« เมื่อ: กันยายน 09, 2015, 06:35:36 pm »
0
บวงสรวงบูรณะพระนอน 600 ปีแตกร้าว 13 ก.ย.นี้
พระเทพประสิทธิมนต์ เผย บวงสรวงบูรณะพระนอนกรุงเก่าอายุ 600 ปีแตกร้าว 13 กันยายน นี้ พร้อมชวนชาวพุทธร่วมสมทบทุนฟื้นองค์พระให้กลับมาสมบูรณ์ คาดใช้งบประมาณดำเนินการทั้งวัด 8 ล้านบาท ขณะที่กรมศิลปากร ชี้ บูรณะกำหนดเขตโบราณสถานชัดเจนป้องกันการบุกรุกได้
วันนี้(9 ก.ย.)พระเทพประสิทธิมนต์ (โกศล มหาวีโร) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม เปิดเผยว่า จากการที่วัดศรีสุดาราม และสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ได้ทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน วัดพระนอน ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่แตกร้าวเสียหายทั้งองค์ โดยสันนิษฐานว่า อยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น อายุราว 600 ปีนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมศิลปากร ได้เข้าไปสำรวจบริเวณวัดพระนอน เพื่อวางแผนดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระนอนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการการบูรณะโบราณสถานแล้ว โดยเบื้องต้น จะมีพิธีบวงสรวงเพื่อเริ่มต้นการบูรณะในวันที่ 13 ก.ย. 2558 เวลา 09.39 น. ซึ่งขณะนี้ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คลองสวนพลู ได้ปรับถนนทางเข้าวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้งบประมาณบูรณะทั้งวัดประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถร่วมสมทบทุนการบูรณะในครั้งนี้ได้ที่วัดศรีสุดารามและที่วัดพระนอน สอบถามโทร.09-0678-6500 ถึง 19 
ด้าน นายประทีป เพ็งตะโก ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับแนวทางการบูรณะวัดพระนอน จะมีขั้นตอนดำเนินการใน 3 ส่วน คือ
1.ดำเนินการบูรณะองค์พระ โดยพบว่า องค์พระนอนได้พังทลายลง ส่วนพระอุระ(อก) ชำรุดมาก เนื่องจากในสมัยก่อนมีการลักลอบเข้ามาขุดหาสมบัติทำให้องค์พระทลายลง โดยกรมศิลปากร จะรวบรวมชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นำมาประกอบ เพื่อให้องค์พระกลับมามีสภาพสมบูรณ์
2.การอนุรักษ์ซากอาคารต่างๆภายในวัดโดยเสริมความมั่งคง เช่น เจดีย์ประธาน กำแพงแก้ว วิหารพระนอน เป็นต้น และ
3.การสร้างอาคารคลุมองค์พระนอน เพื่อป้องกันปัญหาการพังทลาย รวมทั้งยืดอายุโบราณสถานให้ยืนยาวยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา จะต้องดำเนินการขออนุญาตจากคณะกรรมการอนุรักษ์โบราณสาน กรมศิลปากรอีกครั้ง
“วัดนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากอยู่ใกล้กับวัดใหญ่ชัยมงคล อยู่ระหว่างโบราณสถานวัดชุมพล และโบราณสถานวัดประโดก ซึ่งการปรับสภาพแวดล้อมวัดพระนอน จะเป็นการกำหนดเขตโบราณสถานให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกโบราณสถาน ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญจะเป็นศาสนสถานที่ให้พุทธศาสนิกชนได้มาสักการะ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีของประเทศอีกแห่งหนึ่ง”ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าว ขอบคุณภาาพข่าวจาก :
http://www.dailynews.co.th/education/346947