มณฑารพ ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์
“มณฑารพ” หรือ “มณฑา” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Talauma candollei Bl.” อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับพวกจำปา จำปี และยี่หุบ เป็นไม้พุ่มสูงราว 3-10 เมตร เปลือกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดใหญ่ รูปรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา มักเป็นคลื่นหรือเป็นลอน ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ หรือส่วนยอดของลำต้น มีสีเหลืองนวล
มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน 3 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างหนา แข็ง ดอกมีกลิ่นหอมและส่งกลิ่นไปไกล โดยเฉพาะในตอนเช้าตรู่ จะส่งกลิ่นหอมแรงมาก และออกดอกตลอดปี ส่วนผลรูปรี ออกเป็นกลุ่ม และเนื่องจากมณฑามีดอกสวยและกลิ่นหอมจึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ดอกไม้ทิพย์แห่งเมืองสวรรค์ที่ชื่อ “มณฑารพ” หรือ “มณฑา” นั้น ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปราย ลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า ก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต
ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ” (การถวายดอกไม้ก็ดี แต่การปฏิบัติบูชานั้นดีที่สุด)
ในเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ทุกหนแห่งในเมืองกุสินาราเต็มไปด้วยดอกมณฑารพ “...สมัยนั้น เมืองกุสินาราเดียรดาษไปด้วยดอกมณฑารพโดยถ่องแถวประมาณแค่เข่า จนตลอดที่ต่อแห่งเรือน บ่อของโสโครกและกองหยากเยื่อ ครั้งนั้นพวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมมาลัยและของหอม ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์...”
หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะเถระซึ่งอยู่ที่เมืองปาวา ได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองกุสินาราเป็นเวลาหลายวันแล้ว จึงตั้งใจจะไปเฝ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์บริวาร 500 รูป ขณะที่กำลังเดินทางไปเมืองกุสินาราอยู่นั้น ได้หยุดพักหลบแสงแดดอยู่ใต้ร่มไม้ข้างทาง ได้เห็นนักบวชนอกศาสนาคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองกุสินารา ถือ “ดอกมณฑารพ” ที่ผูกติดกับกิ่งไม้ต่างร่ม เดินสวนทางมา
พระมหากัสสปะซึ่งเวลานั้นยังไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็นึกสังหรณ์ใจ เพราะดอกมณฑารพเป็นดอกไม้ทิพย์ที่ไม่มีในโลกมนุษย์ และจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันจาตุรงคสันนิบาต และวันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นต้น ซึ่งเทพเทวดาจะบันดาลให้ดอกมณฑารพตกลงมาจากเทวโลก พระมหากัสสปะจึงได้สอบถามข่าวคราวของพระพุทธองค์จากนักบวชนอกศาสนาผู้นั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานมา 7 วันแล้ว และดอกมณฑารพนี้ก็ได้เก็บมาจากบริเวณที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานนั่นเอง เมื่อได้ยินดังนั้นพระมหากัสสปะจึงรีบเร่งนำพระภิกษุสงฆ์ออกเดินทางไปยังเมืองกุสินารา
นอกจากนี้ มณฑารพยังเป็นดอกไม้ของนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดีที่มีนามว่า กิริณีเทวี ......................................................
จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 78 พ.ค. 50 โดย เรณุกา
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 พฤษภาคม 2550 14:50 น.
กระทู้เกี่ยวเนื่องกัน
• วันอัฏฐมีบูชา : วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า •
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=42337