« เมื่อ: มกราคม 30, 2013, 10:25:19 am »
0
'เต็ง เส่ง'ถวายสมณศักดิ์'กรรมการมส.'
รัฐบาลพม่าถวายสมณศักดิ์ 'อัครมหาบัณฑิต' แก่ 'สมเด็จพระพุทธชินวงศ์' กรรมการมส. พระผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทวัดทรายมูลคณะสงฆ์ไทย-พม่า
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2556 นายสมหมาย สุภาษิต รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสำนักสงเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ นาย อู ติ่นวิน เอกอัครราชทูตสหภาพเมียนมาร์ ประจำประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการถึงการถวายสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จ.นครปฐม ว่า
พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสหภาพเมียนมาร์
ได้ถวายสมณศักดิ์อัครมหาบัณฑิตตามประกาศของทำเนียบประธานาธิบดี เลขที่ 1/2013
ซึ่งสมณศักดิ์อันทรงเกียรตินี้ เหมาะสมอย่างยิ่งกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์
เนื่องด้วยผลงานที่โดดเด่นทางด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ
นายสมหมาย กล่าวต่อไปว่า ทางสหภาพเมียนมาร์ยังเห็นว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ยังมีอุทิศตนในการจัดทำปริวรรตคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามานานหลายปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่หยุดนิ่ง ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างไทยพม่าในอนาคต
โดยเฉพาะได้กระตุ้นและส่งเสริมความสัมพันธ์และธำรงไว้ซึ่งประเพณีโบราณ
ในความร่วมมือทางพุทธศาสนาระหว่าง 2 ประเทศ และยังเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์
อันเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตของทั้ง 2 ประเทศ ให้แข็งแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย
โดยทางรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์กำหนดพิธีถวายสมณศักดิ์ดังกล่าวในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2556
“เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์จะเดินทางไปรับการถวายสมณศักดิ์ ณ กรุงเนปิดอ เมืองหลวงใหม่ของสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งการถวายสมณสักดิ์แด่เจ้าประคุณสมเด็จในครั้งนี้ ถือเป็นวาระที่สำคัญ เนื่องจากในปีนี้ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีอายุครบ 6 รอบ 72 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556"
นายสมหมายกล่าว

สำหรับประวัติสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีนามเดิมว่า สมศักดิ์ ฉายา อุปสโม นามสกุลชูมาลัยวงศ์ เกิดวันที่ 2 ก.พ. 2484 ณ ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
บรรพชาอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ณ วัดละมุด จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ 5 เม.ย. 2504
ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเมื่ออุปสมบทอายุ 20 ปี ด้วยความสามารถพิเศษ
กระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2515 หรือเพียง 11 ปี นับแต่อุปสมบท
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ได้ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมโดยไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
ที่มหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย สอบได้ Ph.D. เมื่อกลับไทยได้สร้างผลงานมากมาย
ล้วนแต่เป็นการพัฒนาการศึกษาด้านปริยัติธรรมที่ยั่งยืน เช่น ตั้งสถาบันพุทธโฆส วิทยาเขตแห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อสอนบาลีใหญ่ หรือมูลกัจจายน์ ระดับปริญญาตรี เป็นการฟื้นฟูการเรียนมูลกัจจายน์ที่เลือนหายไปจากประเทศไทยให้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง
ส่วนผลงานที่รัฐบาลและคณะสงฆ์สหภาพเมียนมาร์ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากเป็นผู้มีความผูกพันกับสำนักมหาสี สยาดอว์ สำนักวิปัสสนาชื่อดังแห่งกรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมาร์แล้ว
ท่านยังช่วยแก้ปัญหาการตั้งเจ้าอาวาสวัดทรายมูล อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ทำให้คณะสงฆ์และรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์พอใจ
วัดทรายมูลเป็นวัดไทย แต่พระสงฆ์พม่าอยู่จำพรรษาหลายรูป โดยมีพระพม่าเป็นเจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ คณะสงฆ์ผู้ปกครองตั้งพระไทยรักษาการเจ้าอาวาส แต่ชาวพม่าประท้วงเป็นเรื่องเป็นราว จึงต้องระงับการแต่งตั้งรัฐบาลตั้งแต่เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ถึงนายกรัฐมนตรี
พล.อ. เต็งเส่ง เคยหยิบยกเรื่องนี้หารือกับนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
และขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จึงสั่งการให้พระเทพมังคลาจารย์ (สมาน) รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ไปแก้ไข เรื่องทุกอย่างจึงเรียบร้อยถูกใจชาวพม่า จึงส่งผลให้ทางสหภาพเมียนมาร์ ถวายสมณศักดิ์อันทรงเกียรตินี้แก่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคมครั้งนี้ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20130129/150550/เต็งเส่งถวายสมณศักดิ์กรรมการมส..html#.UQiPHvLcAit http://www.dailynews.co.th/