วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย สถานที่ค้นพบก้อนศิลา “ขอมดำดิน” ตามที่เชื่อกันในตำนานพระร่วง
"ขอมดำดิน" ที่สุโขทัยที่วัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัยเก่า พบก้อนศิลาสีเขียวเรียกกันว่า ขอมดำดิน เพราะชาวบ้านเอาไปผูกกับนิทานเรื่องพระร่วงมีวาจาสิทธิ์ บอกให้ขอมที่ดำดินขึ้นมาแข็งเป็นหินไปได้ ทุกวันนี้รูปขอมดำดินถูกต่อยเอาไปใช้เป็นยารักษาโรคตามความเชื่อ จนเหลือเพียงก้อนหินขนาดเล็ก เข้าใจว่าเดิมอาจเป็นประติมากรรมหินที่สร้างขึ้นโดยอิทธิพลศิลปะเขมร และคงถูกเคลื่อนย้ายไปมาในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยจนสุดท้ายนำมาไว้ยังวัดมหาธาตุ และกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไป
เรื่องขอมดำดินนี้ยังถูกนำมาสร้างเป็นฉากอยู่ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในภายหลังอีกด้วย

หลักฐานโบราณคดีบ่งให้เห็นชัดเจนว่าบริเวณเมืองสุโขทัยเคยมีอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรมาก่อนตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 คือ ปราสาทเขาปู่จ่า อ.คีรีมาศ,ศาลตาผาแดง และวัดพระพายหลวงที่เมืองสุโขทัย ทั้งนี้ข้อมูลจากจารึกยังช่วยเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของ ขอม ที่ปรากฏขึ้นที่สุโขทัยด้วย
จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม) ออกชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง ที่ปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และถูกพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวมาช่วยกันรบชิงเมืองไว้ได้ในอำนาจแทน ขอมสบาดโขลญลำพง นี้คงเป็นชื่อของบุคคลที่มีอำนาจเกี่ยวพันโดยตรงกับ ขอม-เขมร ที่อยู่ที่เมืองลพบุรีทางภาคกลางและเมืองพระนครหลวงในกัมพูชาด้วย ในฐานะผู้เก็บรวบรวมทรัพยากรจากดินแดนแคว้นสุโขทัยโบราณลงไปยังศูนย์กลางที่เมืองพระนครหลวง
กลุ่มของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวคือกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไท-ลาว เป็นหลัก การบันทึกถึงขอมสบาดโขลญลำพงในจารึกสุโขทัย จึงน่าจะเน้นความเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะบางประการแตกต่างไปจากตน ดังนั้น ขอม ในที่นี้จึงหมายถึง กลุ่มคนที่เกี่ยวพันกับเขมรโบราณ ใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมร อันมีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับทางลพบุรีและกัมพูชา
ขอมดำดิน เป็นก้อนหินสีเขียว ที่เหลืออยู่เล็กน้อยเพราะชาวบ้านต่อยเอาไปฝนเข้าตัวยารักษาโรคตามความเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
จารึกหลักที่ ๒ เป็นการเท้าความเหตุการณ์ในยุคต้นสุโขทัย ซึ่งยังปรากฏความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนดั้งเดิม(ขอม = มอญ-เขมร) กับกลุ่มคนที่เข้ามาใหม่(ไท-ลาว) กลุ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อส่งทรัพยากรจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน-ล่าง ลงไปสู่เมืองพระนครหลวงกัมพูชา ในขณะที่กลุ่มหลังค่อยๆเคลื่อนตัวจากลุ่มแม่น้ำโขงลงมายังที่ราบภาคกลางของไทย
เรื่องพระร่วงส่วยน้ำที่คุมกองเกวียนชะลอมบรรทุกน้ำไปส่งที่เมืองนครธม จนพระปทุมสุริยวงศ์ทรงระแวงว่า พระร่วงเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ อาจตั้งตัวเป็นใหญ่ในภายหลัง จึงส่งพระยาเดโช “ขอมดำดิน” ไปยังเมืองสุโขทัยเพื่อกำจัดเสีย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อวาจาสิทธิ์ของพระร่วงนี้ ก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ตกหลงเหลือมาในรูปของนิทานตำนาน เปรียบได้กับภาพของการส่งทรัพยากรจากดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปยังเมืองพระนครหลวงโดยผู้ปกครองดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับลพบุรี-กัมพูชา และเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ปกครองระดับท้องถิ่น จนลุกลามเป็นสงครามขึ้น และท้ายที่สุด ผู้ได้รับอำนาจมาแทนที่คือบรรพบุรุษของราชวงศ์สุโขทัย-พระร่วงนั่นเอง
ประติมากรรมรูปบุคคล ศิลปะเขมร พบที่วัดพระพายหลวงซึ่งเป็นหลักฐานของศิลปะเขมรก่อน พ.ศ.1800 ในเมืองสุโขทัย
สุวรรณภูมิสโมสร/ศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2555
“ขอมดำดิน” ที่สุโขทัย โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร
http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2012/12/07122555/