พระอุโบสถวัด ทรงจตุรมุข (สี่หน้า) ในไทยพุทธคยา
55 ปี ศรัทธาปสาทะ "บูรณะวัดไทยพุทธคยา" แห่งแรกในต่างแดน
โดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล
"วัดไทยพุทธคยา" เป็นวัดไทยแห่งแรกรัฐบาลไทยสร้างขึ้นในประเทศอินเดีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2500 เพื่อฉลองปีพุทธชยันตี 2,500 ปี ที่ตำบลพุทธคยา ใกล้กับพระมหาเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ หนึ่งในสังเวชนียสถานแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
กว่า 50 ปีแล้วที่ วัดไทยในต่างแดนแห่งนี้ ยังไม่เคยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ถึงแม้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาวัดไทยแห่งนี้จะมีความสำคัญและได้เฝ้าเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงการไปกราบสักการะสังเวชนียสถานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ด้วย
พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาอินเดีย เล่าว่า การบูรณะวัดไทยพุทธคยาครั้งนี้ เนื่องจากความทรุดโทรมตามอายุขัยของวัดที่มีความเป็นมาถึง 55 ปี ประกอบกับปีพุทธชยันตีแห่งการตรัสรู้ 2,600 ปี ซึ่งพุทธคยานับเป็นต้นกำเนิดความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเพราะเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
"วัดไทยพุทธคยา เป็นวัดที่รัฐบาลสร้างขึ้น จึงได้ขอให้รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของโครงการนี้โดยงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งขอให้เป็นส่วนของภาคประชาชนที่จะร่วมกันบริจาค เพราะวัดนี้เป็นของประชาชนเช่นกัน อีกทั้งในหลายปีที่ผ่านมาผู้คนสนใจมาบวชที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์มากขึ้น หลายคนกลับไปแล้วก็มีความคิดจะทำประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาและสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง รวมถึงวัดไทยพุทธคยาแห่งนี้"
การบูรณะวัดไทยในแต่ละโซนในครั้งนี้พระราชรัตนรังษี เล่าว่า เป็นผู้วางแบบโดยความคิดร่วมกับสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนาย อภัย จันทนจุลกะ กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชุมร่วมกับ ทีมสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีนาย ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติมาเป็นที่ปรึกษาการบูรณะครั้งนี้
(บน) โรงเรียนพระปริยัติธรรมในวัดไทยพุทธคยา กำลังบูรณะตกแต่งภายใน (ล่าง) อาคารสมเด็จพระเทพฯ อยู่ระหว่างการบูรณะ
"การสร้างอาคารทั้งหมด ได้ยึดหลัก 5 ป.คือ 1.ประโยชน์ 2.ประหยัด 3.ประยุกต์ใช้ได้ 4.เป็นไปตามประเพณี และ 5.มีประสิทธิภาพ ดังนั้น สิ่งก่อสร้างทั้งหมดจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ บางอาคารอาจจะต้องรื้อออก แต่หลายอาคารเช่น อาคาร สมเด็จพระเทพฯ อาคารจอมพล ป. ภายนอกทุกอย่างจะเหมือนเดิม แต่จะปรับปรุงด้านในทั้งการตกแต่งการปรับขนาดพื้นที่และเครื่องใช้สอย เช่น ห้องน้ำ ที่จะปรับเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย" พระราชรัตนรังษีบอก
ด้าน สุภชัย วีระภุชงค์ เลขานุการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 หนึ่งในผู้ผลักดันโครงการบูรณะวัดไทยพุทธคยา เล่าว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบูรณะ เนื่องจาก 55 ปี ตั้งแต่เปิดวัดไทยพุทธคยามายังไม่เคยมีการบูรณะใหญ่เลยแม้เต่ครั้งเดียว และนอกจะเป็นการฉลอง 2,600 ปี พุทธชยันตีแห่งการตรัสรู้แล้ว ตัวแปรสำคัญอีกเรื่องคือ การปรับปรุงวัดไทยพุทธคยาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา
"โดยพระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล มีความคิดที่จะบูรณะวัดอยู่แล้ว ประกอบกับได้ไปพูดกับนายกรัฐมนตรีในเบื้องต้น และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลสำนักพุทธ ท่านก็มีความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนว่าเหมาะสมเพราะด้วยเวลา และความสำคัญ" เลขานุการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 บอก
สุภชัยบอกว่า การบูรณะครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงการมาเยือนเมืองนิวเดลีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากการเชิญของกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไทยพุทธคยาเพื่อเยี่ยมชมวัดไทยแห่งแรกในต่างแดนของรัฐบาลไทย ได้มาเยี่ยมชมการปรับปรุงว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร รวมไปถึงการกราบพระพุทธเมตตา และสวดมนต์ไหว้พระที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หนึ่งในสังเวชนียสถานแห่งการตรัสรู้ แน่นอนว่า ในส่วนของภาครัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือเป็นเป็นหนึ่งในประธานกรรมการบูรณะวัดไทยพุทธคยา
ห้องพักในอาคารสมเด็จพระเทพฯ
สุภชัยบอกอีกว่า สำหรับรูปแบบการบูรณะ จะมีทั้งส่วนที่ต้องปรับปรุง สำหรับอาคารที่สร้างตั้งแต่ พ.ศ.2500 จะเก็บเอาไว้ทั้งหมด มีบางอาคารจะต้องปรับปรุงรื้อถอดออกไปเพื่อความเหมาะสม เนื่องจากสมัยก่อนมีชาวพุทธมาทำบุญปีหนึ่งประมาณ 100-200 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ปีหนึ่งมีชาวพุทธมาทำบุญไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 คน เพราะฉะนั้นอาคารต่างๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคจึงไม่เพียงพอที่จะรองรับพระภิกษุสงฆ์ที่มาแสวงบุญ และพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่เข้ามาทำบุญเป็นจำนวนมาก
"การปรับปรุงครั้งนี้จะสามารถรองรับพุทธศาสนิกชนที่จะมาทำบุญในพุทธภูมิในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ ซึ่งการคำนวณคร่าวๆ น่าจะประมาณ 2 แสนคน เพราะฉะนั้นบางอาคารอาจจะต้องรื้อถอนออกไป ซึ่งเป็นอาคารที่ทรุดโทรมมาก รวมถึงอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย เราก็สร้างทดแทนเป็นอาคาร 3 ชั้นขึ้นมา โดยมีห้องใต้ดิน ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้จะไม่ขยายพื้นที่วัด
"รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายในอนาคต ที่เราต้องการให้มาศึกษาพระพุทธศาสนา นั่นคือกลุ่มชนชั้นผู้นำ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะกลัวความลำบาก การปรับปรุงครั้งนี้น่าจะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าหาศาสนามากขึ้น" สุภชัยบอก
ถ้าเดินเข้าไปในวัดไทยพุทธคยาจะเห็นว่าบางอาคารมีการปรับปรุงอยู่ มีเครื่องไม้เครื่องมือ กองหินดินทราย ตลอดจนแรงงานหมุนเวียนเข้ามาไม่ขาด สำหรับอาคารที่จะปรับปรุงต่อไป คือ การสร้างกุฏิกรรมฐานทั้งหมด 7 หลัง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขึ้นตอม่อ เรียกได้ว่าโครงการบูรณะวัดไทยพุทธคยาได้เริ่มขึ้นแล้ว
เลขานุการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 บอกอีกว่า ปัจจุบันได้วางแปลนการบูรณะเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่แปลนที่ออกมายังไม่นิ่งทั้ง 100% ในส่วนของงบประมาณก็ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน คาดว่าคงใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งการเริ่มบูรณะในหลายอาคารเริ่มต้นไปแล้ว เช่น อาคารสมเด็จพระบรมฯที่บูรณะเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนอาคารสมเด็จพระเทพฯก็มีการปรับปรุงตกแต่งภายในให้เรียบร้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 เดือน เพื่อใช้รับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์
สำหรับวัดไทยพุทธคยามีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเป็นไทย มีที่พักสงฆ์สถาปัตยกรรมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่นี่ในอดีตเคยเป็นที่อุปสมบทของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือ พระพิปุลสงฺคาโมภิกขุ เป็นเวลา 24 วัน และยังเป็นกุฏิที่พักสงฆ์ในยุคนั้นด้วย
จากการสำรวจอาคารแห่งนี้พบว่าตัวอาคารมีลักษณะเตี้ย แบน หน้าบันมีลักษระคล้ายรวงผึ้ง ภายในอาคารเป็นที่พระฉันอาหารมีพระประธานตั้งอยู่ 1 องค์ สุภชัยเล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่รัฐบาลไทยสร้างขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ออกแบบโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บรมครูของกรมศิลปากร เดิมเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ต่อมาย้ายออกเพื่อเปิดทางให้พระพุทธชินราชที่จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี สร้างถวาย มาตั้งเป็นพระประธานแทน
"พระพุทธรูปองค์นี้เหมือนท่านมีชีวิต แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่พระพุทธรูปองค์นี้ ไม่มีชื่อเรียก การบูรณะวัดครั้งนี้ตั้งใจจะขยายบานประตูออกไปเพราะปัจจุบันบานประตูอาคารเตี้ยทำให้เหมือนพระพุทธรูปไร้เศียร ส่วนตัวอาคารจะเก็บไว้ทั้งหลังภายนอกจะเหมือนเดิมทุกอย่าง อาจจะปรับปรุงภายในเพิ่มเติมเท่านั้น"
การบูรณะครั้งนี้จะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและคณะสงฆ์ เพราะนี่คือวัดไทยในต่างแดน วัดแห่งแรก ที่เป็นหน้าตาของประเทศไทยขอบคุณภาพและบทความจาก
หน้า 20,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2555
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355971090&grpid=&catid=09&subcatid=0901http://www.thongthailand.com/