« เมื่อ: มีนาคม 28, 2019, 06:24:13 am »
0
ทำไมต้องสวด ชุมนุมเทวดา ก่อนสวดมนต์บทอื่น ๆไม่ว่าจะในหนังสือสวดมนต์ก็ดี ในศาสนพิธี หรือพิธีมงคลต่าง ๆ บ่อยครั้งที่จะมีการสวด ชุมนุมเทวดา ก่อนเป็นประการแรก แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องสวดชุมนุมเทวดา หรือบทอัญเชิญเทวดาก่อน วันนี้ซีเคร็ตหาคำตอบมาให้ค่ะ
เรื่องของเทวดามีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาอยู่หลายเรื่อง เทวดามีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่อดีตพระชาติ เช่น นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร อุ้มพระมหาชนกหลังจากทรงแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน หรือครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระอินทร์ได้ช่วยให้พระเวสสันดรได้กลับกรุงสีพีตามที่ขอพร หรือบางพระชาติเคยเสวยพระชาติเป็นเทวดา เช่น เป็นพรหมช่วยให้ท้าวเอกราชกลับมามีสัมมาทิฐิอีกครั้งในเรื่องนารทกัสปปพรหมชาดก เป็นต้น
และอีกพุทธกิจของพระพุทธเจ้าคือ การตอบปัญหา หรือสนทนาธรรมกับเทวดา ดังปรากฏในมงคลสูตรที่เทวดาสงสัยว่ามงคลคืออะไร พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่ามงคลมีทั้งหมด 38 ประการ ดังที่เรารู้จักกันใน “มงคลชีวิต” นั่นเอง
@@@@@@
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรัมรังสี กล่าวว่า เทวดาชอบฟังเสียงสวดมนต์ไว้ครั้งไปแสดงธรรมเรื่อง “อานิสงส์แห่งการสวดมนต์” ที่เรือนของเจ้าพระยาสรรเพชรภักดีว่า
”เหล่าพรหมเทพที่ชอบฟังเสียงในการสวดมนต์มีอยู่จำนวนมาก ก็จะมาชุมนุมฟังกันอย่างมากมาย เมื่อมีเหล่าพรหมเทพเข้ามาล้อมรอบตัวของผู้สวดอยู่เช่นนั้น ภัยอันตรายต่างๆ ที่ไหนก็ไม่สามารถกล้ำกลายผู้สวดมนต์ได้ตลอดจนอาณาเขต และบริเวณบ้านของผู้ที่สวดมนต์ ย่อมมีเกราะแห่งพรหมเทพและเทวดา ทั้งหลายคุ้มครองภัยอันตราย ได้อย่างดีเยี่ยม“
ก่อนสวดมนต์จะสังเกตว่ามักมีบทอัญเชิญเทวดา หรือเรียกอีกอย่างว่า “ชุมนุมเทวดา” ขึ้นก่อนเสมอ อาจมาจากเหตุการณ์ที่เทวดาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า การสวดมนต์เท่ากับเป็นการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยายอีกครั้ง โดยเฉพาะบทสวดมนต์ที่เป็นพระปริตร จะเห็นได้ว่า พอเริ่มสวดบทชุมนุมเทวดาจะขึ้นต้นว่า
“สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ ผะริต๎วานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ“
แปลว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีเมตตา จงแผ่ไมตรีจิต ด้วยคิดว่าขออานุภาพพระปริตร จงรักษาพระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งนรชน พร้อมด้วยราชสมบัติ พร้อมด้วยราชวงค์ พร้อมด้วยเสนามาตย์ แล้วอย่ามีจิตฟุ้งซ่าน ตั้งใจสวดพระปริตรเถิด
@@@@@@
ปรากฎคำว่า “พระปริตร” อยู่สองจุดด้วยกันคือ “ขออานุภาพพระปริตร” และ “ตั้งใจสวดพระปริตรเถิด” แสดงว่าบทสวดชุมนุมเทวดาเหมาะสำหรับเป็นบทสวดนำก่อนสวดบทพระปริตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 7 ตำนาน หรือ 12 ตำนาน
อีกข้อสังเกตหนึ่งซึ่งธนิต อยู่โพธิ์ได้กล่าวไว้ใน “อานุภาพพระปริตต์” ว่า บทชุมนุมเทวดา หรือ คาถาเชิญชวนสวดพระปริตต์ เห็นได้ว่า สำหรับใช้กล่าวชักชวนในการสวดพระปริตต์ถวายพระมหากษัตริย์ เพื่อถวายความคุ้มครองแด่พระมหากษัตริย์ พระประยูรญาติและราชสมบัติ ตลอดทั้งเสนามาตย์ราชบริพาร แสดงว่าการสวดพระปริตร นอกจากเป็นการสาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นการสวดมนต์ถวายพระราชาและเชื้อพระวงศ์อีกด้วย การสวดพระปริตรอาจใช้ในพิธีหลวงมาก่อน และผู้ที่สวดหรือสาธยายมนต์ก็เพื่อถวายความจงรักและภักดีที่มีต่อราชสำนัก
@@@@@@
สำหรับในศาสนพิธีและพิธีมงคลต่าง ๆ จะตัด “สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุงฯ” ออก แล้วเริ่มสวดที่ “สัคเค กาเม จะ รูเปฯ” เลย แต่อย่างไรก็ตามบทอัญเชิญเทวดาที่ขึ้นต้นด้วย สัคเค พอดูคำแปลของบทสวดแล้วก็เป็นเรื่องของการเชิญเทวดามาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ซึ่งยังตรงกับพุทธกิจและเรื่องเล่าในคัมภีร์พระพุทธศาสนาอยู่ แม้กระทั่งโอปปาติกที่เป็นทิพย์ เช่น ยักษ์ ครุฑ นาค และคนธรรพ์ ก็ถูกเชิญมาฟังธรรม ล้วนมีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้า โดยการยกย่องพระองค์เป็นบรมครู ยักษ์ ได้แก่ “เวสสุวรรณ” หนึ่งในเจ้าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
ทั้งยังถวายมนต์ “อาฏานาฏิยปริตร ” ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปริตรที่มีความเชื่อว่าสามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้ แด่พระพุทธเจ้า ครุฑ ไม่ค่อยมีบทบาทในพระพุทธศาสนา นาคจะมีบทบาทมากกว่า แต่พระพุทธศาสนาก็เชื่อการมีอยู่ของครุฑ ดังปรากฏในภูริทัตตชาดก ที่ครุฑสอนมนต์จับนาคให้กับฤษี นาค ได้แก่ “มุจจลินนาคราช” ซึ่งขึ้นจากสระมุจจลินมาแผ่พังพานป้องกันพระวรกายของพระพุทธเจ้ามิให้ถูกฝน คนธรรพ์ที่นับถือพระพุทธเจ้าคือ “ปัญจสิขร” คนธรรพ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสชมว่าบรรเลงพิณได้ไพเราะยิ่ง
ไม่เท่านั้นเรายังได้รู้จักเทวดาประเภทต่าง ๆ แบ่งตามลักษณะของที่สถิต เช่น ฉกามาพจรสวรรค์ หมายถึงสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น และ โสฬสมหาพรหม คือพรหมในพรหมโลก 16 ชั้น ไม่ผิดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรัมรังสี เรียกว่า “เทพพรหม” ซึ่งหมายถึงเทพและพรหมจริง ๆ เทวดาที่สถิตตามภูเขา (เจ้าเขา) บ้านเรือน (ภุมมเทวดา หรือเทวดารักษาบ้านเรือน ตรงกับพระภูมิ) พระราชวัง (มณเฑียร) หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ป่า (เจ้าป่า) เกาะ ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ (พระหลักเมือง)
@@@@@@
บทชุมนุมเทวดา หรือ บทอัญเชิญเทวดา
(ถ้าจะสวดเจ็ดตำนานใช้) สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ ผะริต๎วานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ
- ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีเมตตา จงแผ่ไมตรีจิต ด้วยคิดว่าขออานุภาพพระปริตร จงรักษาพระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งนรชน พร้อมด้วยราชสมบัติ พร้อมด้วยราชวงค์ พร้อมด้วยเสนามาตย์ แล้วอย่ามีจิตฟุ้งซ่าน ตั้งใจสวดพระปริตร
(ถ้าจะใช้สิบสองตำนานใช้) สะมันตา จักกะวาเฬสุ อัตราคัจฉันตุ เทวะตา
- เทพยดาในรอบจักรวาลทั้งหลายจงมาประชุมกันในสถานที่นี้
สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ สุณันตุ สัคคะโมกขะทัง
- จงฟังซึ่งสัทธรรม อันให้สวรรค์และนิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งมุนี
(ต่อด้วยสัคเค ได้ทั้ง 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน)
สัคเค - ข้าพเจ้าขออัญเชิญฝูงเทพยดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ในฉกามาพจรสวรรค์
กาเม – อยู่ในกามภพ
จะ รูเป - อยู่ในรูปภพ คือ โสฬสมหาพรหม
คิริสิขะระตะเฏ - อีกทั้งเทพยเจ้าซึ่งสิงสถิตอยู่ในภูผาห้วยเหว และคูหายอดคีรี
จันตะลิกเข วิมาเน - อยู่ในอากาศวิมานมาศมณเฑียรทอง
ทีเปรัฏเฐ จะ คาเม - สิงสถิตอยู่ในเกาะแก้วเมืองหลวง และพระนครใหญ่น้อย
ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต - สิงสถิตอยู่ในเคหะสถานบ้านน้อยและเมืองใหญ่ทั่วทุกชนบท
ภุมมา - ซึ่งสิงสถิตปรากฎในโรงศาลพระภูมิเจ้าที่
จายันตุ เทวา - ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เร่งรีบเข้ามาในเวลาวันนี้ ให้พร้อมกัน
ชะละถะละวิสะเม - อีกทั้งเทพยเจ้า ซึ่งสิงสถิตอยู่ในห้วยหนองคลองบึง บางแม่น้ำใหญ่ ไพรพฤกษาทุกหย่อมหญ้าลดาวัลย์ ที่เสมอกันก็ดี ที่ไม่เสมอกันก็ดี
ยักขะคันธัพพะนาคา - ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร มีอีกทั้งยักษาคนธรรพ์ ครุฑ นาคา
ติฏฐันตา - อีกทั้งเทพยเจ้าซึ่งสิงสถิตอยู่ในสถานใดๆ
สันติเก ยัง มุนิวะระจะนัง - ข้าพเจ้าขออัญเชิญเข้ามายังสำนักแห่งนักปราชญ์ อาจสำแดงธรรม
สาธะโว เม สุณันตุ ฯ - ดูก่อนสัปบุรุษพุทธบริษัททั้งหลายเอ๋ย ถึงเวลาฤกษ์งามยามดี
ธัมมัสสะวะนะกาโล - ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เข้ามาสดับตรับฟังพระธรรมพร้อมกัน
อะยัมภะทันตา - ดูก่อนท่านผู้ประเสริฐยอดยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ข้าพเจ้าขออัญเชิญมาประชุมให้พร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้เถิด
ธัมมัสสะวะนะกาโล - ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เข้ามาสดับตรับฟังพระธรรมพร้อมกัน
อะยัมภะทันตา - ดูก่อนท่านผู้ประเสริฐยอดยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ข้าพเจ้าขออัญเชิญมามั่วสุมประชุมให้พร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้เถิด
ธัมมัสสะวะนะกาโล - ข้าพเจ้าขออัญเชิญให้เข้ามาสดับตรับฟังพระธรรมพร้อมกัน
อะยัมภะทันตา - ดูก่อนท่านผู้ประเสริฐยอดยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ข้าพเจ้าขออัญเชิญมามั่วสุมประชุมให้พร้อมเพรียงกันในสถานที่นี้เถิด ที่มา :-
www.tnews.co.thwww.watpamahachai.netwww.trueplookpanya.com6 พระสูตร ที่เทวดาฟังแล้วบรรลุธรรมมากที่สุดภาพ :
https://pixabay.comขอบคุณ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/147310.htmlBy nintara1991 ,27 March 2019