ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตัวอย่างของ การทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ ข้อคิดดี ๆ ที่ชาวพุทธควรรู้  (อ่าน 971 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ตัวอย่างของ การทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ ข้อคิดดี ๆ ที่ชาวพุทธควรรู้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับ การทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ พร้อมกับทรงยกตัวอย่างไว้ดังนี้

การทำทานนั้น จะได้บุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเจตนาว่าบริสุทธิ์หรือไม่ หากเจตนาไม่บริสุทธิ์ แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย

วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่มีข้ออันควรระวังอยู่ก็คือ การทำทานนั้น อย่าได้เบียดเบียนตนเอง เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มาก ๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้วตนเองและสามี ภรรยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของ การทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ

@@@@@@

ตัวอย่างที่ 1. : ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่าทำทานด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ


ตัวอย่างที่ 2. : ทำทานด้วยความฝืนใจทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียดาย เช่นมีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้างแต่ทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งนึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมองได้บุญน้อย หากเสียดายมาก ๆ จนเกิดโทสจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญที่จะได้ก็คือบาป

ตัวอย่างที่ 3. : ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะอยากได้นั่นอยากได้นี่ อยากเป็นนั่น เป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ทำทาน 100 บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ ๆ ก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนมาให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากขึ้นและหนาขึ้นก็คือ “ความโลภ”


 
ที่มา : หนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
Photo by Alexandre Chambon on Unsplash
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/96616.html
By ying ,14 June 2018
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ