ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัดเจ็ดยอด พุทธคยา ณ เมืองไทย  (อ่าน 1867 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29345
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
วัดเจ็ดยอด พุทธคยา ณ เมืองไทย
« เมื่อ: เมษายน 14, 2013, 10:20:12 am »
0

วัดเจ็ดยอด พุทธคยา ณ เมืองไทย

ในการเดินทางท่องเที่ยวท่องธรรม "ไหว้สา 5 พระธาตุปีนักษัตร แอ่ว 3 จังหวัดมนต์เมืองเหนือ" ที่ผมเพิ่งนำคณะผู้ชมรายการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV เดินทางไปกราบสักการะพระธาตุประจำปีนักษัตร คือ พระธาตุลำปางหลวง (ฉลู), พระธาตุวัดพระสิงห์ (มะโรง), พระธาตุเจ็ดยอด (มะเส็ง), พระธาตุดอยสุเทพ (มะแม) และพระธาตุหริภุญชัย (ระกา) ผมมีความประทับใจมากเป็นพิเศษอยู่วัดหนึ่งครับ นั่นคือ วัดมหาโพธาราม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "วัดเจ็ดยอด" นั่นเองครับ
       
       วัดเจ็ดยอดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2491 และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ.2549 เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ล้านนาวัดหนึ่งของเชียงใหม่
       
       พระมหาปุณณ์สมบัติ ปภากโร ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิทยาการ มมร.วิทยาเขตล้านนา พระธรรมวิทยากร ได้นำชมวัดเจ็ดยอด และเล่าถึงประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า


       
       พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระองค์ได้ทรงผนวช ณ วัดป่าแดงหลวง ที่ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1994 ทรงสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี เป็นอย่างมาก     

       ในครั้งนั้นพระเถระชาวลังกาได้นำต้นศรีมหาโพธิ์มาจากลังกาทวีป มาปลูกไว้ที่วัดป่าแดงหลวง พระเจ้าติโลกราชได้สดับพระธรรมเทศนา เรื่องอานิสงส์การปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ จึงโปรดให้นำหน่อของต้นศรีมหาโพธิ์ที่วัดป่าแดงหลวง มาปลูกไว้ในอารามที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อพ.ศ.1998และขนานนามว่า “วัดมหาโพธาราม” รวมทั้งรับสั่งให้สีหโคตรเสนาบดี (หมื่นด้ามพร้าคต) เดินทางไปอินเดีย ดูรูปแบบเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา เพื่อมาสร้างไว้ ณ บริเวณวัดนี้ และได้นิมนต์พระอุตตมปัญญามหาเถระมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
       
       ต่อมาในปี พ.ศ. 2020พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ วัดเจ็ดยอด และนับเป็นครั้งที่ 8ของโลก โดยได้อาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจากทั่วแคว้นแดนล้านนามากกว่า 100 รูปมาร่วมประชุมทำสังคายนา ใช้เวลา 1 ปี จึงแล้วเสร็จ เรียกได้ว่าเป็นการชำระตรวจสอบความถูกต้องโดยใช้ตัวอักษรล้านนาจารึกเป็นภาษาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีพระธรรมทินมหาเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าติโลกราชเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์
       
       หลังจากที่พระเจ้าติโลกราชได้สร้างพระมหาเจดีย์เจ็ดยอดเรียบร้อยแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้สร้างสัตตมหาสถาน อันหมายถึง สถานที่สำคัญรวม 7 แห่งไว้ใกล้เคียงกับพระมหาเจดีย์แห่งนั้น ปัจจุบันเหลือในวัดเจ็ดยอดเพียง 3 แห่ง

       

      ในความเก่าแก่นั้นวัดเจ็ดยอดแฝงไว้ด้วยความวิจิตรงดงามและแปลกอยู่อย่างหนึ่งครับ กล่าวคือ พระเจดีย์มียอดตั้งแต่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมนับได้เจ็ดยอดด้วยกัน ฐานประดับงานปูนปั้นรูปเทพยดานั่งขัดสมาธิเพชร ประนมหัตถ์อยู่กลางพระอุระ และเทพยดาพนมมือยืน ทรงเครื่องภูษาภรณ์อันเป็นสมัยนิยมในหมู่ชนชั้นสูงสมัยโบราณ สวมเครื่องศิราภรณ์ทรงเทริด มีทั้งแบบทรงสูงและทรงเตี้ย จะเห็นยอดศิราภรณ์ประดิษฐ์ด้วยลายวิจิตรแตกต่างๆ กันไปในแต่ละองค์ น่าเสียดายที่รูปปูนปั้นเหล่านี้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
       
       ด้านในชั้นล่างเป็นวิหารหรือห้องโถงมีพระประธานประดิษฐานอยู่ ด้านหลังหรือทิศตะวันตกของมหาวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่อีกองค์หนึ่ง ในห้องโถงมีทางขึ้น–ลงเพื่อขึ้นไปนมัสการองค์พระเจดีย์ ส่วนเจดีย์สี่เหลี่ยมบริวารทั้งสี่มุมนั้นมีซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่องค์ บริเวณด้านทิศตะวันออกของเจดีย์สี่เหลี่ยมยังมีเจดีย์ทรงระฆังอีกสององค์
       
      สำหรับผู้เกิดปีนักษัตรมะเส็ง พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา แต่อนุโลมให้มากราบสักการะพระเจดีย์ที่วัดเจ็ดยอดได้ หากไม่สะดวกไปอินเดีย ดังนั้น จะเห็นว่าที่ด้านฐานองค์พระเจดีย์จึงมากไปด้วยรูปปั้นงูเล็ก ส่วนใหญ่นิยมถวายงูเห่าเป็นการแก้บนครับ

       

      มหาวิหาร หรือ “วิหารหลวง” ก็เป็นอีกจุดหนึ่งของวัดเจ็ดยอดซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเป็นสถานที่ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก
       
       เมื่อพิจารณาไปรอบๆวัด ผมได้พบเห็นงานศิลปกรรมที่มีความสำคัญเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นำมาโดยพระภิกษุสิงหล
นิกายสู่อาณาจักรล้านนาตั้งแต่สมัยกลางพุทธศตวรรษที่ 19 และมีจำนวนหลายแห่งด้วยกัน 
โบราณสถานของวัดเจ็ดยอดที่มีความสำคัญต่อเนื่องด้วยประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และ 
มีคุณค่าในทางศิลปกรรมประเภทพุทธศิลป์ในสมัยล้านนาที่น่าสนใจ ได้แก่
       
       ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด ศิลปกรรมของซุ้มประตูโขงที่น่าสนใจ คือ ลวดลายปั้น ประดับตกแต่งกรอบวงโค้งและหางซุ้มที่เป็นส่วนประกอบซุ้มประตูสองข้าง
       
       พระอุโบสถหลังแรกของวัดเจ็ดยอด พระเมืองแก้ว พระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้ายอดเชียงราย พระราชบิดาของพระองค์ในวัดนี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2045

       

       หอไตร คือ สถานที่เก็บรักษาพระคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับที่ชำระแล้ว เมื่อครั้งสังคายนาพระไตรปิฎกโลก
       
      พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช 
เมื่อพระองค์สวรรคตในปีพ.ศ. 2030พระยอดเชียงรายโปรดให้สร้างจิตกาธานในวัดนี้ เพื่อเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระอัยกาธิราช แล้วโปรดให้สร้างพระสถูปใหญ่
เพื่อบรรจุพระอัฐิและพระอังคารธาตุของพระเจ้าติโลกราชไว้ภายในบริเวณวัด
       
       ผู้ที่หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมโบราณล้านนา ไม่ควรพลาดไปชมที่วัดเจ็ดยอดครับ มีทั้งงานประติมากรรมปูนปั้นผนัง ภาพบนพื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วงคล้ายลายถ้วยชามสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน และลายประดับหัวเสาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา เรียกได้ว่าสะท้อนแรงบันดาลใจต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติออกมาผ่านลวดลายที่มีเอกลักษณ์สื่อนัยในทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีครับ
       
       และเนื่องจากชาวล้านนา
มีความเชื่อว่า ต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีเทพเทวาสถิตอยู่ ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงเกิดประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์และเครื่องประกอบพิธีกรรมใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็น
ประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนา โดยจะมีพิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ถือเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง
       
       เอาเป็นว่าหลังจากธรรมลีลาฉบับนี้วางแผง ก็คงเข้าสู่ช่วงสงกรานต์พอดี ท่านที่ได้ขึ้นเหนือก็อย่าลืมไปร่วมพิธีแห่และถวายไม้ค้ำโพธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลนะครับ

       

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV
http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9560000039442
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ