คำว่า "ทิฏฐิวิสุทธิ" ปรากฏอยู่ใน "รถวินีตสูตร"
ทิฏฐิวิสุทธิ อยู่ในเรื่องวิสุทธิ ๗ เป็นการสนทนาระหว่างพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร
แต่ไม่มีการอธิบายความหมายใดๆ การอธิบายโดยพิสดารปรากฎอยู่ในชั้นคัมภีร์อรรถกถาคำว่า "ทิฏฐิวิสุทธิ" ปรากฏอยู่ใน "พระอภิธรรมปิฎก"
ทิฏฐิสัมปทา เป็นไฉน?
ความเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผล การบูชาย่อมมีผล การบวงสรวงย่อมมีผลผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกอื่นมีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ที่จุติและอุปบัติมีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีอยู่ในโลก สมณพราหมณ์ที่ทำให้แจ้ง ซึ่งโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้มีอยู่ในโลก ดังนี้ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ
ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่าทิฏฐิสัมปทา.
สัมมาทิฏฐิแม้ทั้งหมด จัดเป็น ทิฏฐิสัมปทา.
[๘๗๒] สีลวิสุทธิ เป็นไฉน?
ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า สีลวิสุทธิ.
สีลสังวรแม้ทั้งหมด จัดเป็นสีลวิสุทธิ.
ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นไฉน?
ญาณเป็นเครื่องรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน (กัมมัสสกตาญาณ) ญาณอันสมควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ (สัจจานุโลมิกญาณ) ญาณของท่านผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค (มัคคญาณ) ญาณของท่านผู้พร้อมเพรียงด้วยผล (ผลญาณ)
[๘๗๓] บทว่า ความหมดจดแห่งทิฏฐิ นั้น มีนิเทศว่า ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ.
บทว่า ความเพียรแห่งบุคคลผู้มีทิฏฐิอันหมดจด นั้นมีนิเทศว่า การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ.อธิบาย "ทิฏฐิวิสุทธิ" โดยพิสดาร
คัดลอกมาจาก บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ชุดที่ ๑๐ เรื่อง วิปัสสนากรรมฐาน บทที่ ๒ วิสุทธิ ๗
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก หรือปัญญาที่รู้ถูก เข้าใจถูก คือ ความรู้ความเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นเหตุให้ข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้
เป็นญาณที่สามารถรู้รูปนามได้ โดย
๑. ลักษณะ คือ รู้ลักษณะเฉพาะตนของรูปนาม
๒. รส คือ รู้หน้าที่หรือกิจของรูปนาม
๓. ปัจจุปัฏฐาน คือ รู้ผลหรืออาการปรากฏของรูปนาม
๔. ปทัฏฐาน คือ รู้เหตุที่ใกล้ชิดของรูปนาม
ทิฏฐิวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ที่มีรูปนาม เป็นอารมณ์
การกำหนดรู้แม้จะไม่ครบทั้ง ๔ ข้างต้น เพียงแต่รู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิเมื่อว่าโดยญาณ ๑๖ จัดเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ คำถาม-ตอบ เพื่อให้รู้จักรูปนาม ๑. จะเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง ได้อย่างไร ?
การที่จะพิจารณาจนเห็นว่านามรูปนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ต้องเป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจในสภาพธรรมของรูปและนามจริงๆ
๒. จะเอาปัญญาจากไหนมาเข้าใจ ?
ต้องเป็นทิฏฐิขั้นวิสุทธิที่เข้าใจถูกรู้ถูกในรูปนาม
๓. จะมีทิฏฐิวิสุทธิได้อย่างไร ?
ต้องได้มาจากการพิจารณารูปนาม
๔. การพิจารณานามรูปนั้นพิจารณาอย่างไร ?
ต้องพิจารณาตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ แต่ก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ จะต้องศึกษารูปและนามให้เข้าใจให้ดีก่อน จึงจะสามารถกำหนดได้ ถ้ายังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนามก็กำหนดไม่ถูก
เช่น ต้องรู้ว่าลมหายใจเป็นรูป จิตที่กำหนดระลึกรู้ลมหายใจเป็นนาม หรือการพิจารณาอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะต้องพิจารณาอิริยาบถเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ?
เมื่อพิจารณาได้ถูกต้องแล้วก็จะพบว่า เพราะจิตเป็นปัจจัยทำให้อิริยาบถเป็นไปได้ และอิริยาบถจะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องด้วยกายที่เกี่ยวกับธาตุ ๔
เมื่อจิตคิดจะเดิน ธาตุ ๔ นี้ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะนั่งธาตุ ๔ ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะยืน ธาตุ ๔ ก็ทำงาน เพราะว่าธาตุ ๔ ทำงานปรุงแต่งต่างกัน อิริยาบถก็เป็นไปต่างกัน และธาตุ ๔ ก็เกิดขึ้นได้ด้วยเจตนาที่เข้าปรุงแต่งจิต
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้ ก็จะทราบว่าจิตนี้สามารถจะเป็นปัจจัยให้ธาตุทั้ง ๔ เป็นไปได้ตามเจตนา ที่ปรุงแต่งจิตนั่นเอง
เวลาจะเดิน ธาตุทั้ง ๔ ก็จะทำงานโดยธาตุเบา คือ
ธาตุลมกับธาตุไฟจะมีกำลัง ส่วนธาตุหนัก คือ ธาตุดินกับธาตุน้ำจะอ่อนกำลัง
ทำให้เท้ายกขึ้นแล้วเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยกำลังของธาตุไฟกับธาตุลม
เมื่อวางเท้าลงธาตุไฟกับธาตุลมก็จะอ่อนกำลัง
แต่ธาตุดินกับธาตุน้ำก็มีกำลัง ทำให้หย่อนเท้าเหยียบลงพื้นไว้ได้ เป็นต้น
ต้องกำหนดรู้ว่าธาตุทั้ง ๔ เป็นรูป จิตและเจตสิกที่พิจารณาธาตุ ๔ เป็นนาม
ฉะนั้น ทิฏฐิวิสุทธิต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานและพิจารณารูปนามได้ถูกต้อง จนปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ได้จริงๆ ปัญญาในทิฏฐิวิสุทธินี้เป็นปัญญาขั้นภาวนา ไม่ใช่ปัญญาขั้นการศึกษา แต่ต้องปฏิบัติพิจารณารูปนามจนทำลายความเข้าใจผิด ความสำคัญผิดว่าเป็นเราออกไปจากจิตใจให้ได้ [/color]
๕. อะไรเป็นเครื่องปิดบังความเป็นจริงของรูปนาม?
เครื่องปิดกั้นความจริงของนามรูป มีหลายประการ ดังนี้
๕.๑ ฆนสัญญาหมายถึง ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูปนามนั้นปิดบังอนัตตา ทำให้เราเห็นว่ารูปนามนั้นเป็นก้อนเป็นแท่ง เช่น เห็นว่ารูปก็มีรูปเดียว นามก็มีนามเดียว ทั้งรูปทั้งนามก็คือตัวตนของเรานี้เอง
เมื่อถูกความเป็นกลุ่มก้อนปิดบังไว้เช่นนี้ ความรู้สึกว่าไม่ใช่เราก็ไม่เกิดขึ้น
๕.๒ สันตติ หมายถึง ความสืบต่อ จึงทำให้เห็นติดกัน ทำให้ปิดบังอนิจจัง คือความไม่เที่ยงไว้ ทำให้เห็นเป็นของเที่ยง เพราะความสืบต่อที่รวดเร็วจนไม่เห็น ความขาดช่วงขาดตอนของรูป ของนาม
๕.๓ อิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ จึงไม่เห็นว่ารูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะอิริยาบถที่เปลี่ยนไปเช่น จากอิริยาบถเดิน เปลี่ยนเป็นนั่ง ในขณะที่นั่งใหม่ๆ ก็จะรู้สึกสุขสบาย แต่พอนั่งไปนานๆ ก็ทุกข์อีกต้องเปลี่ยนอิริยาบถอีก อันที่จริงในขณะที่นั่งใหม่ๆ ตอนนั้นก็ทุกข์เหมือนกันแต่ทุกข์เกิดน้อยเพราะเพิ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ แต่พออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ ทุกข์ก็มากขึ้นๆ
จะเห็นได้ว่าอิริยาบถนั้นปิดบังทุกข์ไว้ ทำให้เห็นว่าเป็นสุข แท้ที่จริงแล้ว ตอนที่สุขนั้นนั่นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เพราะสภาพเช่นนี้ ก็จะไม่คงอยู่ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนี้เองคือสภาพของทุกข์จริงๆ คือ มีสภาพที่ทนอยู่ในไม่ได้
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ที่จะเห็นอนัตตาว่ารูปนามนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะต้องเข้าใจ ในอุบายที่จะทำลายฆนสัญญาให้กระจายออกมาเสียก่อน จึงจะเห็นอนัตตาได้ บรรณานุกรม๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอาภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ
: อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
: โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะ แปลจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒
คำอธิบาย "วิสุทธิ ๗"
ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
วิสุทธิ 7 (ความหมดจด, ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ, ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมายคือนิพพาน)
1. สีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์ และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ) วิสุทธิมรรคว่าได้แก่ ปาริสุทธิศีล 4
2. จิตตวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา) วิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ สมาบัติ 8 พร้อมทั้งอุปจาร
3. ทิฏฐิวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะเป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด) จัดเป็นขั้นกำหนดทุกขสัจจ์
4. กังขาวิตรณวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย, ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้แล้วจึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง 3) ข้อนี้ตรงกับ ธรรมฐิติญาณ หรือ ยถาภูตญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ จัดเป็นขั้นกำหนดสมุทัยสัจจ์
5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ เริ่มเจริญวิปัสสนาต่อไปด้วยพิจารณากลาป จนมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย อันเรียกว่าอุทยัพยานุปัสสนา เป็นตรุณวิปัสสนา คือวิปัสสนาญาณอ่อนๆ แล้วมีวิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น กำหนดได้ว่าอุปกิเลสทั้ง 10 แห่งวิปัสสนานั้นมิใช่ทาง ส่วนวิปัสสนาที่เริ่มดำเนินเข้าสู่วิถีนั่นแลเป็นทางถูกต้อง เตรียมที่จะประคองจิตไว้ในวิถีคือ วิปัสสนาญาณนั้นต่อไป) ข้อนี้จัดเป็นขั้นกำหนดมัคคสัจจ์
6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน คือ ประกอบความเพียรในวิปัสสนาญาณทั้งหลายเริ่มแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่พ้นจากอุปกิเลสดำเนินเข้าสู่วิถีทางแล้วนั้น เป็นต้นไป จนถึงสัจจานุโลมิกญาณหรืออนุโลมญาณ อันเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนา ต่อแต่นี้ก็จะเกิดโคตรภูญาณ คั่นระหว่างวิสุทธิข้อนี้กับข้อสุดท้าย เป็นหัวต่อแห่งความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล โดยสรุป วิสุทธิข้อนี้ ก็คือ วิปัสสนาญาณ 9)
7. ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค 4 หรือ มรรคญาณ อันเกิดถัดจากโคตรภูญาณเป็นต้นไป เมื่อมรรคเกิดแล้วผลจิตแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆ ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุผลที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น)
วิสุทธิ 7 เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุนิพพาน ดุจรถ 7 ผลัดส่งต่อกันให้บุคคลถึงที่หมาย โดยนัยดังแสดงแล้วอ้างอิง ม.มู. 12/298/295; คัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งหมด.