ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มนุษย์โกรธ  (อ่าน 2422 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
มนุษย์โกรธ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 28, 2014, 09:19:30 am »
0


มนุษย์โกรธ "พึงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ"

"มนุษย์" คือ คนที่เกิดมาถึงพร้อมด้วยศีล 5 มีพรหมวิหารธรรม ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และที่สำคัญคือ มี "หิริโอตตัปปะ"

แต่ละคนเกิดมามีพื้นฐานของยีนหรือ Genetic ที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกแตกต่างกัน เมื่อเกิดมา ความเป็นปุถุชนคือพื้นฐานชีวิตที่มีต้นทุนจากปัจจัยพื้นฐาน ว่าด้วยสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน "กล่อมเกลา" มาตั้งแต่แบเบาะจนกระทั่งเติบโต จากคลาน นั่ง ตั้งไข่ เดินเตาะแตะเข้าสู่เรียนก่อนวัยอนุบาล วัยเรียนชั้นอนุบาล วัยประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ส่งผลให้มีบุคลิกภาพ พฤติกรรม และอารมณ์แตกต่างกันไป

ด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ สถานศึกษาที่เด็กไปอยู่ รวมทั้งสิ่งกระตุ้นเร้า จากสื่อต่างๆ รวมถึงวัตถุนิยม บริโภคนิยม ย่อมทำให้เกิดอารมณ์แห่งความต้องการ นำไปสู่การเกิดภาวะ "ตัณหา" ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น ถ้าหากได้สมหวัง สมอารมณ์ ปัญหาย่อมไม่เกิด แต่ในโลกของความเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างคงไม่มีอะไรสมหวังหมด ไม่ว่าจะเกิดด้วยการสัมผัสจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อได้สมหวังหรือไม่ได้ดังหวัง ย่อมเกิดอารมณ์แห่งความ "โลภ โกรธ หลง" ซึ่งภาวะปกติดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทุกคน "คนโกรธ" คือ "คนโง่" "คนโมโห" คือ "คนบ้า" จุดไฟเผาตัวเองไปเรื่อย ๆ

 :96: :96: :96: :96: :96:

หลักธรรมทางศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี มีความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกาย วาจา มีน้ำใจปรารถนาดี แม้แต่ไม่ได้ทำอะไรอื่นก็ให้แผ่เมตตาแก่เพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสัตว์ ทั้งปวง ขอให้เป็นสุขเป็นสุขเกิด ปราศจากเวรภัยกันโดยทั่วหน้า

อย่างไรก็ตาม "เมตตา" มีคู่ปรับสำคัญอย่างหนึ่งคือ "ความโกรธ" ความโกรธเป็นศัตรูที่คอยขัดขวางไม่ให้มีเมตตาเกิดขึ้น คนบางคนเป็นอยู่มักโกรธ โกรธง่ายหายเร็ว พอโกรธขึ้นมาแล้วก็ต้องทำอะไรรุนแรงแสดงออกมา ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็หงุดหงิด วุ่นวายทรมานใจตนเอง กินไม่ได้นอนไม่หลับ ปวดหัว เวียนหัว บางคนความดันโลหิตขึ้นสูงจนช็อกจากโรคหัวใจ หรือปวดหัวจนเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพาตได้ กลายเป็นความ "โกรธ" เผาตัวเราเอง



ในฐานะปุถุชน เราต้องรู้จักและเรียนรู้การระงับความโกรธเพื่อให้เห็นโทษของความโกรธ และมั่นในคุณของเมตตายิ่งๆ ขึ้น พระเดชพระคุณเจ้าคุณ ป.อ.ปยุตฺโต ท่านได้สอนใช้เป็นขั้นเป็นตอนๆ ที่น่าสนใจมาก กล่าวคือ...

ขั้นที่ 1 : นึกถึงผลเสียของความเป็นคนมักโกรธ คุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ และทางพุทธศาสนา อบรมสอนเราให้เป็นคนมีเมตตา ให้ระงับความโกรธด้วยความไม่โกรธ ถ้าทำไม่ได้ ถือว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ไม่สมเป็นลูกหรือเป็นลูกศิษย์ คนที่โกรธเขาก่อนก็นับว่าเป็นคนเลวอยู่แล้ว เป็นคนที่ไม่มีสติรู้เท่าทัน หลงโกรธตอบเขาอีก เท่ากับสร้างความเลวให้ยืดยาว เพิ่มความโกรธ เพิ่มความเลวหนักลงไปกว่าคนที่โกรธก่อนหน้านี้อีก เราอย่าเป็นคนที่เลวกว่าเลย การชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าชนะใดๆ คือ "การชนะใจของตัวเอง" ด้วยการไม่โกรธตอบ เรามีสติระงับจิตใจไว้เสีย ก็จะได้ชื่อว่าได้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย คือ ช่วยไว้ทั้งเขาและทั้งตัวเราเองด้วย พึงระลึกอย่างนี้ไว้เสมอจะหายโกรธได้ แต่ถ้าไม่หายให้ทำขั้นที่สองต่อไป


ขั้นที่ 2 : พิจารณาโทษของความโกรธ คนขี้โกรธจะเป็นคนผิวพรรณไม่งาม มีแต่ทุกข์ นั่งก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ โกรธมากๆ จนนอนไม่หลับ จนไม่รู้เท่าทันว่าความโกรธนั้นแหละคือภัยที่เกิดขึ้นข้างในตัว โกรธจนลืมตัว โกรธเข้าไปแล้วจนมองไม่เห็นธรรม เวลาถูกความโกรธครอบงำจะมีแต่ความมืดตื้อ คนโกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย แต่ภายหลังพอหายโกรธแล้วต้องเดือดร้อนใจเหมือนถูกไฟเผา ทำให้เกิดความเสียหาย ความพินาศ ไม่มีผลดีอะไรเลย สำแดงฤทธิ์เดชได้ทุกอย่าง ไม่มีกลัวอะไร ยางอายก็ไม่มี ถ้อยคำหยาบไม่มีคารวะ คนโกรธบางรายฆ่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดของตัวเองได้ ฆ่าพระอรหันต์ได้ ฆ่าคนสามัญได้ทั้งนั้น ฆ่าเขาแล้วเราก็เกิดทุกข์ภายหลังตามมาแน่นอน

ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีผลดีอะไรเลย จึงควรตัด "ฆ่า" ความโกรธทิ้งเสีย อย่าเก็บเอาไว้เลย ถ้าเราฆ่าได้จะเกิดสุข ไม่โศกเศร้าใดๆ เลย ขอให้พิจารณาตระหนักถึงโทษของความโกรธทำนองนี้ไว้ก็น่าจะบรรเทาโกรธได้ หากไม่ได้ก็เข้าวิธีที่สาม



ขั้นที่ 3 : นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ ธรรมดาคนเรานั้นว่าโดยทั่วไปแล้ว ย่อมมีข้อดีข้อเสียบ้างปะปนกันไป จะหาคนดีครบถ้วน 100% ไม่มีข้อบกพร่อง คงหาไม่ได้เลย หรือแทบจะไม่มี คนบางคนความประพฤติทางกายดี แต่งตัวดีเรียบร้อย แต่พูดไม่เพราะหรือปากไม่ดี แต่โมโห โกรธง่าย แต่ก็ไม่ได้ประพฤติเกะกะระรานทำร้ายใคร บางคนแสดงออกทางกายกระโดกกระเดกไม่น่าดู หรือการแสดงออกทางกายเหมือนไม่มีสัมมาคารวะ แต่พูดจาดี สุภาพ หรือไม่ก็อาจพูดจามีเหตุมีผล บางคนปากร้ายใจดี บางคนสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ค่อยดี แต่เขารักงาน ตั้งใจทำหน้าที่ที่เขารับผิดชอบได้ดี บางคนถึงแม้คราวนี้เขาทำอะไรไม่สมควรแก่เรา แต่ความดีเก่าๆ เขาก็มี เป็นต้น

ถ้ามีอะไรที่ขุ่นใจกับเขา ก็อย่าไปมองส่วนไม่ดีทั้งหมดอย่างเหมาะสม พึงมองหาส่วนที่ดีของเขาออกมาพิจารณาระลึกนึกถึงบ้าง ถ้าเขาไม่มีความดีอะไรเลยที่จะให้มองเอาจริงๆ ก็ควรคิด "สงสาร" ตั้งความกรุณาแก่เขาว่า น่า "สงสาร" น่าเมตตา น่าให้อภัย พึงระงับความโกรธเสีย เปลี่ยนเป็นสงสาร เห็นใจ และคิดช่วยเหลือแทน จิตใจก็จะสงบเยือกเย็นได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็ยังไม่หายโกรธ ลองวิธีขั้นที่สี่ต่อไป


ขั้นที่ 4 : พิจารณาว่า "ความโกรธ" คือ การสร้างทุกข์ให้ตัวเอง และเป็นการลงโทษตัวเองให้สมใจศัตรู ธรรมดาศัตรูย่อมปรารถนาร้าย อยากให้เกิดความเสื่อม ความพินาศวอดวายแก่กันและกัน คนโกรธจะสร้างความพินาศเสื่อมให้แก่ตัวเองหลายอย่างโดยที่ศัตรูไม่ต้องทำอะไรให้ลำบากก็ได้สมใจของเขา เช่น ศัตรูปรารถนาว่าขอให้มันเสื่อมยศ ขอให้มันตายไปตกนรก ศัตรูที่ฉลาดจะมีวิธีแกล้งยั่วยุให้เราที่เป็นฝ่ายตรงข้าม เผลอสติโกรธตอบเพลี่ยงพล้ำได้

เมื่อเรารู้เท่าทันเช่นนี้ ก็ไม่ควรทำร้ายตัวเองด้วยความโกรธให้ศัตรูได้สมใจเราโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ถ้าเราสามารถครอง "สติ" ได้ ถึงกระทบอารมณ์ที่น่าโกรธก็ไม่โกรธ จิตใจหนักแน่นไม่หวั่นไหว สีหน้าผ่องใส ทำงานตามปกติ ต้องฝึกสติสมาธิบ่อยๆ จนเกิดเป็นปกติของชีวิตให้ได้ อยู่ที่คิดไม่ดีต่อเรานั่นแหละจะกลับเป็นทุกข์ ส่วนตัวเราเองก็จะไม่เสียหายอะไร ประโยชน์ที่เราพึงได้ก็จะได้ตามที่ประสงค์ทุกประการ

นั่นคือ "พึงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ" นั่นเอง หากพิจารณาอย่างนี้แล้วไม่สำเร็จก็ลองขั้นที่ห้า



ขั้นที่ 5 : พิจารณาตามที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน คือ พึงพิจารณาว่า ทั้งตัวเราและตัวเขาต่างมีกรรมเป็นของๆ ตน ทำกรรมอะไรไว้ก็จะได้รับผลของกรรมนั้นๆ เริ่มด้วยพิจารณาตนเองว่า เราโกรธแล้วไม่ว่าจะทำอะไร การกระทำของเรานั้นเกิดจากโทสะซึ่งเป็นอกุศล กรรมของเราย่อมเป็นกรรมชั่ว ก่อให้เกิดผลร้าย มีแต่ความเสียหาย ไม่เป็นประโยชน์ และ "เรา" ก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นต่อไปฉันใด "เขา" ก็เช่นกัน ถ้าเป็นอย่างเรา มีแต่โทสะ "เขา" จะได้รับผลของกรรมนั้นๆ ฉันนั้น หากพิจารณาทำการระลึกรู้สึกตัวแล้วยังระงับไม่ได้ ก็เข้าขั้นที่หก

ขั้นที่ 6 : พิจารณาพระจริยวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านกว่าจะตรัสรู้ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายมาตลอดเวลายาวนานหนักหนา ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยยอมเสียสละแม้แต่พระชนม์ชีพของพระองค์เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้ง เบียดเบียน ด้วยวิธีการต่างๆ ก็ไม่ทรงเคืองแค้น ทรงเอาดีเข้าตอบ ก็ไม่ทรงมีจิตประทุษร้าย บางครั้งพระองค์ยังช่วยเหลือเขา แทนที่เขาจะเห็นคุณ เขากลับทำร้ายพระองค์ แม้กระนั้นก็ไม่ทรงถือโกรธ ทรงทำดีต่อเขาต่อไป

พุทธจริยาที่ว่านี้เป็นสิ่งมนุษย์ทั่วไปทำยาก แต่ก็เป็นแบบอย่างที่ดีที่พวกเรานำมาระลึกตักเตือนสอนใจตนเอง เมื่อเราประสบเหตุการณ์รุนแรง ดูพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบของความอดทนต่อสู้ ท้ายสุดพระองค์ท่านก็ชนะมารในท้ายที่สุด ด้วยตัวเราต้องฝึกฝนอยู่เป็นนิจบ่อยๆ จนชินก็อาจจะทำได้ ถึงขั้นนี้แล้วความโกรธก็ยังไม่ระงับ พึงลองขั้นที่เจ็ด



ขั้นที่ 7 : พิจารณาความเคยที่เกี่ยวข้องในสังสารวัฏ มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า ในสังสาระ คือการเวียนว่ายตายเกิด ที่กำเนิดจุดเริ่มต้นมิได้นี้ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดาเคยเป็นบิดากัน มิใช่หาได้ง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมีเหตุโกรธเนื่องจาก "ใคร" พึงพิจารณาว่า "ท่าน" ผู้นี้บางทีจะเคยเป็นมารดาของเรา ท่านผู้นี้เคยเป็น "บิดา" ของเรา ถึงแม้ไม่ใช่ก็อาจจะเป็นพี่ๆ น้องๆ เป็นญาติมิตรกัน เคยได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา การที่จะทำใจร้ายหรือเคืองแค้นกับบุคคลเช่นนั้น ไม่เป็นการสมควร น่าจะหายโกรธได้ แต่ถ้ายังไม่ระงับโกรธได้ก็เข้าขั้นที่แปด

ขั้นที่ 8 : พิจารณาอานิสงส์ของ "เมตตา" ธรรมที่ตรงข้ามกับความโกรธคือ "เมตตา" ความโกรธที่ผลร้ายมากมายฉันใด เมตตาก็มีคุณก่อให้เกิดผลดีมากฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรจะระงับความโกรธเสีย แล้วตั้งจิตเมตตาขึ้นมาแทน ให้เมตตานั้นแหละช่วยกำจัดและป้องกันความโกรธไปในตัว พระพุทธเจ้าตรัสแสดงอานิสงส์ของเมตตาไว้ 10 ประการ คือ หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษาไฟพิษ และมีศาสตราไม่กล้ำกราย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้รวดเร็ว สีหน้าผ่องใส ตายไปก็มีสติ ไม่หลงฟั่นเฟือนเมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก ถ้าจิตใจเมตตายังไม่เข้มแข็งพอ เอาชนะความโกรธไม่ได้ เพราะสั่งสมนิสัยมักโกรธไว้ยาวนาน จน "กิเลส" ตัวนี้แน่นหนา ก็ให้ลองสองวิธีสุดท้ายจนครบบันได 10 ขั้น



ขั้นที่ 9: พิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ ขั้นที่ 10: ปฏิบัติทาน คือ การให้หรือการแบ่งปันสิ่งของ

การให้หรือการแบ่งปันนี้ เป็นวิธีแก้ความโกรธที่ได้ผลชะงัด สามารถระงับเวรที่ผูกพันกันมายาวนานให้สงบลงได้ ทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตร เป็นเมตตากรุณาที่แสดงออกในการกระทำ ท่านกล่าวว่า อานุภาพยิ่งใหญ่ของ "ทาน" คือการให้นั้นว่า

"การให้" ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงสำเร็จได้...ผู้ให้ก็เบิกบาน ฝ่ายผู้ได้ก็น้อมลงมาพบด้วย "ปิยวาจา" เมื่อความโกรธหาย ความรักใคร่ก็เข้ามาแทน ความเป็น "ศัตรู" ก็กลับกลายเป็นมิตร ไฟพยาบาทก็กลายเป็นน้ำทิพย์แห่งเมตตา ความแผดเผารุ่มร้อนก็กลายเป็นความสุข สดชื่น เบิกบานในที่สุด


 ans1 ans1 ans1 ans1 ans1

บันไดทอง 10 ขั้นที่ว่ามานี้ ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับก็ได้ อะไรได้ผลชะงัดรวดเร็ว ถูกต้อง ตรงเป้า เป็นสำคัญ ก็ตัดสินใจเลือกมาใช้ทันที แต่หากยังไม่ได้ผลอีก ผู้เขียนคาถาบันไดสวรรค์ "4 ช่าง" สุดท้าย คือ ช่าง...ช่างเถอะ...ช่างมัน ถ้ายังไม่หยุดอีกก็ช่าง...มัน เป็นขั้นสุดท้าย แล้วทำใจให้สบายๆ รับรองว่าได้ผลดีชะงัดนะครับ


ที่มา : มติชนรายวัน 12 พ.ย.2557
คอลัมน์ นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร : โกรธ โดย นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1415789327
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ