ลำดับเหตุการณ์ในพระสูตร : ประชวรสู่ปรินิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์ประมาณ ๘๐ ปี เมื่อจำพรรษาสุดท้าย ณ กรุงเวสาวี พระวรกายของพระองค์ได้เสื่อมโทรมลงไปตามสังขารเช่นเดียวกับผู้สูงอายุวัยเดียวกับพระองค์ ทรงประชวรหนักในระหว่างพรรษานั้น ด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จนเกือบสิ้นพระชนม์ สาเหตุของการปวดนั้นมีสาเหตุจากการอุดตันบางส่วนของเส้นเลือดใหญ่ของลำไส้เล็กส่วนกลาง (superior mesenteric artery)
อาการนั้นทุเลาจนหายไป จนทำให้เหมือนปกติ อาการปวดท้องนี้กำเริบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเริ่มเสวยอาหารจานพิเศษ ชื่อสูกรมัททวะ ระหว่างที่เสวยอยู่นั้นน่าจะทรงรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติบางประการกับอาหารนี้ เพราะความสงสัยและความปรารถนาดีต่อผู้อื่นจึงทรงสั่งให้เจ้าภาพ คือนายจุนทะ กัมมาบุตร นำสูกรมัททะวะที่เหลือทั้งหมดไปฝังเสีย
@@@@@@
อาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงขึ้น หลังเสวยอาหารเสร็จ
ขณะเดียวกันนั้นลำไส้ของพระองค์ตายไปเพราะขาดโลหิต ยังผลให้เลือดจำนวนมากไหลซึมเข้าไปในลำไส้ ทำให้ตกเลือดสดๆ ออกมา โลหิตที่ออกมานั้นมากจนทำให้พระองค์เกิดอาการช็อก และหนาวสั่น เนื่องจากเชื้อโรคที่ค้างอยู่ในลำไส้เริ่มถูกดูดซึมเข้าสู่ช่องท้อง ทำให้เกิดการอักเสบของช่องท้อง และเชื้อโรคส่วนหนึ่งเริ่มซึมเข้ากระแสโลหิต
การช็อกทำให้ทรงกระหายน้ำมาก จนทำให้ต้องสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาเสวย แต่เนื่องจากพระอานนท์ไม่เห็นแหล่งน้ำสะอาดจึงปฏิเสธ จนต้องคะยั้นคะยออยู่หลายครั้ง การที่ไม่อาจเสด็จไปตักน้ำได้ด้วยพระองค์เองนั้น เพราะว่าโลหิตในพระวรกายนั้นไม่เพียงพอ ไม่อาจลุกนั่งได้เอง และทรงรู้สึกหนาวมากจึงสั่งให้ปูลานที่ประทับด้วยสังฆาฏิหนา ๔ ชั้น
@@@@
เรื่องปาฏิหาริย์ที่ปรากฏต่อจากความตอนนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ต่อเติมขึ้นภายหลัง หลังจากปาฏิหาริย์ตอนนี้แล้วพระสูตรไม่ได้ระบุว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างจนกระทั่งเสด็จลงสรงน้ำ และประทับลงระหว่างไม้สาละสองต้น หากพิจารณาด้วยสามัญสำนึก ความตอนนี้ทั้งหมดน่าจะเกี่ยวข้องกับตอนที่เป็นปาฏิหาริย์ทั้งหมด ในขณะที่ทรงประชวรหนักขนาดนี้คงไม่มีอุปัฏฐากใดที่จะนำพระองค์ไปนอนลงกลางแจ้งระหว่างที่ทรงหนาวจัด อ่อนเพลียและกระหายน้ำมาก ความเป็นจริงที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ทรงประคองพระองค์ไม่ไหว พระภิกษุผู้ติดตามต้องนำพระองค์ไปรักษาอาการประชวรซึ่งเกิดขึ้นแบบกระทันหัน โดยช่วยกันทำแคร่หามพระองค์ไปหากแพทย์ให้รักษาในเมืองที่ใกล้ที่สุด
แม้ว่าพระสูตรจะกล่าวถึงการปลงอายุสังขารล่วงหน้านั้นแล้วก็ตาม ข้อความในพระสูตรนี้ระบุชัดเจนว่า การป่วยภายหลังการเสวยสูกรมัททะวะนี้มิได้ทรงคาดคะเนมาก่อน การที่รับนิมนต์ไปฉันก็ดี ที่บ้านนายจุนทะก็ดี การตรัสบอกกับนายจุนทะว่าไม่ทรงเห็นผู้ใดที่สามารถย่อยอาหารนี้ได้นอกจากพระองค์เท่านั้น ยืนยันว่าไม่ได้ทรงคาดว่าจะปรินิพพานในวันนั้น
@@@@@@
สถานที่ปรินิพพานที่แท้จริง
ความในมหาปรินิพพานสูตรเล่าเรื่องปาฏิหาริย์มากมาย เมื่อทรงทอดพระองค์ลงระหว่างต้นสาละทั้งคู่ในป่าใกล้กรุงกุสินารา แต่สิ่งที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ไม่น่าจะเป็นบริเวณแท้จริงที่ปรินิพพาน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ
๑. เมื่อทรงประชวรหนักนั้น ภิกษุผู้ติดตามน่าจะขวนขวายพาพระองค์ไปหาแพทย์ที่อยู่ในเมืองมากกว่าที่จะพาไปประทับในป่า โดยเฉพาะเมื่อทรงมีอาการหนาวสั่น ปวดท้อง และกระหายน้ำมาก เนื่องจากสภาพความต้องการของร่างกายผู้ป่วย จะเป็นปัจจัยที่บังคับให้ผู้ใกล้ชิดทั้งหลายขวนขวาย ให้พระองค์ทรงพระชนม์ให้นานที่สุด การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมให้อบอุ่นเป็นความจำเป็นที่ต้องการในการดูแลผู้ป่วยที่หนาวจัด จึงน่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่ว่าสาวกทั้งหลายพาพระองค์เข้ารับการรักษาภายในที่มุงบังที่ให้ความอบอุ่น ซึ่งอาจมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด ผู้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้พระองค์สบายที่สุด ในสภาวะเช่นนี้ผู้ที่ดูแลน่าจะพยายามให้น้ำ (ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นน้ำสมุนไพรบางอย่าง) ให้พระองค์จิบทีละน้อยเพื่อประทังความกระหาย ในสภาพนี้พระองค์เองไม่น่าจะทรงดื่มน้ำได้ทีละมากๆ
๒. เมื่อพระอานนท์ทราบว่า พระพุทธองค์จะปรินิพพานแน่แล้วได้เกิดความเสียใจจนกระทั่งจะเป็นลมไม่อาจประคองตนไว้ได้ ต้องยืนเหนี่ยวกลอนประตูรูปหัวสิงห์อยู่ กลอนประตูนี้อยู่ในป่าตามลำพังไม่ได้แน่นอน นอกจากเสียว่าพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่ในห้องของอาคารที่อยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง
๓. หลังจากปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายมีมติที่จะเคลื่อนพระศพออกจากเมืองไปประตูทางทิศใต้ แต่ไม่อาจเคลื่อนพระศพได้ มิได้ระบุว่าต้องนำพระศพเข้าเมืองก่อน แสดงว่าสถานที่ปรินิพพานนั้นอยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง
พระมหากัสสปและพระอรหันต์ทั้งหลายเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรูขอกระทำสังคยานา ซึ่งเป็นการปฐมสังคายนา หลังการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดา สะท้อนให้เห็นถึงเงื่อนงำความขัดแย้งของเหล่าพุทธสาวก (จิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร)
บุคลิกพระพุทธเจ้าในมหาปรินิพพานสูตร
พระพุทธเจ้ามี ๒ บุคลิกในมหาปรินิพพานสูตร :-
บุคลิกแรกนั้น เป็นบุคลิกของผู้วิเศษ ซึ่งแสดงปาฏิหาริย์จำนวนมากนับตั้งแต่การหายตัวข้ามแม่น้ำคงคาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ที่ติดตาม จากฟากหนึ่งไปสู่อีกฟากหนึ่งในพริบตา เป็นบุคลิกที่เห็นเหล่าเทพยดาทั้งหลายที่ลงมาตั้งถิ่นฐานในเมืองปาฏลีบุตร เป็นบุคลิกที่พยากรณ์เรื่องราวอนาคตของเมืองนี้ในอนาคต เป็นบุคลิกที่สามารถมีอายถยืนได้ตลอดกัปป์ หรือกว่านั้นหากมีผู้ใดผู้หนึ่งอาราธนา แต่จำต้องปลงอายุสังขารของพระองค์เอง เพราะความผิดพลาดลืมสติของพระอานนท์ และเป็นบุคลิกที่ปรินิพพานในป่าระหว่างไม้สาละสองต้น ในขณะที่มีดอกไม้และผงจันทน์ร่วงหล่นจากสรวงสวรรค์ ท่ามกลางหมู่เทพยดานับไม่ถ้วนมาให้ความเคารพ
แม้ใกล้ปรินิพพานก็ยังสามารถโปรดสุภัททะปริพาชก จนมีศรัทธาขอบวชและตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในคืนเดียวกับที่ปรินิพพาน และบุคลิกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์นั้นมิได้ลดลงหลังปรินิพพานแล้ว ยังให้เกียรติแก่พระมหากัสสป ทำให้ไฟที่นำมาจุดถวายพระเพลิงนั้นไม่ยอมติด ต้องรอจนพระมหากัสสปได้ถวายบังคมเสียก่อน ไฟจึงติดขึ้นได้เอง และดับเองเมื่อน้ำพุจากใต้ดินฉีดขึ้นมาเมื่อเผาพระศพแล้วเสร็จ
@@@@
บุคลิกที่สองนั้น เป็นบุคลิกของชายชราธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งปรินิพพานด้วยสาเหตุการเจ็บป่วยทางธรรมชาติ อันเกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงลำไส้เล็กเส้นสำคัญอุดตัน จนทำให้เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง จนเกือบสิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ทรงจำพรรษาสุดท้าย และในขณะที่ทรงจาริกหลังออกพรรษาใหม่ๆ โรคเก่านี้กำเริบขึ้นอีกครั้งหนึ่งอย่างไม่คาดฝันหลังอาหารมื้อใหญ่ที่เสวยเข้าไป และปรินิพพานไปในห้องพักเล็ก ในอาคารแห่งหนึ่งในเมืองกุสินารา ภายหลังจากที่หมู่สงฆ์ผู้ติดตามได้ให้การดูแลอย่างสุดความสามารถแล้ว
หากถามว่า ความจริงที่เกิดขึ้น คือ อะไร.?
คำตอบ คือ บุคลิกที่สอง ซึ่งบุคลิกแรกนั้นบดบังด้วยอิทธิปาฏิหาริย์เกือบทั้งหมด โดยผุดขึ้นมาเป็นปริศนาทำให้เกิดความฉงนของชนรุ่นหลัง แต่ทำไมจึงเกิดบุคลิกและความขัดแย้งของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวขึ้นได้ภายในพระสูตรเดียวกัน สิ่งนี้ยังเป็นปริศนาสำหรับนักค้นคว้าทั้งหลายในอนาคต
@@@@@@
สรุป
ข้อความในมหาปรินิพพานสูตรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นเดียว ที่ให้รายละเอียดการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ข้อมูลทั้งปวงที่ได้พรรณนาในพระสูตรนี้มีความแตกต่าง และขัดแย้งในรายละเอียด สามารถแบ่งได้เป็นสองบุคลิก ซึ่งบุคลิกหนึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้ว่าตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และแสดงให้เห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง
ซึ่งถึงแก่ความตายด้วยการเจ็บป่วยทางธรรมชาติ อันเกิดจากความเสื่อมของหลอดโลหิตแดงที่ไปลำไส้ส่วนกลางเกิดอุดตันอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ตกเลือดทางทวารหนักเป็นเลือดสดปริมาณมาก พร้อมการอักเสบในช่องท้องจนทำให้ต้องเสียชีวิตในที่สุด และความหลายตอนในมหาปรินิพพานสูตรนี้สนับสนุนตรงกันว่า สถานที่ที่ปรินิพพานจริงนั้นน่าจะเป็นห้องพักเล็กๆแห่งหนึ่งในเมืองกุสินารา มากกว่าที่จะเป็นป่าไม้สาละนอกเมืองนั้น
@@@@
แม้ว่ามหาปรินิพพานสูตรนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อน จนสามารถแยกบุคลิกของพระพุทธเจ้าออกได้เป็นสองบุคลิกก็ตาม ที่มาของบุคลิกของผู้วิเศษที่บดบังบุคลิกจริง ซึ่งน่าจะเป็นบุคลิกของพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ผู้ปรินิพพานแบบเรียบง่าย และไม่แตกต่างไปจากมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง
เรื่องราวของพระสูตรนี้ยังสมควรที่จะศึกษาต่อไปอีก ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายอันเนื่องด้วยการปรินิพพานนี้ มีทิศทางที่สอดคล้องกันและเรียบเรียงไว้เป็นอย่างดี หลายตอนเกิดจากการคัดลอกจากพระไตรปิฎกตอนอื่น แต่ยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
@@@@
นอกจากพระสูตรนี้เป็นเรื่องที่เล่าถึงการจากไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระสูตรนี้ยังมีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของการทำสังคยนาครั้งที่หนึ่ง และให้อำนาจแก่พระมหากัสสป พระเถระผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าแต่ให้กลับมามีอำนาจในคณะสงฆ์สมัยนั้นอีกด้วย
เป็นไปได้หรือไม่ว่า บุคลิกที่ขัดแย้งกันของพระพุทธเจ้าในพระสูตรนี้ เกิดจากความขัดแย้งของคณะสงฆ์ในยุคแรก ภายหลังจากที่พระบรมศาสดาได้จากไปแล้วอ้างอิง : มหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก สยามรัฐ เล่มที่ ๙
ขออนุโมทนา :-
๑. น.พ.ธวัชชัย สุขสนอง พ.บ., F.A.C.S., F.I.C.S.
๒. น.พ.คณิต สัมบุณณานนท์ พ.บ., F.R.C.S.
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2543
ผู้เขียน : พระมโน เมตฺตานนฺโท, วท.บ., พ.บ. (จุฬาฯ), B.A., M.A. (Oxford), Th.M. (Harvard), Ph.D. (Hamburg)
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ.2561
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/history/article_10377