ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เบื้องลึกขุดย้าย "สถูป 300 ปี" นครพนม เหตุกีดขวางทางเดิน สู่ปมคัดค้าน  (อ่าน 827 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เบื้องลึกขุดย้าย "สถูป 300 ปี" นครพนม เหตุกีดขวางทางเดิน สู่ปมคัดค้าน

จาก "โบราณสถาน" ที่ตั้งตระหง่านมานานกว่า 300 ปี กลายเป็นถาวรวัตถุที่กีดขวางทางเดินคน จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย สวนทางแนวคิดชาวบ้านในชุมชน นำไปสู่การคัดค้านและมองว่าอาจมีวัตถุประสงค์ทับซ้อน

"โบราณสถาน" นั้นอยู่ที่ไหน?
ทำไมถึงต้องมีการคัดค้าน?

‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ จะพาคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ย้อนเรื่องราวความเป็นไป หาต้นสายปลายเหตุทำไมถึงเกิดการคัดค้านเช่นนั้น กับ นายชินกรณ์ แดนกาไสย อาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนม และนายวสันต์ เทพสุริยานนท์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี

โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนั้นอยู่ที่วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม สถานที่ตั้งของโบราณสถาน ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า ‘ญาครูขี้หอม’


ภาพโดย อ.ชินกรณ์ แดนกาไสย

‘ญาครูขี้หอม’ นับเป็นบุคคลสำคัญที่ชาวชุมชนพระธาตุพนมเคารพนับถือและศรัทธาอย่างมาก โดยท่านเป็นคนพาชาวลาวกว่า 3,000 คนจากเวียงจันทน์ ข้ามฝั่งมาบูรณะพระธาตุพนม เมื่อเสร็จสิ้นก็ได้ตั้งบ้านตั้งเมืองที่นี่เป็นชาวธาตุพนม แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ไปตั้งเมืองที่จำปาสัก เมื่อท่านมรณภาพที่จำปาสัก ทางจำปาสักจึงได้สร้างเจดีย์เล็กไว้ข้างพระธาตุพนม

ซึ่งเจดีย์เล็กนั้นก็คือ ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ ที่ตั้งตระหง่านมานานกว่า 300 ปี

แต่แล้วช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากโบราณสถานกลายเป็นวัตถุถาวรที่กีดขวางทางเดิน ทางวัดฯ มีแผนเคลื่อนย้ายออกจากจุดเดิมไปตั้งในจุดใหม่ นำมาซึ่งความกังวลใจของคนในชุมชนพระธาตุพนม ออกมารวมตัวคัดค้านมองว่าการเคลื่อนย้ายครั้งนี้อาจมีวัตถุประสงค์ทับซ้อน

"เหตุการณ์การเคลื่อนย้ายโบราณสถานไม่ใช่ครั้งแรก"

นายชินกรณ์ เป็นหนึ่งในผู้คัดค้านการเคลื่อนย้าย ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ อายุ 300 ปี โดยยืนยันกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้ว

"บริเวณรอบๆ พระธาตุพนมไม่ได้มีแค่ ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ แต่ยังเคยมีการย้ายธาตุของบุคคลสำคัญท่านอื่นๆ อีกหลายท่าน"


สาเหตุการเคลื่อนย้าย คืออะไร.?

คำตอบจากกรรมการและผู้ใหญ่ของวัดฯ ที่ส่งมาถึงนายชินกรณ์และชาวชุมชนพระธาตุพนม คือ "ขวางทางเดินคนที่จะเวียนรอบเจดีย์เพื่อไปยังวิหารด้านใน ทำให้คนเดินรอบไม่ได้"

ส่วนหลังจากเคลื่อนย้ายเสร็จสิ้นแล้วก็จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์และอยากทำให้ท่านใหม่ขึ้น เพราะโดยรูปทรงในปัจจุบันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมาก ถ้าย้ายก็ห่างจากจุดเดิมประมาณ 5 เมตร และจะทำการสร้างเจดีย์ใหม่ให้เป็นเจดีย์หินอ่อน เพื่อเป็นการสมเกียรติท่านมากกว่าอันนี้


ภาพโดย อ.ชินกรณ์ แดนกาไสย

จากคำตอบและแนวคิดของทางวัดฯ กลับไม่ได้ทำให้ชาวชุมชนพระธาตุสบายใจเท่าไรนัก

"ในมุมมองของชุมชน เห็นว่าเป็นเจดีย์โบราณและน่าจะเป็นเจดีย์แห่งเดียวที่เป็นถาวรวัตถุที่ยังคงอยู่ ถ้าเทียบกับพระธาตุพนม ที่สร้างขึ้นและพังทลายลงและสร้างใหม่ ก็นับว่านี่คือ ‘สิ่งที่เก่าแก่ที่สุดในวัด’ ซึ่งชาวบ้านไม่ได้มองเป็นปัญหาอะไร เพราะอยู่ตรงนี้มานานกว่า 300 ปีแล้ว คนสามารถเดินหลบท่านได้ เลี่ยงท่านได้"

นายชินกรณ์ ตั้งข้อสังเกตกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ที่เป็นหนึ่งในเหตุผลการคัดค้านของชาวบ้าน ว่า การเคลื่อนย้าย ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ ครั้งนี้ อาจมีวัตถุประสงค์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะทุกๆ ครั้งที่มีการบูรณะถาวรวัตถุภายในวัดพระธาตุพนมจะมีการขุดเจอทรัพย์สมบัติหรือโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปทองคำและพระกรุต่างๆ อยู่เสมอ พื้นที่บริเวณลานพระธาตุเกือบทั้งหมด ขุดไปตรงไหนก็เจอ โดยเฉพาะด้านล่างของ ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ ที่เป็นบุคคลสำคัญและสร้างโดยพระมหากษัตริย์ที่มาจากลาว ชาวบ้านเลยเชื่อว่าน่าจะมีสิ่งมีค่าที่ผู้คนถวายเป็นพุทธบูชาอยู่ด้านล่างหรือไม่ ต้องการขุดหาทรัพย์สมบัติพวกนี้หรือเปล่า อีกอย่างหนึ่ง คือ ธาตุท่านพระครูอยู่ในดิน การที่ขุดก็ไม่รู้จะเจออะไรบ้าง นี้เป็นสิ่งที่ผู้คนคัดค้านและไม่พอใจ



ย้อนเหตุการณ์ก่อนมีการคัดค้านรอบ 2 หลังชาวบ้านรู้ว่าเริ่มมีการขุดพื้นที่ที่จะย้ายระยะห่างออกไปประมาณ 5 เมตร ก็ได้พากันไปสืบว่ากำลังทำอะไร แต่ไม่มีใครออกมาบอกว่าทำอะไร หาคนสั่งการไม่เจอ ทางชาวบ้านและนายชินกรณ์จึงได้มีการปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาส ปรากฏว่ามีการจ้างผู้รับเหมามาขุด และสืบไปสืบมาพบว่า ทางวัดพระธาตุพนมได้แจ้งไปทางกรมศิลปากร โดยจะย้าย ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ ออกไปอีก 5 เมตร บริเวณใกล้เคียงกันที่ไม่ขวางทางคนเดิน

ก่อนที่ต่อมาทางกรมศิลปากรจะมีหนังสือแจ้งกลับมายังวัดฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ว่า ก่อนทำการเคลื่อนย้าย ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ ให้สรุปผลประชาพิจารณ์ของฆราวาสและสงฆ์ภายในวัดฯก่อน แต่อยู่ๆ พอเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กลับมีการเริ่มขุดย้ายอีกครั้ง

จนกระทั่งล่าสุด กรมศิลปากรมีหนังสือให้หยุดขุดและให้ทำการประชาพิจารณ์ก่อน แต่ทางผู้รับจ้างก็ยังไม่หยุดแต่อย่างใด อีกทั้งบางส่วนยังมีการเทฐานรากเพื่อที่จะทำเจดีย์ใหม่แล้ว


ภาพโดย อ.ชินกรณ์ แดนกาไสย

จากเรื่องราวที่ว่านั้น นายชินกรณ์ตั้งคำถามว่า "จากภาพที่ออกมามีการพบวัตถุโบราณ ซึ่งของตรงนั้นอยู่ไหน และที่เสียหายไปใครจะรับผิดชอบ"

การมองมุมต่างจนเกิดการขัดแย้ง นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตของการเคลื่อนย้าย และกลายเป็นการคัดค้านนั้น ทางกรมศิลปากรที่ถือเป็นตัวกลางของเรื่องราวก็ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ

นายวสันต์ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี เริ่มต้นอธิบายถึงกระบวนการเคลื่อนย้ายให้กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ เข้าใจก่อนว่า โบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมีการใช้ประโยชน์ในวัดอยู่และวัดยังเป็นนิติบุคคลนั้น ด้วย พ.ร.บ.โบราณสถาน ที่กรมศิลปากรใช้ในการบริหารจัดการมีหน้าที่ช่วยเข้าไปกำกับดูแลและการดำเนินการอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถาน ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรก่อน และต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมศิลปากร

"หลังเห็นข่าว ทางกรมศิลปากรจึงรีบทำหนังสือด่วน ซึ่งเคยมีหนังสือฉบับก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทางวัดฯ ยังไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ และได้ทราบข้อมูลจากสื่อออนไลน์ว่า ทางวัดฯ กำลังเตรียมการเคลื่อนย้าย จึงทำหนังสือด่วนที่สุดไปยังทางวัดฯ ขอให้ระงับการดำเนินการดังกล่าวไปก่อน แล้วให้ทำประชาพิจารณ์ให้เรียบร้อย"



เมื่อถามถึงการตอบกลับของทางวัดฯ ต่อกรมศิลปากร หลังจากมีการแจ้งหนังสือรอบที่ 2 ไปแล้วนั้น นายวสันต์ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ทางวัดฯ แจ้งว่าปลายปี 2562 มีการประชุมกับทางผู้บริหารวัดฯ แล้ว และไม่มีใครคัดค้าน ไม่ว่าะจะเป็นฆราวาสหรือพระสงฆ์ แต่ด้วยการมีความไม่เข้าใจของพุทธศาสนิกชนทางวัดเลยหยุดเตรียมการไว้ก่อน และปรับพื้นที่คืนดังเดิม โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไป

ในส่วนของทางชุมชน เบื้องต้น ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ทราบว่า มีการล่ารายชื่อและรวมตัวกันเพื่อคัดค้าน นำโดยกำนันธาตุพนม และยังมีการเปิดเจรจากับทางวัดฯ โดยมีเจ้าอาวาสเป็นตัวแทน ซึ่งหลังจากหารือจบ ทางเจ้าอาวาสยอมถอยไม่ทำต่อ ส่วนชาวบ้านก็ได้ทำการกลบบริเวณที่มีการขุด แต่นายชินกรณ์และชาวบ้านยังตั้งคำถามต่อมาว่า "การที่วัดฯ สั่งคนมาขุดอย่างนี้ ผิดกฎหมายอะไรหรือไม่ และใครจะรับผิดชอบ"

ซึ่ง นายวสันต์ ให้คำตอบว่า บริเวณที่วัดฯ จัดเตรียมทำฐาน เป็นบริเวณที่ทางวัดฯ ร่วมกับจังหวัดว่าจ้างทางคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรมาศึกษาทางโบราณคดีแล้ว เพื่อที่จะทำให้พระธาตุพนมเป็นมรดกโลก ซึ่งการเตรียมการขุดค้นโบราณคดีดังกล่าวก็ได้ขออนุญาตจากกรมศิลปากรเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับอนุญาต ฉะนั้น พื้นที่ที่ทางวัดฯ เตรียมการที่จะย้ายก็คือ พื้นที่ที่มีการศึกษาโบราณคดีแล้ว จึงไม่น่าเป็นประเด็นที่ทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า เพราะเป็นการดำเนินการซ้ำในพื้นที่ที่ขุดศึกษาทางโบราณคดีแล้ว และทางวัดก็ยังไม่ได้ดำเนินการย้ายสถูปแต่อย่างใด



แม้ว่าขณะนี้ การดำเนินการเคลื่อนย้าย ‘สถูปบรรจุอัฐิเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก’ จะยุติลงชั่วคราว จาก 2 มุมมองของทางวัดฯ และชาวบ้าน แต่นายชินกรณ์ยังมีความกังวลว่า เวลาที่มีการลักลอบขุด สิ่งที่ชาวบ้านจะทำได้ คือ รวมตัวกันเพื่อต่อต้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะในการต่อต้านแต่ละครั้งจะมีการกระทบกันระหว่างชุมชนกับทางวัดฯ.

      ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน



ขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/scoop/1785066
สกู๊ปไทยรัฐ ,ไทยรัฐออนไลน์ ,3 มี.ค. 2563 05:30 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ