ผู้คนพยายามที่จะไล่จับฟองสบู่ที่ศิลปินข้างถนนทำขึ้น
ณ บริเวณน้ำพุใกล้กับศาลากลางกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558
ยูเอ็นเผยรายชื่อ "ประเทศที่ดีที่สุดในโลก" แชมป์เก่านอร์เวย์อันดับ 1 ไทยตก 4 อันดับ
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานดัชนีการพัฒนามนุษย์ (เอชดีไอ) ครอบคลุม 188 ประเทศทั่วโลก ประเทศแชมป์เก่าอย่างนอร์เวย์ยังคงครองอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกติดต่อเป็นปีที่ 12
เอชดีไอเป็นการวัดความสำเร็จโดยเฉลี่ยของแต่ละประเทศในการพัฒนามนุษย์ผ่านการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี,ความรู้และมาตรฐานคุณภาพชีวิตโดยนอร์เวย์ได้รับคะแนนรวมสูงสุด 0.944 จากค่าอายุขัยเฉลี่ยที่ 81.6 ปีพร้อมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นไอ) ต่อหัวที่ 64,992 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,339,550 บาท)
รายงานดัชนีการพัฒนามนุษย์ประจำปี 2558 เปิดเผยรายชื่อประเทศที่ติด 5 อันดับแรก นอกจากนอร์เวย์แล้ว คือ ออสเตรเลีย (0.935), สวิตเซอร์แลนด์ (0.930), เดนมาร์ก (0.923), และเนเธอร์แลนด์ (0.922) ขณะที่ประเทศที่มีค่าเอชดีไอต่ำสุด 5 ประเทศ ได้แก่ บุรุนดี (0.400), ชาด (0.392), เอริเทรีย (0.391), สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (0.350), และไนเจอร์ (0.348)แม่ลูกชาวไทยยืนรอรถไฟฟ้าบีทีเอส
ณ สถานีหมอชิต กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555
สำหรับประเทศไทยมีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ที่ 0.726 จากค่าอายุขัยเฉลี่ยที่ 74.4 ปี ประกอบกับระยะเวลาการศึกษาที่คาดหวัง 13.5 ปี ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาเฉลี่ย 7.3 ปี และมีค่าจีเอ็นไอต่อหัวที่ 13,323 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 480,300 บาท) จัดเป็นอันดับ 93 ซึ่งร่วงลงจากเดิม 4 อันดับและถูกจัดให้อยู่ในระดับการพัฒนามนุษย์สูง (High Human Development)
ส่วนประเทศที่มีตกระดับมากที่สุดในปี 2558 นี้คือประเทศลิเบียที่ร่วงลง 39 อันดับ ลงมาอยู่อันดับที่ 94 ร่วม และประเทศซีเรียที่อยู่อันดับ 134 จากเดิมอันดับ 118

รายงานสรุปรวมค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 0.711 ระยะเวลาการศึกษาที่คาดหวัง 12.2 ปี ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาเฉลี่ย 7.9 ปี และมีค่าจีเอ็นไอต่อหัวที่ 14,301 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 515,690 บาท)
ทั้งนี้ ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ดัชนี้การพัฒนามนุษย์เริ่มใช้ในปี 2533 โดยมุ่งเน้นว่าการขยายทางเลือกของมนุษย์ควรเป็นเกณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับการประเมินผลการพัฒนา โดยเอชดีไอสามารถใช้ในการตั้งคำถามต่อประเทศที่มีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวเท่ากันแต่กลับมีผลลัพธ์การพัฒนามนุษย์ที่แตกต่างกันได้
ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1450341112