใช้ภาษา โดยมีการปูพื้นอารมณ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความโศกเศร้าและ

        2.คุณค่าด้านตัวตนในสังคม รู้เข้ารู้เรา เข้าใจรากเหง้าปัญหา และรู้เท่าทันสังคม เช่น เรื่องเศษกระดาษ เรื่องราวของเด็กที่น้อยเนื้อต่ำใจและคิดว่าไม่มีใครเห็นคุณค่าของตนเอง จึงทำตัวคล้ายเศษกระดาษ แต่ท้ายที่สุดความเป็นคนดีและมีน้ำใจ ก็สามารถเอาชนะใจเพื่อนๆ จนได้รับการยอมรับในที่สุด เป็นตัวอย่างของวรรณกรรมเยาวชนที่ช่วยเด็ก ได้เปิดมุมมองว่าตนเองไม่ได้เป็นคนด้อยค่าในสังคม ทั้งนี้สามารถดูรายชื่อหนังสือ 100 ที่ได้รับการคัดเลือก ได้ที่ www.QLF.or.th ผศ.รพินทร กล่าว



ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20121025/143179/อึ้ง!เด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย5เล่มต่อปี.html#.UIn5P6Dvolh
http://www.worldvision.or.th/,http://blog.eduzones.com/,http://library16.files.wordpress.com/,http://www.rsunews.nethttp://mcot-image01.mcot.gtis.co.th//,
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ