อาการ สำเร็จธรรมเป็นอย่างไร คะ ช่วยเล่าหน่อยด้วยคะ
คือ ไม่ทราบว่า อาการเวลา บรรลุธรรม นั้น มีปรากฏการณ์ อย่างไร คะ ช่วยเหล่าหน่อยคะ

เรื่องนี้ในหมู่ภิกษุจะไม่มีใครกล้าพูด เพราะอาจถูกกล่าวหาว่า อวดอุตริมนุษยธรรม อาจผิดวินัย และอาจถูกชาวบ้านติเตียนหรือที่เรียกว่า "โลกวัชชะ" (สังคมทางโลกเห็นว่าไม่เหมาะสม) เพราะเรื่องนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นปัจจัตตัง เป็นเรื่องที่รู้ด้วยตนเอง คนอื่นไม่สามารถรู้แทนเราได้
อุปมาเหมือนกินข้าวแล้วอิ่ม คนกินเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเองอิ่ม คนอื่นรู้สึกอิ่มแทนไม่ได้หรือรู้ไม่ได้
ใครอยากจะรู้สึกอิ่มก็ต้องกินด้วยตนเอง จะให้คนอื่นกินแทนแล้วเราจะรู้สึกเหมือนเขา เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
หากจะคุยให้ลึกลงไป ต้องไปศึกษาเรื่องวิปัสสนาญาณ หรือ ญาณ ๑๖ ก่อน
อารมณ์ในวิปัสสนาญาณจะตอบโจทย์ของคุณ pinmanee ได้
ก่อนอื่นอยากให้ทราบว่า ในชั้นของพระไตรปิฎก มีวิปัสสนาญาณ แค่ ๙ หรือ ๑๐ เท่านี้น
แต่ที่ทะลุไปถึง ๑๖ นั้น เป็นคำอธิบายของอรรถกถาจารย์ ในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค ขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammada.net/
ญาณ 16 หรือ โสฬสญาณ (ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด)
1. นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม)
2. ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ 3 ก็ดี เป็นต้น)
3. สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน)
4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์)
5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ)
6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น)
7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป)
8. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ )
9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป)
ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ 5 ตามแนวไตรลักษณ์) เข้ามาเป็นข้อที่ 1 จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ 10 และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ
13. โคตรภูญาณ (ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล)
14. มัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น)
15. ผลญาณ (ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ)
16. ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่)
ในญาณ 16 นี้ 14 อย่าง (ข้อ 1-13 และ 16) เป็น โลกียญาณ, 2 อย่าง (ข้อ 14 และ 15) เป็น โลกุตตรญาณ
ญาณ 16 (บางทีเรียกว่า โสฬสญาณ ซึ่งก็แปลว่าญาณ 16 นั่นเอง) ที่จัดลำดับเป็นชุดและเรียกชื่อเฉพาะอย่างนี้ มิใช่มาในพระบาลีเดิมโดยตรง พระอาจารย์ในสายวงการวิปัสสนาธุระได้สอนสืบกันมา โดยประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรค ในกาลต่อมา______________________________________________________
อ้างอิง : ขุ.ปฏิ. 31/1/1 ; วิสุทธิ. 3/262-319 ; สงฺคห. 55. และ วิสุทธิ. 3/206-328
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
การเดินวิปัสสนาญาณนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสังโยชน์(กิเลสอันผูกใจสัตว์) มี ๑๐ ข้อ
และการตัดสังโยชน์มี ๔ ระดับ เรียกว่า มรรค ๔ มีรายละเอียดดังนี้
สังโยชน์ 10 (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล)
ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ)
1. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตน เป็นต้น)
2. วิจิกิจฉา (ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ)
3. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร)
4. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ)
5. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง)
ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง)
6. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ )
7. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ)
8. มานะ (ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
9. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
10. อวิชชา (ความไม่รู้จริง, ความหลง)
สังโยชน์ 10 ในหมวดนี้ เป็นแนวพระสูตร หรือ สุตตันตนัย แต่ในบาลีแห่งพระสูตรนั้นๆ มีแปลกจากที่นี้เล็กน้อย คือ ข้อ 4 เป็น กามฉันท์ (ความพอใจในกาม) ข้อ 5 เป็น พยาบาท (ความขัดเคือง, ความคิดร้าย) ใจความเหมือนกัน_______________________________________________________
อ้างอิง : สํ.ม. 19/349/90 ; องฺ.ทสก. 24/13/18 ; อภิ.วิ. 35/976-977/509.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
มรรค 4 (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด)
1. โสดาปัตติมรรค (มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส)
2. สกทาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง)
3. อนาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง 5)
4. อรหัตตมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10)._______________________
อ้างอิง : อภิ.วิ. 35/837/453.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
หากถามว่า การตัดสังโยชน์ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไร
ตอบว่า ใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค
ถามต่อไปว่า ใช้อะไรสร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมา
ตอบว่า ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
ถามอีกว่า วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตอบว่า หากเดินตามมรรคมีองค์ ๘ ได้ถูกต้อง จะเกิดขึ้นเอง โดยมี สติและสมาธิเป็นเครื่องมือสำคัญ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ต้องมีกัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์
ต่อไปนี้ผมจะยกเอา "อารมณ์ของวิปัสสนาญาณในขณะเกิดโสดาปัตติมรรค"
มาแสดงให้ดู ในกระทู้ถัดไป 