ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธศาสนา กับ เส้นทางการค้าในสุวรรณภูมิ ดินแดนเชื่อมอารยธรรมโลก  (อ่าน 856 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
แผนที่อินเดีย จีน และสุวรรณภูมิ โดยข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของทอเลมี (ศตวรรษที่ 2)
วาดใหม่โดยเจอราร์ด เมอร์เคเตอร์ (Gerard Mercator) (1584 CE)


พุทธศาสนากับเส้นทางการค้าในสุวรรณภูมิ ดินแดนเชื่อมอารยธรรมโลก

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พุทธศาสนากับเส้นทางการค้าในสุวรรณภูมิ” ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี ร่วมเสวนาโดย ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม, นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช, ดร. วรรณพร เรียนแจ้ง, และดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

อาจารย์ศรีศักดิ์เกริ่นถึงดินแดนสุวรรณภูมิว่ามีอยู่จริง แม้นักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายคนเสนอว่าสุวรรณภูมิไม่มีจริงก็ตาม อธิบายว่าดินแดนเอเชียอาคเนย์มีความเจริญรุ่งเรื่องตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว มีการติดต่อกับวัฒนธรรมภายนอก รวมทั้งรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา แต่ไม่ได้รับเอาทั้งหมดหากแต่เลือกเอาเฉพาะที่เหมาะสม และในดินแดนเอเชียอาคเนย์ในยุคโบราณนั้นไม่ใช่พวกป่าเถื่อน แต่มีการสร้างบ้านแปลงเมืองกันแล้ว

นอกจากนี้ ดินแดนเอเชียอาคเนย์หรือสุวรรณภูมิได้รับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาคือ “พระพุทธศาสนา” ซึ่งถูกนำเข้ามาผ่านเส้นทางการค้า เหล่าพ่อค้าส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนา และสินค้าที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่นำมาค้าขายกันนอกจากจะเป็นพวกอัญมณี เครื่องประดับแล้วยังมีการค้า “พระธาตุ” ซึ่งเป็นสินค้าทางความเชื่อเหมือนกับการเช่าบูชาพระเครื่อง


ด้านนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่พบในประเทศไทย ใช้โบราณวัตถุศึกษาและพิสูจน์ว่าเรื่องสุวรรณภูมิมีอยู่จริง โดยทำการศึกษามาเป็นเวลาหลายปี ในการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิมีงานออกมา 2 ชิ้น
   - ชิ้นแรกเป็นการรวบรวมงานศึกษาของนักประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศ 12 คน ที่ทำการศึกษาความรู้เกี่ยวกับสุวรรณภูมิ
   - ชิ้นที่สองทบทวนศึกษางานในอดีตทั้งของไทยและของต่างประเทศที่ทำการศึกษาสุวรรณภูมิในรอบ 100 ปี

บทสรุปจากการศึกษาคือ ดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ในการรับรู้กันโดยทั่วไปในโลกยุคโบราณ เริ่มจากยุคกรีก ปโตเลมี ชาวกรีก ผู้อาศัยอยู่ที่เมืองท่าอเล็กซานเดียของอิยิปต์ นั่งฟังนักเดินเรือเล่าเรื่องการค้าขาย มีการเดินทางไปที่ไหนบ้าง มีจุดสำคัญที่ไหนบ้าง เขาทำการจดชื่อเมืองพร้อมตำแหน่งที่ตั้ง มีพิกัดบอก

ต่อมามีการนำไปเขียนตำราภูมิศาสตร์ เมื่อประมาณพุทธศตรวรรษที่ 7 หลังจากนั้นตำราเล่มนี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงทั่วทั้งโลก ประมาณพันปีต่อมามีชาวฟลอเรนซ์จากอิตาลี เอาข้อมูลในตำรานี้มาทำเป็นแผนที่ชื่อแผนที่ปโตเลมี  ในแผนที่บอกถึงดินแดนที่อยู่ถัดจากอินเดียไปเรียกว่า "สุวรรณภูมิ" นอกจากชาวตะวันตกจะรับรู้การมีอยู่ของดินแดนสุวรรณภูมิแล้ว ชาวจีนก็รู้จักดินแดนนี้และเรียกว่า "จินหลิน"


โบราณวัตถุที่พบในสุวรรณภูมิ แยกตามแหล่งผลิต (ภาพจากนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช)

การศึกษาจากต่างประเทศให้ข้อมูลว่าสุวรรณภูมิมีอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว เชื่อว่าค่อย ๆ ก่อตัวเป็นรัฐมีการค้า ที่มาพร้อมกับศาสนาพุทธเป็นหลัก นักวิชาการอินเดียอธิบายว่า พ่อค้าของอินเดีย คือ ชาวพุทธ เพราะฮินดูกับเชนจะไม่เดินทางออกนอกประเทศ เพราะข้อห้ามทางศาสนา

โดยสรุปแล้ว สุวรรณภูมิมีอยู่จริง ตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย โดยใช้หลักฐานทางโบราณวัตถุอายุ ประมาณ พ.ศ. 200-300 พบหลักฐานจำนวนมากที่คอคอดกระ พบโบราณวัตถุที่มาจากอินเดีย เมดิเตอร์เรเนียน กรีก โรมัน และจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น

ตัวอย่างโบราณวัตถุที่พบ เช่น หินวงแหวน ที่มีลวดลายเทพีเปลือยให้เห็นถึงถัน ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการให้ชีวิตและการกำเนิดแสดงความมั่งคั่งของอินเดีย ภายหลังจึงรู้ว่าเป็นวงแหวนศิลาแห่งราชวงศ์โมริยะ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญไม่แพ้กับเสาอโศก


โบราณวัตถุ หินวงแหวน (ภาพจากนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช)

สรุปความสำคัญของสุวรรณภูมิ ดังนี้

    1. แสดงให้เห็นว่า สุวรรณภูมิเป็นสะพานเชื่อมโลก เต็มไปด้วยของดีมีค่า เช่น ปุโรหิตของกษัตริย์จันทร์คุป ต่อมาเป็นคนดูแลพระเจ้าอโศกมหาราช บอกว่า "ไม้หอมที่ดีต้องไปจากสุวรรณภูมิ" หรืออาจารย์ไพนีซึ่งเป็ณอาจารย์ของจักรพรรดิโรมัน บอกว่า "ของดีต้องไปหาที่สุวรรณภูมิ"
    2. เป็นย่านผ่านไปมา ตั้งถิ่นฐาน ทำการค้า พัฒนาเป็นเมือง รัฐ อาณาจักร
    3. เป็นดินแดนแลกเปลี่ยนวิทยาการ เทคโนโลยีรวมทั้งเป็นแหล่งผลิต
    4. เป็นชุมทางการค้าสำคัญของโลก
    5. เป็นอีกอารยธรรมของโลก นอกจาก จีน อินเดีย ฯลฯ

อาจารย์วรรณพร เรียนแจ้ง กล่าวถึง การพบผอบที่ใช้บรรจุพระธาตุอยู่มากมาย โดยเฉพาะในอินเดียทางเหนือ ผอบที่พบในแต่ละที่จะมีลักษณะคล้ายกัน เพราะมีการลอกเลียนแบบกันมาจนแพร่กระจายมาถึงทางใต้ของอินเดีย อาจารย์วรรณพรกล่าวต่อว่า การสร้างผอบเพื่อบรรจุพระธาตุขึ้นมา อาจเป็นการนำไปสู่การค้าพระธาตุในดินแดนแถบนี้

@@@@@@

นอกจากนี้ การพบสถูปสาญจีในอินเดียที่สร้างขึ้นเมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้เข้าใจได้ว่า วัฒนธรรมการบูชาพระธาตุมีมาอย่างจริงจังแล้วในสมัยนี้ โดยการบรรจุพระธาตุลงในผอบพร้อมกับลูกปัด ซึ่งถือเป็นของมีค่า และบางพื้นที่อย่าง เช่นญี่ปุ่น ถือว่าลูกปัด คือพระธาตุ แล้วนำไปผังไว้ในสถูป ตำแหน่งการฝังจะแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

พัฒนาการของศาสนา การค้า และความเจริญรุ่งเรืองของอินเดีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ แต่ดินแดนนี้ก็มิใช่ดินแดนล้าหลังและเป็นเพียงตำนานเท่านั้น กลับเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองบนเส้นทางการค้าสำคัญของโลก ที่เชื่อมอารยธรรมจากตะวันออกและตะวันตก มาตลอดหลายร้อยหลายพันปี

ชมวิดีโอ เสวนาช่วงที่ 1. ได้ที่...
https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/204400927353500/

ชมวิดีโอ เสวนาช่วงที่ 2. ได้ที่...
https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/2574666909298162/



ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/on-view/art-and-culture-club/article_44638
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2563
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 26, 2020, 06:17:05 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ