เวลานี้ในโลกนี้มีพระอรหันต์หรือไม่
ข้อความจากนิตยสาร "ศุภมิตร"
ฉบับที่ ๕๒๔ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๓
ในข้อ "หลักธรรมะสำหรับนักศึกษา" พุทธทาส
โพสโดย สัจจธรรมภิกขุ
มีปัญหาต่อไปนี้ เวลานี้ในโลกนี้มีพระอรหันต์หรือไม่ ? ข้อนี้ตอบด้วย พระพุทธภาษิต ในทีฆนิกายมหาวรรค พระไตรปิฎกบาลี เล่ม ๑๐ หน้า ๑๗๖
(ถ้าอาตมากล่าวถึงคำว่าพระไตรปิฎกแล้ว ขอให้ถือว่าเป็นฉบับบาลี สยามรัฐ ปกเหลืองมีช้างแดงที่สัน)
มีอยู่ว่า "ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จักอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหัตน์" ที่เป็นคำตรัสใกล้ ๆ นิพพานอยู่หยก ๆ ในวันนั้นเอง สเจ เม ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยุํ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จักพึงอยู่โดยชอบไซร้; อสุญฺโญโลโก อรนฺหเตหิ อสฺส โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์, ถ้าท่านมีข้อสงสัยหรือถูก
ถามว่าเดี๋ยวนี้มีพระอรหันต์หรือไม่ท่านอย่าตอบออกไปโดยส่วนเดียว ว่ามีหรือไม่มี จะเป็นความผิดพลาดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ว่าภิกษุเป็นอยู่โดยชอบ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์.
ปัญหาก็เหลืออยู่ว่า อย่างไรเรียกว่าอยู่โดยชอบ ? ฟังดูแล้วมันง่ายเกินไป อยู่โดยชอบนี้ ที่จริงมันก็มีความหมายพิเศษของมัน อยู่โดยชอบคือว่าอยู่โดยวิธีที่กิเลสจะไม่ได้กินอาหาร หรืออยู่โดยวิธีที่กิเลสจะไม่ถูกปรุงขึ้นมานั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีอะไรอีกนอกจากว่าอยู่ด้วยจิตที่ว่างตลอดไป คือจิตที่มองเห็นโลกทั้งหมดโดยความเป็นของว่าง และจิตไม่จับฉวยสิ่งใด โดยความเป็นตัวตนหรือของตน จะพูด จะคิด จะทำ จะขวานขวาย จะใช้ จะสอยอะไรก็ตาม ไม่มีความรู้สึกยึดมั่นสิ่งใดว่าเป็นของตนแต่ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ ทำไปด้วยปัญญา ทำไปด้วยความรู้เท่าถึงการณ์เป็นอยู่อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ คือเป็นอยู่ในลักษณะที่กิเลสไม่มีทางจะเกิด, กิเลสไม่มีทางที่จะได้อาหารหรือถ้าจะกล่าวระบุชื่อ อย่างเช่นอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์แปดอย่างนี้ ก็ได้เหมือนกัน เรียกว่าเป็นอยู่ชอบเพราะ
สิ่งที่เรียกกว่าสัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์ที่ ๑ ของอริยมรรคนั้นหมายถึงความรู้ความ
เข้าใจความเห็นแจ้งที่ถูกต้องว่าไม่มีอะไรที่ควรจะยึดถือ ฉะนั้นจึงทำให้การใฝ่ฝันหรือการอะไรต่าง ๆเป็นไปในลักษณะที่ไม่ยึดถือทั้งนั้น เป็นอยู่ชอบอย่างนี้ กิเลสผ่ายผอมลงไปเองและหมดสิ้นไป คือไม่มีทางที่จะเกิด ไม่มีความเคยชินในการที่จะเกิดอีก. สิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนอนเนื่องในสันดานนั้นเป็นเพียงความเคยชินเท่านั้น แต่คนไม่รู้คิดว่ากิเลสเป็นตน กลายเป็นสัตตทิฏฐิไปเลย ว่ากิเลสเป็นตัวเป็นตนนอนเนื่องอยู่ในสันดานนี้เป็นพวกสัสตทิฏฐิ.
พวกที่มีความรู้ความเข้าใจตามหลักของพระพุทธเจ้าจะถือว่าสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวเป็นตนไปไม่ได้ มันมีเหตุผล มันเกิดตามเหตุตามปัจจัย แต่ทีนี้ความที่เกิดจนเคยชินยิ่งกว่าชิน จึงดูเป็นของประจำคล้าย ๆ กับมีประจำอยู่ในสันดาน ที่ทำให้เข้าใจว่ามันนอนรออยู่ในสันดานตลอดเวลาฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่า สิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนั้นเป็นเพียงความเคยชิน ชินอย่างยิ่ง ชินเหลือเกิน จึงได้ใช้คำว่าอนุสัย.
ปัญหาต่อไปว่าการเป็น พระอรหันต์นั้นยากหรือง่าย ? นี่คนแทนทั้งหมด ตอบว่ายากเหลือแสน ไม่มีใครกล้าคิดกล้าพูดว่าง่าย นี้ขอให้ถือหลักอย่างเดียวกันอีกว่าอย่าตอบอะไรลงไปโดยส่วยเดียว ผู้ใดตอบอะไรลงไปโดยส่วยเดียว เช่นตอบว่ามีหรือไม่มีตอบว่าง่ายหรือยากลงไปโดยส่วยเดียวอย่างนี้ไม่ถูก ไม่ใช่ผู้เดินตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีหลักแห่งเหตุปัจจัย ถ้าทำถูกหลักแห่งเหตุปัจจัยมันก็ง่าย ถ้าทำผิดหลักแห่งเหตุปัจจัยมันก็ยากเหลือแสนจริงเหมือนกัน.
นี่ก็เพราะความที่คนเราเคยชินแต่เรื่องของกิเลสมันจึงปรากฏเป็นของยาก นี้ต้องนึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า อยู่โดยชอบเท่านั้นโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ อยู่โดยชอบนี้ไม่ยากไม่เหลือวิสัย อยู่โดยอุบายที่ปิดล้อมกิเกสไว้ไม่ให้ได้อาหารเหมืผอนจะฆ่าเสือสักตัวหนึ่ง เราก็ล้อมไว้ไม่ให้กินอาหารมันก็ตายลง ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปเผชิญกับเสือให้เสือมันกัดมันข่วน อย่างนี้จึงเรียกว่าไม่เหลือวิสัยนี่แหละอุบายวิธี และอยู่ในลักษณะที่ทำได้ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นพระอรหันต์นั้น จะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย แล้วแต่จะทำถูกหรือผิดวิธี แต่ถ้าถือตามพระพุทธภาษิตแล้วก็ไม่ยาก ขอให้อยู่โดยชอบ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์.
ปัญหามีว่า เราจะรู้จักพระอรหันต์ได้หรือไม่ ? นี่ชอบถามกันมาก เช่นบางคนสงสัยว่าเราอาจจะไม่รู้จักพระอรหันต์ที่กำลังมีอยู่ในโลกเวลานี้ก็มี ถ้าถามอย่างนี้คือถามว่าเราจะรู้จักพระอรหันต์ได้หรือไม่ ถ้าเดินมา.
ตอบว่าถ้าถึงบทที่จะไม่รู้ หรือถึงคราวไม่รู้แล้วแม้แต่พระอรหันต์ด้วยกันเอง ก็ไม่รู้จักกันว่าเป็นพระอรหันต์ มีคำกล่าวในจุลวรรคอุทานเล่มที่ ๒๕ หน้า ๑๙๘ ว่าพระสารีบุตรไม่รู้ว่าพระลกุณฏกะภัททิยะ นี้เป็นพระอรหันต์มัวพูดธรรมเพื่อความเป็รพระอรหันต์แก่พระลกุณฏกะภัททิยะเรื่อย นี่แสดงว่าพระสารีบุตรก็ไม่รู้ว่า พระลกุณฏกะภัททิยะเป็นพระอรหันต์ ทีนี้ถ้าถึงคราวที่จะรู้แล้ว แม้พรหมในพรหมโลกที่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ก็ยังรู้ว่าใครตายอย่างนิพพาน ใครตายอย่างไม่นิพพานเป็นผู้พยากรณ์ได้ นี้มีข้อความในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เล่ม ๒๓ หน้า ๑๗๒ ฉะนั้นเมื่อถามว่าจะรู้จักพระอรหันต์ได้หรือไม่ ? จำเป็นต้องตอบว่ารู้ได้ก็ได้ ไม่อาจจะรู้ได้ก็ได้ มันแล้วแต่กรณี แม้เป็นพระอรหันต์ด้วยกันเองก็ยังไม่รู้ก็มี ดังนั้นไม่ควรจะตอบโดยส่วนเดียว ว่ารู้ได้หรือรู้ไม่ได้ เหมือนพวกอาจารย์ตามศาลาวัดที่ชอบพูดว่ารู้ได้บ้าง รู้ไม่ได้บ้าง.
ปัญหาต่อไป จะหาพบพระอรหันต์ได้ที่ไหน ? ก็ต้องหาพบพระอรหันต์ที่ความสิ้นไปแห่งกิเลส อย่ามัวไปหาตามป่า ตามวัด ตามถ้ำ ตามเขา ตามบ้าน ตามเมือง ตามสำนักวิปัสสนา จงไปค้นหาพระอรหันต์ได้ที่ความสิ้นไปแห่งกิเลส จงพิสูจน์หรือว่าค้นหรือทดลองอะไรก็ตามให้รู้ถึงความสิ้นไปแห่งกิเลส ถ้าไม่มีทางก็ไม่ต้องค้นหารู้ของตัวก็แล้วกัน ถ้ามีความสิ้นไปแห่งกิเลสก็เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นหลักกลาง ๆ ที่สุด ที่เราจะต้องถืออย่างนี้
พระอรหันต์เป็นฆราวาสนไม่ได้ใช่หรือไม่ ? นี้อย่าไปตอบโดยส่วนเดียวว่าได้หรือไม่ได้ จะต้องตอบว่าพระอรหันต์อยู่เหนือความเป็นฆราวาส และเหนือความเป็นบรรพชิต ฉะนั้น การที่พูดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ต้องรีบออกบวชภายใน ๗ วัน มิฉะนั้นจะตาย นี้มันเป็นคำพูดของคนอวดดีในชั้นหลัง ในอรรถกถา ในฎีกาในอะไรก็ตามใจ พระอรหันต์ต้องอยู่เหนือความเป็นฆราวาส และเหนือความเป็นบรรพชิตเสมอ ไม่มีใครจับพระอรหันต์ใส่ลงไปในความเป็นฆราวาสได้ และอยู่เหนือความเป็นบรรพชิตด้วย
ฉะนั้นอย่าไปพูดเรื่องพระอรหันต์อยู่บ้านเรือนได้หรือไม่ แม้จะจับให้อยู่แต่ในบ้านเรือน จับใส่ลงไปในบ้านเรือน มันก็ทำให้พระอรหันต์เป็นคนครองเรือนไม่ได้ ท่านอยู่เหนือความเป็นฆราวาส เหนือความเป็นบรรพชิตอย่างนี้
ปัญหามีว่า ทำไมผู้ฆ่าคนตาย จึงเป็นพระอรหันต์ ? นี้ตอบได้ง่ายนิดเดียว เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า "คน" นั่นแหละต้องฆ่าเสียก่อน แล้วจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าสิ่งที่เรียกว่า "คน" นั้นไม่ถูกฆ่าแล้ว ไม่มีทางเป็นพระอรหันต์ได้ คือ จะต้องฆ่าความรู้สึกว่าคน ว่าตัวว่าตนว่าเรา ว่าเขา ว่าสัตว์ ว่าบุคคล เหล่านี้เสียก่อน คือไม่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นสัตว์ เป็นคนเป็นตัวเป็นตนอีกต่อไป นี้เรียกว่า "ฆ่าคน" หรือฆ่าสิ่งที่เรียกว่าคนเสียได้ก็เป็นอรหันต์ทันที ฉะนั้น จึงกล่าวว่าต้องฆ่าคนเสียก่อนจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้. บางทีท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งยิ่งไปกว่านี้ว่าต้องฆ่าบิดามารดาเสียก่อนจึงจะเป็นพระอรหันต์ บิดามารดาก็คือกิเลสที่ปรุงแต่งโดยเฉพาะ เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือกรรมอะไรเหล่านี้ ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นเหมือนบิดามารดาคือมันคลอดเราออกมา คลอดความรู้สึกว่า "คน" ออกมา
ฉะนั้นต้องฆ่ามันเสีย คือต้องฆ่าบิดามารดาของคนนั้นเสียแล้วก็เป็นพระอรหันต์ได้ แม้ในเรื่องพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์เพราะฆ่าคนเสียได้ เมื่อได้ฟังคำว่า "หยุด" ของพระพุทธเจ้าแล้วท่านก็ฟังถูกว่า หยุดนั้นหมายความว่าอะไร คนเขลา ๆ อธิบายว่าพระพุทธเจ้าหยุดนั้น คือหยุดฆ่าคน หยุดวิ่งฆ่าคนเหมือนองคุลิมาล เรียกว่าหยุดส่วนองคุลิมาลยังเที่ยวฆ่าคนอยู่เรียกว่าไม่หยุดอย่างนี้ไม่ถูก.
ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าฉันหยุดคือว่าฉันหยุดการเป็นคนเสียแล้ว ทีนี้พระองคุลิมาลก็ฟังถูก ว่าหยุดนั้นคือหยุดการเป็นคน แล้วท่านก็หยุดความเป็นคน นี้ก็เรียกว่าพระองคุลิมาลฆ่าคนเสียได้ ฆ่าความรู้สึกว่าคนนี้เสียได้ พระองคุลิมาลก็เป็นพระอรหันต์เนื่องด้วยการฆ่าคนอย่างนี้เป็นต้น เพียงแต่คำว่า "หยุด" เท่านี้ก็ฟังกันไม่ถูกเสียแล้ว ฟังผิด แล้วอธิบายกันผิด พูดกันผิด สอนกันผิดมันก็ค้านกันเองอยู่ตัว เพียงแต่หยุดไม่วิ่งไล่ฆ่าคนหรือหยุดเดินนี้จะเป็นพระอรหันต์ได้นี้ มันน่าหัวเราะ ฉะนั้นต้องหยุดความเป็นคน ฆ่าอุปทานว่าบุคคลตัวตนเราเขาเสียได้ จึงจะเป็นพระอรหันต์นี้เรียกว่าฆ่า "คน" แล้วก็เป็นพระอรหันต์.
เราจะดูสิ่งที่เป็นปัญหาปลีกย่อย เพื่อจะช่วยให้เข้าใจปัญหาเหล่านี้ดีขึ้น เช่นจะตั้งปัญหาถามว่า โลกนี้เต็มไปด้วยอะไร ?
บางคนมองไปในลักษณะหนึ่งก็ตอบว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เช่นว่าทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป อย่างนี้ก็เรียกว่าถูกเหมือนกัน แต่มันยังฟังยาก มันควรจะตอบอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ว่าง โลกนี้ว่างไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนหรือของตน
ฉะนั้นอย่าไปดีใจที่เพียวแต่พูดว่าโลกนี้มีแต่ทุกข์เท่านั้น ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ทุกข์ นี่ว่าเป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้ว มันถูกเหมือนกันแต่ว่ามันมีทางกำกวมได้ เผลอเข้าใจก็ผิดได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่ไปยึดถือแล้ว ก็ไม่เป็นทุกข์
ขอให้ฟังให้ดีว่า โลกก็ตาม อะไรก็ตาม ที่รวม ๆ กันแล้ว เรียกว่าโลกนี้มันไม่ได้เป็นทุกข์ หรือเป็นทุกข์ ต่อเมื่อไปยึดถือเข้าจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือแล้วไม่มีความทุกข์ ฉะนั้น จึงไม่อาจจะพูดว่าชีวิตเป็นทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ พูดว่าชีวิตเป็นทุกข์นี้พูดตื้น ๆ ง่าย ๆ ขอไปที ชีวิตที่ถูกยึดถือจึงจะเป็นทุกข์ ชีวิตที่ไม่ถูกยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นชีวิตนี้มีแก่นสาร ไม่ใช่ไม่มีแก่นสาร ชอบพูดกันว่าชีวิตนี้ไม่มีแก่นสารนั้นก็เพราะไม่รู้จักทำให้มีแก่นสาร ถ้ารู้จักใช้ชีวิตนี้เป็นเครื่องช่วยให้รู้เรื่องโลก เรื่องเหตุให้เกิดโลก เรื่องความดับสนิทของของโลก วิธีปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของโลกแล้ว ชีวิตนี้ก็มีแก่นสารคือเป็นที่ตั้งแห่งการศึกษาเป็นที่ตั้งแห่งการประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งได้รับผลแห่งการปฏิบัติ และเป็นที่ตั้งแห่งการรู้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ คือ นิพพาน ฉะนั้นถือว่าชีวิตนี้มีแก่นสาร แต่ไม่มีแก่นสารอะไรสำหรับคนโง่เขลาซึ่งไม่รู้จักใช้มัน
นี่โลกนี้เต็มไปด้วยอะไรมองในแง่หนึ่งก็ว่า เต็มไปด้วยความทุกข์หรือเป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่มองในแง่หนึ่งที่สูงขึ้นไป ก็ว่าไม่ได้เป็นอะไรเลย อย่างจะพูดว่ามีแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป ๆ นี้ก็เหมือนกันต่อเมื่อไปยึดถือเข้ามันจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป ของมันเอง อยู่เรื่อยไป
ฉะนั้นเราต้องถือว่า ผู้ที่หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ของพระอรหันต์ไม่กล่าวว่าเป็นทุกข์ ไม่มีใครกล่าว
ว่าเป็นทุกข์มีแต่การไหลเวียนเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย ในส่วนของเบญจขันธ์ นี่โลกนี้เต็มไปด้วยอะไร เต็มไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์*************************************
ที่มา http://www.societybit.com/bbs/viewthread.php?tid=163