
ขอบพระคุณอย่างสูงครับสำหรับข้อคิดดีๆ สำหรับพระคุณหลวงปู่ท่านมรณะภาพนานแล้วครับ ที่ผมมั่นใจในองค์ท่านเพราะข้อวัตรปฏิบัติท่านบริบูรณ์บริสุทธ์คนทั้งหลายต่างยอมรับท่านรวมทั้งเกจิอีกมากมายในสมัยนั้นต่างยอมรับว่าท่านเป็นพระอริยะบุคคลา
หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี

คัดลอกจาก
http://www.konmeungbua.com/saha/budda.htmlคำปรารภ
ในวโรกาสนี้ศิษย์ธรรมจะได้ร่วมกันเป็นพลังความสามัคคีประกอบพิธีแสดงความกตัญญุตา แด่พระคุณ หลวงปู่บุดดา ถาวโร เนื่องมรณภาพครบรอบ 9 ปี ในอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2546 ณ สำนักปฏิบัติธรรมหลวงปู่บุดดา ถาวโร อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และประกอบพิธีแสดงความกตัญญุตาแด่ พระคุณครูบาเจ้าหลวงปู่ชัยยะวงศาพัฒนา (พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์) เนื่องมรณภาพครบรอบ 3 ปี ในวันวิสาขะบูชา วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ณ วัดพระพุทธบางห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
ดังนั้นเพื่อเป็นการเทิดทูน-บูชาพระคุณแด่หลวงปู่ทั้งสององค์ ผู้เรียบเรียงมีความยินดีและ ชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้มอบความสุขทางจิตใจให้แก่คณะศิษย์ธรรม ด้วยการแจกจ่ายหนังสือ “เทิดพระคุณสองหลวงปู่” เพื่อจุดประสงค์รวมสามประการดังนี้ :-
๑. จะดำเนินการรวบรวมประวัติ ข้อวัตรปฏิบัติ การอธิบายและเทศนาธรรมะ และข้อคิด คำสอนที่เผยแพร่ไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์ มารวมอยู่ในหนังสือเล่มเดียว
๒. ให้เป็นศูนย์กลางพลังความสามัคคีของคณะศิษย์ธรรม จักได้ระลึกว่าภายในระยะเวลาสองเดือนก่อนวันขึ้นปีใหม่ จักได้ร่วมพลังกันพิจารณาจัดทำหนังสือ “เทิดพระคุณสองหลวงปู่” ให้มีความสมบูรณ์ – สาระ และมีความละเอียดยิ่งขึ้น
๓. ร่วมกันแสดงความสามัคคีที่จะร่วมกันจรรโลงเจตนารมย์ของพระคุณสองหลวงปู่ในเรื่องศาสนสถานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง – บูรณะปฏิสังข์ยังไม่แล้วเสร็จ
ตลอดถึงพิธีการที่สำคัญ ที่น่าธำรงรักษาไว้ อาทิเช่น พิธีสืบชะตาหลวง พิธีตานใช้ – ตานแทน (พิธีชำระหนี้สงฆ์ ขออโหสิเจ้ากรรม นายเวร) แบบล้านนาเป็นต้น
สำหรับหนังสือ “เทิดพระคุณสองหลวงปู่” เล่มนี้ คงจะได้สำเร็จแจกจ่ายเป็นธรรมทานได้ ถ้าหากว่าไม่ได้รับความเมตตา และร่วมมือช่วยเหลือจากผู้มีพระคุณ ดังต่อไปนี้
๑. คุณปิยมงคล โชติกเสถียร เมตตาช่วยถอดเทปธรรมและจัดพิมพ์ต้นฉบับบางตอนมาให้พร้อมส่งพิมพ์ได้ทันที
๒. พระครูโสภณจารุวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข จ.สิงห์บุรี เมตตาให้ผู้เรียบเรียงและคณะศึกษา – ค้นคว้าเถระประวัติของพระคุณหลวงปู่บุดดาและมอบหนังสือเพื่ออ้างอิงและอนุญาตให้เผยแพร่เป็นธรรมทานได้
๓. คุณธนกร สุริยนต์ เมตตาช่วยเหลือในการศึกษา – ค้นคว้า และเหนื่อยยากในการพิสูจน์ตัวอักษรก่อนการจัดพิมพ์เนิ่นนานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ และได้ประสานการออกแบบปกและหารูปของพระคุณสองหลวงปู่ด้วยความเต็มใจและเต็มความสามารถ จึงทำให้หนังสือมีความสวยงาม สมบูรณ์ น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
ผู้เรียบเรียงจึงใคร่ขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง และขออนุโมทนาสาธุการจากใจจริง มาด้วยความนับถือเป็นอย่างสูงสำหรับความดีของหนังสือเล่มนี้ ขอน้อมถวายบูชาพระคุณของหลวงปู่ ทั้งสององค์ ซึ่งให้ความเมตตาไว้แก่คณะศิษย์ ตลอดจนปวงชนชาวไทยเป็นจำนวนมากมายจนหาประมาณไม่ได้ คงไม่สามารถจะทดแทนได้หมดสิ้น จึงขอตั้งความกตัญญุตาจิต อธิษฐานอ้างอิงเอากุศลธรรม อันพระคุณหลวงปู่ทั้งสองได้บำเพ็ญมาด้วยความเด็ดเดี่ยวอย่างดีเลิศนั้น จงเป็นพลวปัจจัย ส่งผลดลบันดาลให้พระคุณหลวงปู่ทั้งสอง ซึ่งพระคุณหลวงปู่บุดดา ถาวโร คงไม่เกิด ไม่ตายนั้นโปรดเมตตาส่งรัศมี – แสงแห่งบารมีธรรมให้คณะศิษย์ธรรมทั้งหลายผู้โชคดีได้รับหรือได้อ่านหนังสือเล่มนี้ให้ได้เพิ่มพูนพลังบารมีธรรมและมีความใคร่ที่จักได้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนนี้ให้แข็งขันและได้เข้าสู่กระแสแห่งพระธรรมได้ปฏิบัติชอบและตรงโดยเร็วด้วย และสำหรับเมตตาธรรมของพระคุณครูบาเจ้าหลวงปู่ชัยวงศ์ ฯ โปรดประทานพลังให้คณะศิษย์ธรรมทุกรูปทุกผู้ทุกนาม เกิดเดชะพละบารมีที่จะช่วยกันจรรโลงตามเจตนารมณ์ของหลวงปู่ฯ จนทุกสิ่งที่ยังค้าง
รอเพื่อนธรรมผู้ศรัทธาได้ร่วมมือร่วมใจกันสมทบจัดสร้างให้สำเร็จโดยเร็ว ภายในระยะเวลาอันสมควรด้วย
สำหรับความผิดพลาดหากมี ผู้เรียบเรียงขอน้อมรับไว้ทั้งสิ้น และสำหรับเพื่อนธรรมที่ได้รับและได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ตลอดถึงผู้มีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์สร้างหนังสือถวายพระคุณหลวงปู่ จงมีส่วนได้ปัญญาเห็นธรรม นำให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์โดยเร็วพลันทั่วกันทุกท่านเทอญ
จากผู้เรียบเรียง
นาวาเอก ไชยวัฒน์ สุพัฒนานนท์
ประธานกรรมการมูลนิธิพระชัยยะวงศาพัฒนา
๑๐ มกราคม ๒๕๔๖
เถระประวัติหลวงปู่บุดดา ถาวโร
วัดกลางชูศรีเจริญสุข
ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
ชาติกำเนิด – ภูมิลำเนา
เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ตำบลพุคา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ท่านเคยชี้ตำบลเกิดของท่านขณะขึ้นรถไฟผ่าน อยู่เหนือสถานีโคกกระเทียมเล็กน้อย เป็นหมู่บ้านเล็กห่างจากทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกราว ๒ กม. ท่านบอกว่า หมู่บ้านหนองเต่า คงเป็นชื่อหมู่บ้านเดิม บิดาของท่านชื่อ น้อย มงคลทอง มารดาของท่านชื่อ อึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ยังเหลือน้องชายคนเล็กชื่อ เหลือ มงคลทอง นอกนั้นถึง แก่กรรมไปหมดแล้ว
อุปสมบท
วันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๖๕ ที่วัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มีพระครูธรรมขันธสุนทร (ม.ร.ว. เอี่ยม บ้านเดิมท่านอยู่ กทม.) เป็นอุปัชฌาย์ และมีคณะสงฆ์ ๒๕ รูป เป็นพระอันดับ ซึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโร นับถือว่าเป็นอาจารย์ท่าน
ประวัติทั่ว ๆ ไป
ชีวิตตอนเยาว์ ชีวิตตอนต้นของหลวงปู่ก็เหมือนกับชีวิตเด็กลูกชาวนาบ้านนอกทั่วไป ในสมัยนั้นที่ไม่มีโรงเรียนใกล้เคียง จึงไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือ มีแต่ทุนเดิมที่ได้ฝึกฝนอบรมมาดีในอดีตชาติ จึงเป็นผู้ระลึกชาติได้แต่เด็ก ท่าได้ไปพบเห็นสิ่งที่ปรากฏตามภาพนิมิต ของอดีตได้ถูกต้อง และได้มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนท่านต้องขุดกระดูกของท่านที่ถูกฝังไว้ในอดีต
การเห็นภาพในอดีตนั้นท่านเห็นได้หลายภพ ในกรณีหลวงปู่บุดดา อดีตชาติท่านเกิดเป็นชายทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตัวหนังสือที่ใช้เป็นตัวหนังสือแบบเดียวกับสมัยพ่อขุนรามคำแหง มิใช่ตัวหนังสือเดียวกับเมื่อหลวงปู่เป็นเด็ก ท่านจึงอ่านหนังสือไม่ออก แต่พอเป็นทหารท่านได้เรียนหนังสือ ท่านก็สามารถเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งที่หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการรับราชการเป็นทหารเกณฑ์นั้นหนักมาก ทั้งนี้น่าจะเนื่องมากจากสาเหตุสองประการ ที่ทำให้สามารถรู้หนังสือได้ดีเพราะท่านรู้หลักของหนังสือเดิมดีอยู่แล้ว พอเทียบตัวถูกท่านก็อ่านได้ และสมาธิจิตของท่านเข้าอันดับญาณจึงสามารถทำอะไรได้ง่าย
อดีตสัญญา
ถ้าสอบถามถึงอดีตชาติแล้ว ท่านมักปรารภเสมอว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้ท่านรู้สึกเบื่อหน่าย เช่น เล่าว่านับถอยหลังปัจจุบันไป ๗ ชาติ ท่านได้เกิดเป็นบุรุษทุกชาติ และเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่มากรวมทั้งไม่มีครอบครัวเลย ตลอด ๗ ชาติ ที่ผ่านมาส่วนมากท่านเกิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมากกว่าฝั่งขวา มีชาตินี้เท่านั้นที่ท่านมีอายุยืน พี่ชายของท่านในอดีตชาติทั้งรักและตามใจทุกอย่าง ตั้งแต่เด็กจะไปไหน ก็พาท่านไปด้วย ได้สัญญากับท่านไว้ว่าจะไม่ทิ้งเป็นอันขาด ท่านจึงเกิดเป็นบุตรในชาติปัจจุบัน
ฉะนั้นเมื่อบิดาของท่านตีท่านในสมัยเด็ก ท่านเล่าว่า ท่านวิ่งออกไปนอกบ้านแล้วตะโกนว่า “พ่อโกหก ๆ ๆๆ” ไม่ยอมหยุดจนมารดาของหลวงปู่เห็นผิดสังเกต จึงไปปลอบถามว่า “พ่อโกหกเรื่องอะไร” ท่านจึงได้เล่าเรื่องอดีตสัญญาให้มารดาของท่านฟังว่า “พ่อไม่รักษาคำพูด” ผู้ใดสามารถเฉลยอดีตสัญญาแบบนี้ให้เป็นธรรมและยอมรับกันได้ทั่วไปบ้าง ?
เรื่องอายหมา
หลวงปู่เล่าว่า ตั้งแต่เด็กท่านมักจะบอกกับมารดาของท่านเสมอว่า โตขึ้นท่านจะไม่มีครอบครัว เพราะท่านละอายใจดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้
อดีตชาติหนึ่งในหนหลังเมื่อท่านเป็นหนุ่มเกิดพอใจหญิงสาวชาวบ้านใกล้เคียงกันผู้หนึ่งจึงไปอู้สาวผู้นั้น แทนที่ฝ่ายหญิงจะพูดดีกับลำเลิกอดีตชาติว่า
“หลวงปู่ที่เป็นชายหนุ่มในชาตินั้นเป็นผู้ทำให้เขาถูกทุบตี และถูกจับผูกทรมานอดอาหารจนท้องกิ่วตาย พอมาชาตินี้มารักเขาทำไม”
หลวงปู่ในชาตินั้นก็มองเห็นอดีตตนเองได้ว่าตอนนั้นท่านเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ประเทศลาว ขณะนอนป่วยอยู่มีหมาตัวเมียขึ้นมาลักลอบอาหารที่เด็กเก็บไว้ ท่านจึงร้องบอกเด็ก พวกเด็กจึงไล่ตีหมา และพวกเด็กไม่เพียงแต่ไล่ตี คงได้ไล่จับหมาตัวนั้นไปผูกกับรั้ว และกว่าจะถูกจับได้คงต้องไกลกว่าที่สมภารนอนเจ็บประการหนึ่ง และทุกคนก็คงสนใจแต่ความป่วย และการตายของสมภาร ในเวลาต่อมาจึงลืมนึกถึงการจับหมาตัวนั้นไปผูกไว้จนต้องอดถึงตายไป
เมื่อชายหนุ่มระลึกอดีตชาติได้ก็เกิดความสลดและละอายใจว่า “นี่เรากำลังจะเอาหมามาเป็นเมียแล้วหรือ ? ” และเป็นการประทับฝังอยู่ในจิตใจต่อมาทุกชาติ การป่วยและการตายในคราวนั้น หมาตายภายหลัง จึงจองเวรและติดตามถูก
ส่วนการที่เด็กไปตีหมาที่ถูกจับไว้จนหมาตาย ต้องมิใช่คำสั่งของสมภาร หมาจึงจองเวรได้เพียงหมาถูกตีเพราะเสียงร้องบอกของสมภารเป็นเหตุ หมาจึงทำให้สมภารในอดีตชาติเดือดร้อนเพราะลำเลิกของหญิงนั้นตามอดีตเหตุที่สมภารได้ทำไว้เท่านั้น เรื่องความผูกพันหรือการจองเวรในอดีตชาติทำนองนี้หลวงปู่ปรารภเสมอว่าเมื่อนึกถึงเรื่องราวในอดีตแล้ว ท่านมีความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดมาตั้งแต่เด็ก
รับราชการทหาร ๒๔๕๘ ท.บ.๓ ล.๑๐
หลวงปู่รับราชการทหาร ๒ ปี โดยมีหลักฐานการเป็นทหารปรากฏบนท้องแขนขวาดังนี้ ๒๔๕๘ ท.บ.๓ ล.๑๐ การเกณฑ์ทหารสมัยนั้น เมื่อผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถึงแม้ถูกเกณฑ์แล้วจับ ใบดำได้ไม่ต้องรับราชการทหารในปีนั้นแล้วก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทุกปีจนกว่าจะอายุ ๓๐ ปี หลวงปู่เป็นทหารในกองทัพ ๓ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี
ในสมัยนั้น เรื่องการเป็นทหารเกณฑ์ของหลวงปู่นั้น ท่านถูกเกณฑ์ทุกปีและในปีที่มีการคัดเลือกทหารอาสา ไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรปในสงครามครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงปู่ก็เคยเล่าว่า ท่านได้อาสาสมัครกับเขาเหมือนกันแต่ท่านกินเหล้าไม่เป็น เขาจึงไม่รับท่าน เนื่องจากผู้บังคับบัญชาบอกท่านว่า ในทวีปยุโรปอากาศหนาวจัดต้องดื่มเหล้า เพื่อช่วยให้คลายหนาวท่านจึงไม่ได้ไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป
พรรษาแรก ความมุ่งมั่นอดทนของพระใหม่
เมื่อหลวงปู่อุปสมบทแล้ว ท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดเนินขาว จังหวัดลพบุรี ปฏิบัติอุปัชฌาย์ตามแบบแผนของภิกษุสมัยนั้น ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางปริยัติหรือปฏิบัติ คงทำวัตรท่องหนังสือสวดมนต์และปาฏิโมกข์ แต่ท่านอ้างเสมอว่าอุปัชฌาย์ทุกองค์ท่านสอน ปัญจกรรมฐานให้แล้วในวันอุปสมบท (นั่นก็คือ อุปัชฌาย์ท่านสอนให้ว่า เกศา – ผม โลมา – ขน นักขา – เล็บ ทันตา – ฟัน และ ตโจ – หนัง และทวนกลับ) ว่าให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ในร่างกายของตนและคนอื่น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นบ่อเกิดของทุกข์ทั้งกายและจิตใจ เป็นของหาที่ยึดถือเป็นตัวตนไม่ได้มานานแล้วทุกคน
และในพรรษาที่หลวงปู่บวชนั้น ได้มีการสร้างศาลามุงสังกะสีขึ้น ซึ่งในการมุงหลังคาคราวนั้นมีเรื่องเล่าความมหัศจรรย์ทางอำนาจจิตของหลวงปู่ตั้งแต่สมัยบวชเดือนแรกทีเดียว เพราะในการมุงหลังคาและตามปกติในฤดูร้อน แดดก็ร้อนจัดในตอนบ่ายอยู่แล้วและเมื่อเครื่องมุงเป็นสังกะสีด้วยก็ยิ่งทวีความร้อนมากยิ่งขึ้น พอตกตอนบ่ายทั้งพระและชาวบ้านต่างทนความร้อนไม่ไหวต้องลงมาพักกันหมด คงเหลือแต่หลวงปู่ ซึ่งเป็นพระบวชใหม่ยังไม่ครบเดือน มุงหลังคาอยู่ข้างบนองค์เดียวจนสำเร็จ
เมื่อรับกฐินแล้วแต่พรรษาแรก หลวงปู่ท่านออกจาริกแสวงหาสถานที่วิเวกเจริญสมรธรรมตามอัธยาศัยองค์เดียวโดยไม่มีกลดมีมุ้งแบบอุทิศชีวิต และเลือดเนื้อเป็นทานอยู่นานจนเลือดแดงฉานติดจีวรและบินไปไม่ไหว
พรรษาที่ ๒ ธุดงค์เดี่ยวเมื่อกลับจากธุดงค์พอใกล้เข้าพรรษาท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดผดุงธรรม จังหวัดลพบุรี พอออกพรรษาท่านก็ธุดงค์ไปองค์เดียวอีกเหตุอัศจรรย์ผจญวัวป่า
หลวงปู่ท่านเดินธุดงค์ไปหนองคายโดยออกจากจังหวัดลพบุรีไปทางจังหวัดเพชรบูรณ์ ผจญเข้ากับวัวป่าฝูงหนึ่ง มันคงแปลกใจว่า เอ๊ะ ? อะไรนะ เป็นอันตรายกับ
พวกเขาหรือเปล่า หัวหน้าฝูงนั้นเข้ามาดม ๆ ดู แล้วก็ร้องมอ ๆ คล้ายกับจะบอกพรรคพวกว่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีอันตราย เข้ามาได้แล้ว ตัวอื่นก็เข้ามาดมจนครบทุกตัวแล้วก็เลยไป
คุณธรรมของท่านนั้นแม้แต่เดรัจฉานก็ส่งภาษาใจให้ผู้รู้เรื่องกันได้ หลวงปู่พูดเสมอว่าภาษาธรรมนั้น ก็คือภาษาใจ อยู่ที่ไหนก็รู้กันได้ มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรม
พบซากศพตนเองในอดีต
คราวนี้ท่านได้สอบดูนิมิตสมัยเด็ก ๆ ของท่านว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่นอกนครเวียงจันทร์ไม่ไกลนัก ซึ่งเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เขาก็นำเอาศพในอดีตชาติของท่านไปฝังไว้ และไม่ได้เผา ในนิมิตนั้นท่านเห็นกะโหลกศีรษะขาวโพลน โผล่ดินขึ้นมาตรงตอพุดซา ท่านจึงไปสอบดูตามนิมิต และได้พบกะโหลกศีรษะมนุษย์ ในภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน แต่กะโหลกที่พบจริงไม่ขาวเท่าในนิมิต และตอพุดซาไม่มีแล้วท่านจึงได้เผากระดูกนั้นด้วยตนเอง
พรรษาที่ 3 จาระพระไตรปิฎก
ขณะที่ไปสอบดูตามนิมิตก็ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ท่านได้จำพรรษา ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และในขณะที่ข้ามไปเวียงจันทร์ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และวัดพระแก้วที่เวียงจันทร์ ท่านระลึกถึงอดีตชาติเมื่อเห็นตู้พระไตรปิฎกและจารด้วยตนเอง แต่สมัยเป็นสามเณรต่อมาเป็นภิกษุและเป็นสมภารเจ้าวัดในที่สุด ได้จารพระไตรปิฎก บรรจุไว้จนเต็ม 3 ตู้ ท่านว่าได้เป็นสมภารเจ้าวัดในฝั่งลาว 3 สมัย ตายตั้งแต่ยังไม่พ้นวัยกลางคน ที่ท่านไปพบตู้ที่สร้างไว้นั้นไม่มีพระไตรปิฎกแล้ว
ขณะที่ท่านพักอยู่ ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คราวหนึ่งท่านต้องไปกิจนิมนต์ร่วมกับภิกษุหลายรูปด้วยกัน ไปทางเรือตามลำน้ำโขงปรากฏว่าเรือเกิดจมลง พระรูปอื่นต่างว่ายน้ำหนีจากเรือหมด เหลือแต่ท่านองค์เดียวในเรือ และน้ำท่วมเกือบถึงคอแล้วพอดีชาวบ้านเอาเรือไปรับนิมนต์ท่านขึ้นเรือแล้วเรือก็จมหายไป
พบบิดาในอดีตชาติ
พอออกพรรษารับกฐินเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ออกเดินทาง และในระหว่างทางนั้น ท่านได้พบกับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร ซึ่งออกจาริกไปตามป่าเขาทำนองเดียวกับท่าน
หลวงพ่อสงฆ์ผ่านพรรษา ๔ แก่กว่าหลวงปู่บุดดาหนึ่งพรรษา แต่อายุหลวงพ่อสงฆ์แก่กว่าท่านหลายปี เพราะท่านบวชภายหลังมีครอบครัวแล้ว และเมื่อท่านพบหลวงพ่อสงฆ์ ท่านก็ระลึกได้ว่า เคยเป็นบิดาของท่านในอดีตชาติ ท่านก็เรียกคุณพ่อสงฆ์ตั้งแต่แรกพบจนถึงที่สุดแห่งวาระของท่านเอง
ถ้ำนี้มีคุณ
ท่านทั้งสองได้ร่วมจาริกแสวงหาที่วิเวกอันเหมาะแก่การเจริญภาวนาเรื่อยมา จนมาพบถ้ำคูคา ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นถ้ำกว้างมีปล่องทะลุกลางเขาลูกย่อม ๆ อยู่ในดงยาง เป็นชัยภูมิร่มรื่น มีหนองน้ำใหญ่อยู่ห่างจากหน้าถ้ำไปทิศตะวันออกของทางรถไฟสายเหนือห่างประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่ระหว่างสถานีดงมะกุและสถานีหัวหวายห่างจากหมู่บ้านทั้ง 2 ตำบล ข้างละประมาณ ๒ กม. เศษ ปากถ้ำอยู่ทางตีนเขา ภายในถ้ำลมถ่ายเทได้ดี
ท่านได้อาศัยภายในถ้ำนี้และแยกกันอยู่คนละฟาก ได้อาหารบิณฑบาตจากหมู่บ้านดังกล่าว ถ้ำภายในเขาภูคานี้เป็นที่สงบและวิเวกปากถ้ำเรียบเป็นดิน เชิงเขาลาดขึ้นพอบรรจบถึงเขาก็เป็นปากถ้ำพอดี กว้างราว ๖-๗ เมตร สูง 3 เมตรเศษ เป็นดินราบขึ้นไปจนถึงยอดมีแท่นราบตรงกลางปล่องตรงกับยอดเขาพอดี ปล่องถ้ำเหมือนรูปงอบใบใหญ่สูงกว่าปากถ้ำเล็กน้อย ขอบล่างลาดลงโดยรอบเป็นช่องและชอกมากบ้าง น้อยบ้าง
สถานที่ท่านใช้พักผ่อนและจำวัด ปรากฏว่าตรงที่ท่านใช้ภาวนานั้น มีปล่องลมหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่จำวัดก็หลบเข้าไปในช่องไม่ถูกลมเลย ก่อนที่ท่านจะมาอยู่ในถ้ำนี้ มีแคร่ร้างแสดงว่ามีบุคคลอื่นมาใช้สถานที่นี้ก่อนแล้ว
สถานที่ท่านใช้เป็นที่เดินจงกรมในตอนบ่ายและพักผ่อนสนทนาธรรมกันตอนเย็นนั้นเป็นบริเวณสันเขาตอนใต้ เป็นทางลาดขึ้นปากถ้ำได้สะดวก ใช้ด้านตะวันออกเป็นที่ลาดเดินจงกรม มีต้นไม้และสันเขาช่วยกำบังแดดในตอนบ่าย
ตะขาบเจ้ากรรม
ตอนอยู่ถ้ำภูคานี้แม้จะสนทนาก็ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ของตน คราวหนึ่งเสียงของหลวงปู่บุดดาเงียบหายไป หลวงพ่อสงฆ์ผิดสังเกตจึงเดินไปดูก็เห็นหลวงปู่บุดดานั่งหลับตา มีตะขาบตัวใหญ่มากขึ้นไปขดอยู่กลางศีรษะของท่าน หลวงพ่อสงฆ์ต้องเอาผ้าอาบของท่านหย่อนลงให้ตะขาบไต่ขึ้นผ้าแล้วจึงเอาไปปล่อยนอกถ้ำ
หลวงปู่บุดดาท่านเล่าว่า มันไต่ขึ้นภายในสบงผ่านเอวแล้วผ่านหลังท่านขึ้นไป ท่านจึงต้องกลั้นลมหายใจ ปิดหู ปิดตา จมูก ปากหมด เจ้าตะขาบจึงเข้าไม่ได้ เมื่อหลวงพ่อสงฆ์เอาไปปล่อยปรากฏว่ามันกัดตัวเองจนขาดเป็นท่อน ๆ กองอยู่ที่ปล่อยนั่นเอง
พรรษาที่ ๔ ตัดกิเลสบรรลุธรรม
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พอใกล้เข้าพรรษา ท่านทั้งสองได้ไปจำพรรษา ณ วัดป่าหนองคู จ.นครสวรรค์ และพอออกพรรษาก็กลับมาร่วมปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ โดยต่างเร่งความเพียรเจริญสมณธรรม อย่างเต็มที่เกือบจะไม่ได้พักผ่อน และในคืนวันหนึ่งเวลาประมาณระหว่าง ๒๐.๐๐ น. ถึง ๒๓.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาสนทนาธรรมของทั้งสองท่าน หลวงพ่อสงฆ์ได้ถามหลวงปู่บุดดาว่า
“...ยังถือวินัยอยู่หรือ”
หลวงปู่ตอบว่า “...ไม่ถือวินัยได้ไง ถ้าเราจะเดินผ่านต้นไม้-ของเขียวก็ต้องระวัง...มันจึงเป็นอุปาทานทำความเนิ่นนานต้องช้ามาถึง ๔ พรรษา”
หลวงพ่อสงฆ์ว่า “วินัยมันมีสัตว์-มีคนรึ”
หลวงปู่บุดดาว่า “มีตัวซี ถ้าไม่มีตัวจะถือวินัยได้ยังไง...วินัยก็ผู้ถือนั่นเอง ...เสขิยวัตร ๗๕ เป็นตัวไม่ได้หรอก ...เนื้อหนัง กระดูก ตับไต ไสพุง มันไม่ใช่ตัวถือวินัย...ตัวถือวินัยเป็นธรรมนี่”
....เถียงกันไป เถียงกันมาชั่วระยะหนึ่ง... พอปัญญา-บารมีเกิดขึ้นตกลงกันได้ว่า “เอ๊ะ ! ไม่มีจริง ๆ เน้อ ...ผู้ถือไม่มี มีแต่ระเบียบของธรรมเท่านั้น ไปถือมั่น-ยึดมั่นไม่ได้นี่”
พอหยุดความลง ทันใดนั้นเองหลวงพ่อสงฆ์เพ่งมองดูเห็นหลวงปู่บุดดา จู่ ๆ ก็นิ่งเงียบนัยน์ตาลืมค้างอยู่ ไม่กระพริบตา – เบิกตาโพลงอยู่อย่างนั้น – เนิ่นนานอยู่ประมาณสองชั่วโมงกว่าถึง กลับมาพูดได้-ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลวงปู่บุดดาได้ใช้ปัญญาตัดกิเลสได้แล้วในขณะที่นั่งลืมตา ซึ่งหลวงปู่บอกว่าถ้าเกิดปัญญาขึ้นในอิริยาบถทั้ง ๔ ซึ่งขณะนั้นถ้าลืมตาตัดก็ต้องลืมตาตัด ถ้านั่งตัดก็ต้องนั่งตัด ถ้ายืนตัด – เดินตัดหรือนอนตัดก็ต้องยืนตัด-เดินตัด หรือนอนตัด ขึ้นอยู่ว่าใครจะตัดกิเลสได้ขณะไหน... อย่างพระอานนท์ตัดได้ตอนเอนกายขณะกำลังจะนอนนั่นเอง...
สำหรับหลวงปู่บุดดา ขณะมีอายุได้ ๓๒ ปี-พรรษาที่ ๔ ซึ่งถ้ายังใช้กรรมไม่หมดก็ไม่ถึง โลกกุตระ แต่พอใช้หนี้กรรมหมดแล้วก็เป็นอโหสิกรรม ขณะนั่งลืมตาอยู่ก็บรรลุธรรมได้
หลวงปู่บุดดาบอกว่า “ขณะนั้นอวิชาดับหมด รู้สึกสว่างแจ้งขึ้นมาเอง ความไม่มีตัวตนเห็นได้ชัดเจนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัว เป็นปรมัตถธรรม ธรรมทุกอย่างเป็นธรรมชาติส่วนกลาง คงอยู่ในจิตของตนเอง กิเลสหลุดไปเอง แต่ชีวิตยังคงอยู่มีความเป็นปรกติทุกอย่าง ทั้งกายสังขาร-จิตสังขารก็หยุด รูปก็หยุดหมด ไม่มีสัตว์เกิดสัตว์ตาย กิเลสไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ขันธ์ของกิเลสก็ไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ...สุดชาติของอาสวะของสังโยชน์ ๑๐ อนุสัย ๗ ออกวันเดียวกันและเวลาเดียวกันนั่นแหละ...”
หลวงพ่อสงฆ์ท่านนั่งเฝ้าหลวงปู่บุดดาอยู่นานกว่าสามชั่วโมงแล้วจึงออก
“นิมนต์เถอะครับ...แน่นอนแล้ว”
พอรุ่งเช้าถึงเวลาออกบิณฑบาต หลวงพ่อสงฆ์บอกว่า
“โลกกุตระธรรมแล้วขอนิมนต์ให้หลวงปู่บุดดาเดินหน้า”
แต่หลวงปู่บุดดาว่า
“หน้าก็หน้าคุณธรรม แต่พรรษาอ่อนกว่าต้องเดินหลังซี !”
ตกลงหลวงปู่บุดดาคงเดินตามหลังหลวงพ่อสงฆ์เหมือนเดิม
ต่อมาอีกไม่กี่วันหลวงพ่อสงฆ์ ซึ่งเร่งปรารภความเพียรมาอย่างหนักก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ณ ถ้ำภูคาเช่นเดียวกัน ท่านไม่ถือทั้งนามและรูป เพราะการหลงนาม หลงรูป
มันก็หลงเกิด หลงตาย ไม่มีสิ้นสุด (ในช่วงบั้นปลายของชีวิตท่านได้มาพักจำพรรษาที่วัดอาวุธวิกสิตาธรรม เขตบางพลัด กทม. ตลอดมา จนถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙)
พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี
เมื่อหลวงปู่บุดดาและหลวงพ่อสงฆ์ได้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจธรรมแล้ว ต่างองค์ต่างก็แยกกันไปประกาศพระสัทธรรม ตามสำนักและหัวเมืองต่าง ๆ เป็นเวลามากกว่า ๔๐ ปี แต่เมื่อจวนเข้าพรรษาของทุกปี ท่านทั้งสองก็จะกลับมาจำพรรษาร่วมกัน ที่วัดบ้านป่าหนองคู
ครั้นออกพรรษาก็ต่างแยกทางกันไป ซึ่งบางครั้งก็จะมาอยู่ร่วมกัน ณ ถ้ำของเขาภูคาเป็นครั้งคราวจนล่วงย่างเข้าสู่วัยชราภาพประมาณเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ทั้งสองท่านพบกันก็ได้ปรารภถึงสถานที่ที่มีบุญคุณมากที่สุดคือ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่านทั้งสองได้อาศัยบำเพ็ญเพียรจนบรรลุถึงอริยสัจธรรม สมควรจะได้จัดสร้างพระพุทธปฏิมากรจำลองพระพุทธลักษณะมาจากพระเกศแก้วจุฬามณี ณ แดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ตกลงให้ขนาดบ่ากว้าง ๖ วา ๒ ศอก สูง ๙ วา สร้างแบบเครื่ององค์ประดิษฐาน ณ ยอดเขาภูคา เพื่อเป็นอนุสาวรย์ทัศนา นุตริยะปูชนียสถานของพระพุทธศาสนิกชนทั่วไปและเป็นอนุสรณ์ที่ทั้งสององค์ได้พำนักอาศัยบำเพ็ญบุญบารมี จนบรรลุถึงอริยสัจธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเองของโลก ดังนั้นท่านทั้งสองพร้อมคณะศิษย์ผู้ศรัทธาจึงได้เริ่มจัดสร้าง “พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี” ขึ้นประจำยอดภูเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จนเสร็จเรียบร้อยโดยใช้ช่วงเวลาสร้างไม่นาน (พระครูพลอย แม่ชีผวน พระเงิน เป็นผู้จัดดำเนินการหาทุนสร้างเป็นอนุสรณ์ให้กับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมเถระ – หลวงปู่บุดดา ถาวโร)
