ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระพุฒาจารย์  (อ่าน 2095 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28565
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
สมเด็จพระพุฒาจารย์
« เมื่อ: มีนาคม 09, 2014, 08:48:31 am »
0


สมเด็จพระพุฒาจารย์

9 มี.ค.2557 ร่วมใจแสดงความอาลัยพระมหาเถระผู้มีคุณูปการต่อคณะสงฆ์ไทย

9 มีนาคม พ.ศ.2557 อีกหนึ่งวันสำคัญที่จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย
เนื่องด้วยเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีดังกล่าวด้วย พร้อมกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ รวม 3 วันด้วยกัน คือวันที่ 8 มี.ค. พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในการออกเมรุ ณ ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศฯ วันที่ 9 มี.ค. พิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส และวันที่ 10 มี.ค. พระราชทานผ้าไตร และภัตตาหารสามหาบในการเก็บอัฐิ



สมเด็จพระพุฒาจารย์ นับเป็นพระสงฆ์ไทยที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาไว้อย่างมากมาย นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ด้วยเหตุที่ต้องบวชแก้บน เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนที่จะไปศึกษาพระพุทธศาสนา และวิปัสสนากัมมัฏฐาน กับ หลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้งในขณะนั้น จนหลวงพ่อพริ้งเห็นแววในความสามารถ จึงนำมาฝากที่วัด สระเกศฯเพื่อเรียนนักธรรม บาลี จนกระทั่งได้อุปสมบทที่วัดสระเกศฯ

และที่วัดสระเกศฯนี้เองที่เป็นจุดเริ่มของสมเด็จพระพุฒาจารย์ในการสร้างผลงานให้กับวงการพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ไทย ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาจำพรรษาที่วัดสระเกศฯ จนกระทั่งถึงวันมรณภาพ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2556



ผลงานที่โดดเด่น ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในวงการคณะสงฆ์ไทยอย่างดี คือ งานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และงานด้านการศึกษา ซึ่ง  สมเด็จพระพุฒาจารย์ เคยดำรงตำแหน่ง  เลขาธิการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (เทียบเท่าอธิการบดีในปัจจุบัน) ทั้งยังเคยเป็นกรรมการร่างหลักสูตร โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา อย่างไรก็ตามผลงานที่ทำให้คณะสงฆ์ไทยยกย่องที่สุดในฐานะผู้บุกเบิกก็คือ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยชุดแรก ซึ่งประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ได้มีโอกาสไปเยือนสหรัฐอเมริกา จากการเชิญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นคณะสงฆ์ไทยชุดแรกที่ได้เยือนนครรัฐวาติกันด้วย



จากการเดินทางไปในครั้งนั้นเหมือนเป็นการจุดประกายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสหรัฐอเมริกาให้กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ เนื่องจากพบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ที่ประเทศนี้จำนวนมาก ทั้งเมื่อคนไทยได้เห็นพระสงฆ์ไทย ก็พากันนิมนต์เพื่อไปให้พร สวดมนต์ที่บ้าน ถึงขนาดที่บางบ้านไม่มีที่พัก แต่เมื่อได้รับกิจนิมนต์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็ยอมที่จะพักในโรงรถ เพื่อที่จะได้ไปเยี่ยมคนไทย

และนั่นนำมาสู่ปณิธานอันแน่วแน่ของ  สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อกลับมาเมืองไทยคือจะต้องตั้งวัดไทยที่สหรัฐอเมริกาให้ได้ และนั่นย่อมเปรียบเสมือนจุดเริ่มของการวางแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยที่ทวีปยุโรปและอเมริกา


 :25: :25: :25:

โดยวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จัดตั้งขึ้นจนประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรก คือ วัดไทยลอสแอนเจลิส และจวบจนปัจจุบัน มีวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นแล้วถึง 107 วัด มีพระสงฆ์จำพรรษาและอยู่ปฏิบัติศาสนกิจรวมถึง 317 รูป

หันมาทางทวีปยุโรป สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีโอกาสเดินทางไปยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2507 ที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งพบว่ามีคนไทยอยู่ในยุโรป จึงอยากให้มีวัดไทยตั้งอยู่ด้วยเพื่อไว้เป็นที่พึ่งทางใจ หลังจากนั้นเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ปี ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ทวีปยุโรปอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางตั้งวัดไทยในยุโรป จนประสบความสำเร็จในการตั้งวัดไทยแห่งแรก คือวัดพุทธาราม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมาจึงมีวัดไทยในประเทศต่างๆทางทวีปยุโรปตามมาอีกจำนวนมาก ประกอบด้วย ประเทศออสเตรีย 1 วัด เบลเยียม 3 วัด เดนมาร์ก 2 วัด อังกฤษ 10 วัด ฟินแลนด์ 1 วัด ฝรั่งเศส 3 วัด เยอรมนี 9 วัด นอร์เวย์ 2 วัด สวีเดน 4 วัด และสวิตเซอร์แลนด์ 2 วัด รวมถึงแคนาดา 7 วัดด้วย



งานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9 มี.ค.นี้ โดยเฉพาะพิธีเชิญโกศจากวัดสระเกศฯ ไปยังวัดเทพศิรินทราวาส นอกเหนือจากส่วนของพระสงฆ์ที่แจ้งความจำนงมายังวัดสระเกศฯ แล้วกว่า 20,000 รูป และผู้นำ ชาวพุทธจากต่างประเทศอีกกว่า 2,000 คน ที่จะร่วมขบวนเชิญโกศศพแล้ว

ทีมข่าวศาสนา เชื่อว่าจะต้องมีคณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่อยากจะร่วมขบวนเชิญโกศศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ รวมถึงร่วมงานพระราชทานเพลิงศพในครั้งนี้ และแน่นอนว่าตลอดเส้นทางที่ขบวนเชิญโกศสมเด็จพระพุฒาจารย์ จะผ่าน คือ จากวัดสระเกศฯ เลี้ยวขวาสี่แยกแม้นศรี ไปตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวขวาแยกกษัตริย์ศึก ไปทางถนนกรุงเกษม เลี้ยวขวาแยกนพวงษ์ ไปตามถนนหลวง ก่อนเลี้ยวขวาเข้าวัดเทพศิรินทร์นั้น จะต้องมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากรอสักการะอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งเพื่อความเป็นระเบียบทางวัดสระเกศฯ ขอความร่วมมือในการแต่งกายด้วยชุดสีขาว

เพื่อร่วมกันน้อมรำลึกถึงคุณูปการ แสดงความอาลัย และสักการะ แด่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้วางรากฐานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแผ่นดิน ทวีปอเมริกา และทวีปยุโรป และผู้มีคุณูปการต่อคณะสงฆ์ไทยเป็นครั้งสุดท้าย.


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/edu/408331
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ