พุทธศาสนาไทย ไม่เพื่อมนุษยชาติ “หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไทย กำลังต้องการการตีความใหม่ที่กินความกว้างขวางกว่าการตีความที่ผ่านมาในอดีต และอาจเลยหลักการที่เป็นข้อจำกัดของพุทธสายเถรวาทด้วย” (วิกฤตใหม่ของพุทธไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 8-14 กรกฎาคม 2559 หน้า 30)
หลักธรรมคำสอน อ.นิธิ บอกว่าก็คือ “พระธรรม ซึ่งไม่ใช่คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่มีใครรู้ว่า เมื่อ 2,500 ปีก่อนนั้น ท่านสอนอะไร” นักวิชาการที่เชี่ยวชาญบาลี, สันสกฤต, ทิเบต, จีน ฯลฯ ก็ยังเถียงกันไม่เลิก
คำสอนของพระศาสดาย่อมถูกตีความให้เหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นศาสนาก็ย่อมสูญสภาพความน่าเชื่อถือลง ไม่ได้หมายความว่า การตีความนั้นต้องบิดเบือนคำสอน แต่อย่างน้อยก็ต้องเปลี่ยนหรือขยายหรือทุเลาจุดเน้นของคำสอนในยุคโบราณเมื่อองค์ศาสดายังมีชีวิตอยู่

พระธรรมคำสอนยังมีคุณค่าในปัจจุบันนี้จริงหรือไม่.? อ. นิธิ มีวิจิกิจฉา(ลังเล, ไม่แน่ใจ, สงสัย, เคลือบแคลง) ไม่เฉพาะแต่พระธรรมคำสอนซึ่งถูกอธิบายกันในเมืองไทยปัจจุบันเท่านั้น แต่รวมถึงที่อธิบายกันทั่วโลกด้วย ซึ่งโดยแก่นความแล้ว ก็ไม่สู้จะต่างกันนัก
“พระพุทธศาสนาไทยกลายเป็นคำสอนแก่ปัจเจก มุ่งที่จะให้เกิดผลแก่ปัจเจก ไม่มีหรือแทบไม่เกี่ยวกับมิติทางสังคมหรือมนุษยชาติแต่อย่างไร” อ.นิธิ บอกอีก
“แต่ในโลกที่ใครๆ ก็มองเห็นว่า เงื่อนไขทาง ‘สังคม’ เข้ามากำหนดชีวิตของตนอย่างมาก และในหลายกรณีอาจจะมากกว่าที่ปัจเจกจะสามารถเอาหลักธรรมคำสอนใดๆ มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางสังคมนั้นๆ ได้ อย่างเก่งก็แค่ใช้หลักธรรมคำสอนให้ตัวเองอยู่เหนือเงื่อนไขทางสังคมเท่านั้น”
เช่น เชื่อว่าตนเป็น “คนดี” เพื่อยกตนอยู่เหนือคนอื่นผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนรายวัน
เผยแพร่ : 18 ก.ค. 59
http://www.matichon.co.th/news/216166