ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ชาวบ้านสุดรั้ง “หลวงพ่อสมยศ” ขอลาออกเจ้าอาวาสวัดในกลาง มุ่งปฏิบัติธรรม  (อ่าน 1009 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ชาวบ้านสุดรั้ง “หลวงพ่อสมยศ” ขอลาออกเจ้าอาวาสวัดในกลาง มุ่งปฏิบัติธรรม


ชาวบ้านแหลม ร่ำไห้ร้องขอไม่ให้ “หลวงพ่อสมยศ” ลาออกจากเจ้าอาวาสวัดในกลาง ขณะที่หลวงพ่อยืนยันจะไปปฏิบัติธรรมที่ “สวนโมกข์” แต่เมื่อไม่อาจขวางเส้นทางบุญ ก็ต้องยอมให้หลวงพ่อลาออกทั้งน้ำตา

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2563 ชาวบ้านตำบลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี จำนวนกว่า 300 คน เดินทางมาที่วัดในกลาง หมู่ 3 อ.บ้านแหลม ร้องขอให้ พระครูสิริวชิรธรรม (สมยศ ฐิติโก) หรือ “หลวงพ่อสมยศ” เจ้าอาวาสวัดในกลาง เจ้าคณะตำบลบ้านแหลม ซึ่งมีกำหนดจะลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสฯ และเจ้าคณะตำบลฯ ให้ทบทวนความคิดดังกล่าว และคงอยู่เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลต่อไป พร้อมมีการถือป้ายข้อความต่างๆ ขอร้องไม่ให้ลาออก โดยมี พระครูสิริคณาทร (หลวงพ่อหริ) เจ้าอาวาสวัดต้นสน อ.บ้านแหลม ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม นายศรีธรรม ราชแก้ว นายอำเภอบ้านแหลม น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี อดีต ส.ว.เพชรบุรี ร่วมสังเกตการณ์



เหตุสืบเนื่องจาก พระครูสิริวชิรธรรม ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดในกลางมากว่า 20 ปี ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดในกลาง และลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบ้านแหลม เนื่องจากต้องการที่จะกลับไป ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม เจริญในเส้นทางพระพุทธศาสนา ที่วัดสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ชาวบ้านที่เคารพศรัทธาทราบข่าวดังกล่าว ได้รวมตัวกันมาร้องขอให้ พระครูสิริวชิรธรรม ทบทวนความคิดในการลาออกและขอให้ดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ที่ อ.บ้านแหลม ต่อไป

พระครูสิริวชิรธรรม กล่าวว่า เดิมตนศึกษาพระธรรมในพระพุทธศาสนา ที่วัดสวนโมกข์ ซึ่งเป็นสายพระป่ามาก่อนที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสวัดในกลางแห่งนี้ ขณะนี้ตนเองต้องการจะกลับไปศึกษาพระธรรม และต้องการปฏิบัติตนตามแนวทางพระพุทธศาสนา ที่วัดสวนโมกข์ จึงขอให้ชาวบ้าน โปรดให้ความเห็นใจและสนับสนุนให้ตนมีความเจริญในทางธรรมด้วย

ทั้งนี้บรรยากาศการรวมตัวดังกล่าวเป็นไปด้วยความโศกเศร้า หลายคนร้องไห้ด้วยความเสียดาย ไม่อยากให้ พระครูสิริวชิรธรรม ลาออกจากตำแหน่ง พระครูสิริคณาทร (หลวงพ่อหริ) เจ้าอาวาสวัดต้นสน อ.บ้านแหลม ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม ซึ่งร่วมสังเกตการณ์ ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง อธิบายให้ชาวบ้านทราบ ถึงความสำคัญของการบวชเรียนในแนวทางพระพุทธศาสนา และความสำคัญในการศึกษาพระธรรม ตลอดจนความต้องการของพระครูสิริวชิรธรรม ที่ต้องการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ชาวบ้านจึงเข้าใจ



จากนั้นพระครูสิริวชิรธรรม ได้ให้ไวยาวัจกรวัดชี้แจงรายรับรายจ่าย และบัญชีทั้งหมดของวัดให้ชาวบ้านทราบ และได้กราบลาพระครูสิริคณาทร พระผู้ใหญ่ และกล่าวอโหสิกรรมต่อชาวบ้าน กล่าวลาชาวบ้าน ก่อนจะขึ้นรถเดินทางไปยังสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทันที ส่วนวัดในกลาง พระครูพุทธรัตนาภิบาล เจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา เจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม จะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดในกลาง และรักษาการตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบ้านแหลม ไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งแทน

ด้าน น.ส.สุมล ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า พระครูสิริวชิรธรรม เป็นชาว ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม อุปสมบทที่วัดในกลาง โดยมี พระครูพัชรคุณาธาร (หลวงพ่อเพชร) เจ้าอาวาสวัดในกลางในขณะนั้น เป็นองค์อุปัชฌาย์ ก่อนที่ต่อมาจะเดินทางไป ศึกษาพระธรรมกับท่านพุทธทาสที่วัดสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ฯ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2542 หลวงพ่อเพชรอาพาธหนัก ก่อนมรณภาพท่านได้สั่งให้ไปนิมนต์เชิญพระครูสิริวชิรธรรม กลับมาเป็นเจ้าอาวาสแทนท่าน

โดยพระครูสิริวชิรธรรม ได้รับนิมนต์ มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดในกลางมานานกว่า 20 ปี ตลอดเวลาการดำรงตำแหน่ง พระครูสิริวชิรธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาโดยตลอด เป็นพระนักพัฒนา เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในอำเภอบ้านแหลม และละแวกใกล้เคียงอย่างมาก เป็นศูนย์รวมจิตใจจนสามารถฟื้นฟูวัดในกลาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่กว่า 200 ปีมีสภาพทรุดโทรม ให้กลับมาเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง



ทั้งนี้ วัดในกลาง เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชื่อ วัดกลางสนามจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2305 สมัยอยุธยาตอนปลายตามหลักฐานทะเบียนการสร้างวัดในกลางของกรมศาสนาและจากหนังสือชื่อ พระอารามหลวง และอารามสำคัญ 2,630 อาราม ตลอดจนหลักฐานทางโบราณสถานและโบราญวัตถุมีความสอดคล้องกันว่าวัดในกลางนี้

เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมารดา คือ นางนกเอี้ยง หรืออีกนัยหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อตอบแทนชาวบ้านที่ได้ถวายการอารักขาพระมารดา ภายในวัดนอกจากจะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เก่าแก่และสำคัญ อาทิ เจดีย์ อุโบสถแบบมหาอุด กุฏิ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ล้วนเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย และยังเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่เคารพสักการะ.



ขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/news/local/central/1740438
ไทยรัฐออนไลน์ , 5 ม.ค. 2563 15:10 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ