« เมื่อ: พฤศจิกายน 23, 2012, 12:16:06 pm »
0
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
ช่วงนี้ผมเดินทางไปประเทศพม่าค่อนข้างถี่มากครับ ทุกครั้งที่ไปก็จะต้องจัดเวลาให้ได้ไป กราบพระมหาเจดีย์ชเวดากองทุกครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต วันนี้จึงอยากเล่า เรื่องราวความเป็นมาของพระมหาเจดีย์นี้ให้ท่านได้ฟังครับ
พระมหาเจดีย์นี้มีตำนานเล่าไว้ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล ว่าได้มีพ่อค้าสองพี่น้องนามว่าตผุสสะและภัลลิกะ เดินทางจาก เมืองโอกกะละหรืออีกชื่อหนึ่งว่า เมืองอสิตันชนะ ซึ่งปัจจุบันคือเมืองย่างกุ้งหรือยังกอง ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปค้าขายเป็น ขบวนคาราวานที่ประเทศอินเดีย
ระหว่างการเดินทางได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ ขณะนั้นพระองค์เพิ่งจะตรัสรู้ผ่านไปได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา พ่อค้าทั้งสองพี่น้องนั้นเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระราศรีผุดผ่องน่าเลื่อมใส จึงใคร่ที่จะถวายภัตตาหาร
ขณะนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงมีเครื่องบริขารแต่อย่างใด แม้แต่บาตรที่จะรับถวายภัตตาหารก็ตาม ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ที่เป็นผู้เชิญเท้าม้ากัณฑกะทั้งสี่นำเสด็จเจ้าชายสิททัตถะ ออกจากวัง จึงได้นำบาตรมาถวาย 4 ใบ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิษฐานให้บาตรทั้งสี่นั้นรวมเป็นหนึ่งเดียว และทรงใช้บาตรนั้นรับถวายข้าวสัตตูก้อนสัตตูผง จากนายวานิช สองพี่น้องจึงทำให้ทั้งตผุสสะและภัลลิกะเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา
เมื่อเสวยเสร็จแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ทรงใช้พระหัตถ์ขวายกขึ้นลูบพระเศียร ได้เส้นพระเกศาติดมา 8 เส้น จึงประทานให้กับนายวานิชคู่นั้น
ในระหว่างการเดินทางกลับ บ้านเมืองของตน ได้ผ่านเมืองอเชตตะที่ตั้งอยู่กลางทาง
พระราชาแห่งเมืองอะเชตตะทรงทราบความจึงขอเส้น พระเกศาไป 2 เส้น
ครั้นเมื่อลงเรือสำเภาข้ามทะเลกลับเมืองโอกาละ (พม่า)
พญานาคในมหาสมุทรนั้นก็ขอไปอีก 2 เส้น
เมื่อถึงเมืองโอกาละจึงได้นำขึ้นถวายพระเจ้าโอกกะละปา
ด้วยความช่วยเหลือของพระอินทร์ เทพเจ้าสูงสุดในพระพุทธศาสนา รองจากสมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ช่วยชี้แนะสถานที่ที่จะประดิษฐานเส้นพระเกศานั้น นั่นคือบนยอดเนิน เขาเสนคุตตะระอันตั้งอยู่นอกประตูเมืองโอกกะละ พระเจ้าโอกกะละปาได้รับสั่งให้ขุดหลุมใหญ่เป็นกรุเพื่อบรรจุเส้นพระเกศา
และได้เกิดอัศจรรย์ บันดาลให้พบบริขารของพระอดีตพุทธเจ้าทั้งสามองค์ เรียกว่าบริโภคเจดีย์
คือ ของพระอดีตพุทธเจ้ากกุสันโธ พระอดีตพุทธเจ้าโกนาคม พระอดีตพุทธเจ้ามหากัสสป
ได้แก่ สบง หม้อน้ำ และธารพระกรหรือไม้เท้า
เล่ามาถึงตอนนี้ ผมขอขยายความสักนิดเรื่องการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของคนโบราณว่า
นิยมขุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ กรุภายในหลุมโดยรอบด้วยหินทราย หรือศิลาแลง หรืออิฐ
เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงไปเเล้ว จึงนำของมีค่าและเครื่องพุทธบูชานานาประการ ใส่ตามลงไป
แล้วจึงปิดปากหลุมด้วยแผ่นหินขนาดใหญ่และหนา เรียกหลุมนั้นว่า "กรุ"
จากนั้นจึงก่อพระเจดีย์สวมทับลงเหนือกรุนั้น เพื่อมิให้ผู้ใดมาขุดหรือทำอันตรายได้
คติดังกล่าวนี้เพิ่งมาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง เมื่อคนปัจจุบันไปยึดติดกับเปลือก มากกว่าแก่น คิดกันไปเองว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นของสูง ต้องอัญเชิญไว้เฉพาะในที่สูงอย่างเดียว
โดยมองคำว่า "ของสูง" เป็นเรื่องของ "ความสูง" เป็นมุมมองและการตีความหมายที่ผิดแผกไปจากของคนโบราณอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่คนโบราณให้ความสำคัญทาง "นามธรรม" แต่คนปัจจุบัน กลับไปมองทาง "รูปธรรม" มากกว่า
ดังนั้น การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในปัจจุบัน จึงนิยมนำขึ้นไว้บนยอดสูงสุดของพระเจดีย์
หรือบนยอดพระเศียรของพระพุทธรูป หรือบน ยอดสันหลังคาโบสถ์
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ที่ไม่มีความมั่นคงเลย หากวันใดเกิดอันตรายขึ้นกับสถานที่นั้นๆ
เช่นหักพังลงมา ย่อมที่จะต้องพังลงจากบนลงล่างเสมอ
พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ ย่อมที่จะต้องเป็นอันตรายไปอย่างแน่นอน
กลับมาที่พระเจ้าโอกกะละปาอีกครั้งนะครับ....เมื่อโปรดให้บรรจุเส้นพระเกศาลงในกรุนั้น
ก็บังเกิดอัศจรรย์บันดาลอีกครั้งให้เส้นพระเกศาทั้งหมด กลับคืนมารวมกันเป็น 8 เส้นตามเดิม
การบรรจุกรุในครั้งนั้นจึงได้นำบริขารทั้งสามสิ่งที่ขุดพบลงบรรจุร่วมกัน
จากนั้นจึงโปรดให้ก่อพระเจดีย์สวมทับเอาไว้ และเป็นต้นเค้าที่มาแห่งองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ในปัจจุบัน
ขอเรียนย้ำว่าที่ผมเล่ามาทั้งหมดข้างต้น เป็น "ตำนาน" นะครับ
ดังนั้น ก่อนที่จะเชื่ออะไร กรุณา "ตำ" คือคิดไตร่ตรองให้นานๆ หน่อย
เรื่องราวความรู้ทั้งหลายจะได้ละเอียด ย่อยง่าย เมื่อเสพเข้าไปในร่างกายส่วนสมองแล้ว จะได้ซึมซับเข้าไปเสริมสร้างร่างกายในส่วนที่ "รู้จริง" ไม่ไปติดค้าง พอกพูนเป็นส่วนเกินของร่างกายหรือส่วน "รู้เปลือก" เหมือนไขมันส่วนเกิน เรื่องราวของพระมหาเจดีย์แห่งนี้ยังมีอีกมากมายหลายแง่หลายมุม ขอขยักไว้เล่าต่อในเวลาที่เหมาะสมอีกต่อไป สำหรับวันนี้ขอกราบสวัสดีก่อนครับ
เผ่าทอง ทองเจือ
www.facebook.com/paothong.pan
www.facebook.com/paothong.thongchua
ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/edu/307973
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 23, 2012, 12:19:08 pm โดย nathaponson »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ