ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อย่าให้ "สองมาตรฐาน" เกิดในวงการสงฆ์  (อ่าน 747 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


อย่าให้ "สองมาตรฐาน" เกิดในวงการสงฆ์

ช่วงนี้เกิดเหตุวุ่นวาย แต่ถ้าชีวิตเรามีกรอบแนวคิด มีหลักในการดำเนินชีวิต ความวุ่นวายต่าง ๆ มากระทบจากหนักก็จะกลายเป็นเบา

ในชีวิตผม มีจงรักภักดีอยู่ 2 สถาบัน คือ หนึ่ง มีศรัทธามั่นคงต่อพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาที่สอนให้ผมมีหลักในการดำเนินชีวิตท่ามกลางความวุ่นวายต่าง ๆ มากมาย และ สองในฐานะพลเมือง ผมมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการกอบกู้ชาติบ้านเมืองและเป็นศูนย์กลางในการขจัดเพทภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองแห่งนี้

หากชีวิตเรามีกรอบแนวคิด มีหลักในการดำเนินชีวิต ความวุ่นวายต่าง ๆ หากมากระทบจากหนักก็จะกลายเป็นเบา ดีกว่าคนที่ไม่มีหลักในการดำเนินชีวิตอะไรเลย

เฉกเช่นเดียวกันองค์กรหรือสถาบันใด ๆ ก็ตามที่ดำเนินการแล้วไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน “เมื่อความยุติธรรมกลายเป็นอยุติธรรม และ ความอยุติธรรมกลายเป็นยุติธรรม” สังคมก็จะปั่นป่วนและก่อให้เกิดปัญหาทั่วไปในสังคม คนดูออกว่ามี “สองมาตรฐาน” ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้ง ดังเป็นเงื่อนไขหนึ่งของกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะเคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้

@@@@@@

ตอนนี้ในสังคมชาวพุทธกำลังกังขากับคำแถลงของโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พูดทำนองว่า “เมื่อพระสงฆ์ต้องคดีอาญาแล้วถูกกักขัง แม้ไม่ได้กล่าวคำลาสิกขา ก็ถือว่า..ขาดจากความเป็นพระ”

คำนี้กรณีนี้คล้าย ๆ กับพูดของ คุณเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่เคยกล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า “จากการที่ตนได้สอบถามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แจ้งว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้วก็เท่ากับเป็นการสึกและแม้ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี สมณะเพศก็ได้ขาดไปแล้ว แต่สมณะศักดิ์หรือยศนั้นเป็นพระราชอำนาจ ดังนั้นเรื่องนี้จึงหมดจากสำนักพุทธฯ ไปแล้ว ถือว่าได้ขาดจากความเป็นพระแล้ว..”

แต่สุดท้าย..ท่านก็มาแก้ข่าวว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เรื่องนี้ก็ซาลงไป

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ผมสอบถามกรรมการมหาเถรสมาคมอย่างน้อย 2 รูป ได้ความว่าเป็นแค่คำรายงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาให้ “มหาเถรสมาคม รับทราบ” มิใช่ “มติมหาเถรสมาคม” เมื่อสำนักงานพุทธรายงานมาก็มีกรรมการมหาเถรสมาคมบางรูปตั้งคำถามสุดท้ายคือ “ให้ไปศึกษามาใหม่” ทำนองตีตกนั่นเอง

@@@@@@

แต่เมื่อผมฟังคำพูดของโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ช่วงแรกท่านก็ยึดหลักกฎหมายถูกต้อง แต่ตอนตอบนักข่าว..ท่านก็อาจตอบถูกในทางกฎหมายเบื้องต้นแต่ในทาง “พระวินัย และจารีตประเพณีของคณะสงฆ์” ผมว่าไม่ใช่

คณะสงฆ์ไทย มีหลักอันเป็นวิถีปฎิบัติอยู่ 3 ส่วน คือ พระธรรมวินัย,กฎหมายบ้านเมืองและจารีตประเพณี

อันดับแรกที่คณะสงฆ์สายเถรวาทบ้านเรายึดเป็น “สมณสรณะ” คือ พระวินัย เป็นแนวทางปฎิบัติมาแล้ว 2500 กว่าปี หากคณะสงฆ์ไทยหรือมหาเถรสมาคมไม่ยึดหลักอันนี้ ไม่นานเกินรอ องค์กรสงฆ์บ้านเราก็ล่มสลาย เพราะฉะนั้นมหาเถรสมาคมต้องยึดพระวินัยให้มั่น อย่าให้ฝ่ายบ้านเมืองหรือฆราวาสมาทำลาย “หลักพระวินัย” อย่าให้ “อคติส่วนบุคคล” มาทำลายล้างคณะสงฆ์

ส่วนกฎหมายของบ้านเมือง เขาจะเปลี่ยนเขาจะควบคุมสังคมอย่างไรคณะสงฆ์ก็ต้องคล้อยตาม แต่หลักพระวินัย ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องตีความอะไร

พระภิกษุจะขาดจะความเป็นพระได้ มิใช่จะพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือกรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึงชี้ขาดได้มิใช่มีรัฐมนตรีหรือท่านใดท่านหนึ่งตัดสินใจได้ อย่างน้อยมันมีองค์ประกอบของมัน

@@@@@@

ดังที่ ศ.พิเศษ ดร.จำนงค์ ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) ท่านเขียนไว้ว่า การลาสิกขาของพระนั้นจะถือว่าลาสิกขาโดยเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อพระภิกษุรูปนั้นได้กล่าวคำลาสิกขาตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้เท่านั้น ต้องเป็นการกล่าวต่อหน้าผู้รู้ความ เข้าใจความ และรู้ภาษาความหมายในคำกล่าวนั้นและเป็นการกระทำในขณะมีสภาพจิตใจเป็นปกติ ไม่ได้ถูกบังคับ ขู่เข็ญขืนใจ ดังนี้

     1) ท่านเบื่อความเป็นพระแล้ว มีจิตที่จะลาสิกขาและท่านต้องตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะลาขาดจากความเป็นพระภิกษุ
     2) ต้องเป็นการกล่าวคำลาสิกขาตามขอบเขตที่พระวินัยกำหนดไว้และต้องเข้าใจความหมายในคำกล่าวนั้นด้วย
     3) ต้องเป็นการกล่าวคำลาสิกขา ณ ปัจจุบันเท่านั้น จะไปอ้างเอาคำกล่าวในอดีตหรืออนาคตมาพูดไม่ได้
     4) ท่านต้องเปล่งวาจาลาสิกขาด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้ตำรวจ หรือใครพูดแทน
     5) พระภิกษุที่ลาสิกขา และผู้รับการลาสิกขา ต้องมีสภาพจิตใจเป็นปกติเข้าใจและรู้ความหมายในคำกล่าวลาสิกขาและบุคคลทั้งสองนั้นต้องไม่มีเวทนาหรือถูกบังคับบีบคั้นขู่เข็ญคุกคามขืนใจ
     6) ต้องเป็นการกล่าวเจาะจงเฉพาะต่อหน้า และผู้อยู่ในสถานที่ลาสิกขาเข้าใจความหมาย การลาสิกขาจึงจะสมบูรณ์ทันที แต่ถ้าบุคคลเหล่านั้นฟังแล้วยังมึนงง ไม่เข้าใจว่า พูดอะไรไม่ถือว่าเป็นการลาสิกขา ความเป็นพระภิกษุยังคงมีอยู่

ดังนั้น ตามหลักพระธรรมวินัย การลาสิกขาจะทำต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น จะทำต่อหน้าฆราวาส เช่น ตำรวจ หรือบุคคลอื่นใด ไม่นับว่าเป็นการลาสิกขา ก่อนลาสิกขาต้องแจ้งพระอุปัชฌาย์ให้อนุญาตก่อน ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่อยู่ก็เป็นอาจารย์ผู้ปกครอง ถ้ามิเช่นนั้น ก็ถือว่า หนีสึก

อันนี้คือทางพระวินัย ที่คณะสงฆ์สายเถรวาทบ้านเรายึดถือกันมานานกว่า 2500 ปีแล้ว


@@@@@@

ส่วนทางกฎหมายบ้านเมือง ศาลฎีกาก็เคยตัดสินแล้ว “ถ้าพระภิกษุไม่กล่าวคำลาสิกขา ถือว่า ไม่ขาดจากความเป็นพระ” อันนี้ถือว่าสิ้นสุด

คำว่า “สองมาตรฐาน” ที่กำลังกึกก้องและนักศึกษากำลังจะ “เคลื่อนพล” อยู่ ณ ตอนนี้อย่าให้เกิดขึ้นกับ “วงการพระสงฆ์” บ้านเรา

ความรักในสถาบันสงฆ์ผมบวชเรียนมา 15 ปี คงไม่ต้องบรรยายว่า ศรัทธามั่นคงแค่ไหนต่อสถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างไร ที่พูดและเขียนบ่อย เพื่อให้คณะสงฆ์เห็นภาพในมุมมองบางส่วน

ยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมได้รับโปรดเกล้าเป็น “มหาเปรียญ” รับพัดยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ราชกาลที่ 10 และยิ่งได้ซึมซับถูกอบรมสั่งสอนให้มีความจงรักรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นานนับสิบปียิ่งกว่าโรงเรียนนายร้อยด้วยซ้ำไป ทำให้รู้ว่าสถาบันสงฆ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเกื้อกูลกัน ขาดกันมิได้

ผมจึงเชื่อยังสุดหัวใจว่า พระพุทธศาสนาอยู่ได้ ทุกสถาบันอยู่รอด ฉะนั้น อย่าให้มหาเถรสมาคมในฐานะผู้ขับเคลื่อนองค์กรสงฆ์และพุทธศาสนาเสียหลักการไปทำลาย พระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้ เพื่อไปเอื้อต่อกฎหมายบ้านเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา..


คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง ,โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com.
ขอบคุณภาพ..สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/article/760740
พุธที่ 4 มีนาคม 2563 เวลา 11.00 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 06, 2020, 05:59:20 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ