สมาธิชาวบ้าน : ลมหายใจที่เป็นเครื่องรู้ของจิตความรู้สึกกับจิตจริงๆ แล้วเป็นตัวเดียวกันไม่ต่างกัน เวลาที่เราปฏิบัติแล้วเอาความรู้สึกเข้าไปจับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เอาความรู้สึกไปจับลมหายใจ ภาพนิมิต ความรับรู้สัมผัสทางด้านร่างกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง จนความรู้สึกมันแนบแน่นไปกับสิ่งที่รู้นั้น เป็นการฝึกโดยกำหนดเครื่องรู้ เพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่งอยู่เหนือความคิด ไม่ปล่อยให้ความคิดมันเข้ามาแทรกได้จนใจเราฟุ้งซ่านได้
การที่เราฝึกฝนจิตโดยการให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกนั้น พออยู่ไประดับหนึ่งจิตกับลมหายใจมันจะเริ่มหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ลมหายใจจะแผ่วเบาจนกลืนหายไปกับจิต เหลือแต่จิตที่สงบนิ่งเป็นหนึ่งอยู่เหนือสมมุติบัญญัติทั้งมวล ลมหายใจที่เบาลงนี้มันจะเบาลงเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องไปกำหนดมัน เพียงแต่จิตมีหน้าที่ตามรู้ตามดูมันเท่านั้น ว่าลมนี้หายใจเข้าสั้นยาวอย่างไร หนักเบาอย่างไร ก็รู้ตามธรรมชาติของมัน ดูจนลมหายใจมันแผ่วเบาและหายไปเอง เป็นอาการปกติตามธรรมชาติของฌาน
ลมหายใจที่มันเบาลงอย่างนี้จนบางครั้งมันหาลมหายใจไม่เจอ บางคนไม่เคยปฏิบัติ พอมาถึงสภาวะตรงนี้ก็จะมีอาการตกใจแล้วก็ดึงลมหายใจกลับ เหมือนอาการคนที่ขาดอากาศหายใจใต้น้ำแล้วผุดขึ้นพ้นน้ำมา ทำให้จิตถูกกระชากถอยออกจากสมาธิ ต้องเริ่มฝึกกันใหม่
@@@@@@
หลายคนไม่มีครูบาอาจารย์มาอธิบายสภาวะที่เกิดขึ้น ก็จะเกิดอาการกลัวการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นให้เรารู้ไว้ว่าอาการที่เป็นธรรมชาติของฌานสมาธิมันมีขั้นตอนแบบนี้ เมื่อจิตเริ่มได้สมาธิ อาการวิตก วิจารณ์ ปีติ เหล่านี้จะแทรกเข้ามา ก่อนจิตจะรวมกันเป็นหนึ่ง ถ้าเกิดอาการแปลกๆ ขึ้นมาในจิต เราก็แค่ดูมันเฉยๆ เท่านั้นพอ ไม่ต้องตกใจหรือไปหลงตามมัน ดูความไม่เที่ยงที่มันเกิดขึ้นของจิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไป
เมื่อเราดูไปจนมันผ่านอาการนี้ไปจนหมดสิ้นแล้ว จิตกับลมหายใจมันจะรวมกันเป็นหนึ่ง สงบนิ่งอยู่เหนือความคิดและสมมุติบัญญัติทั้งมวล คือสภาวะของจิตเดิมแท้นั่นเอง มาถึงขั้นนี้ก็อย่าเพิ่งหลงดีใจ เพราะเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นที่เป็นพื้นฐานของสมาธิเท่านั้นเอง สิ่งสำคัญคือผู้ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไปแล้วต้องเห็นจิตผู้รู้จิตเดิมแท้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติสมาธิภาวนาทั้งหมด
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดล้วนเป็นผลงานการสร้างของจิตเราทั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดล้วนเกิดจากการปรุงแต่งของจิตทั้งหมด เป็นมายาแห่งจิตทั้งนั้น จิตดวงนี้ยึดที่ไหนก็ปรุงแต่งเป็นตัวเป็นตนที่นั่น จนกว่าเราจะก้าวหลุดพ้นจากสมมุติบัญญัติของโลกนี้ไปได้เมื่อไรนั่นแหละ เป้าหมายจากการปฏิบัติจริงๆ จึงจะปรากฏ
@@@@@@
เราไม่ควรปล่อยใจเราให้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ควรหมั่นฝึกฝนจิตและเจริญภาวนาอยู่สม่ำเสมอ เพราะตัณหานั้นเมื่อเจริญขึ้นในจิตใครย่อมไม่ปล่อยให้จิตใจและวิญญาณของคนผู้นั้นพ้นจากอบายภูมิไปได้ คนที่มักมากในกามมักมากในตัณหาอาจจะมีความสุขอิ่มเอิบใจในสิ่งนั้นได้เพียงชั่วครู่แล้วก็จางหายไป และจะนำความเดือดร้อนตามมา
แต่ในบรรดาความอิ่มเอิบทั้งหลาย ความอิ่มเอิบด้วยปัญญานับว่าประเสริฐที่สุด ผู้ที่อิ่มเอิบไปด้วยปัญญานั้นย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามตัณหาทั้งหลาย เพราะผู้อิ่มเอิบด้วยปัญญาย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจแห่งความหลงมัวเมาไม่ได้
ที่สุดของการปฏิบัตินั้น ผู้ปฏิบัติจะได้เจออยู่สองอย่าง คือ เรื่องของจิต และเรื่องของความคิด อย่างอื่นไม่มีความจริงเลย แม้กระทั่งจิตดวงนี้จะยกระดับไปถึงขั้นวิปัสสนาภูมิแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีแต่ความจริงเรื่องจิตและความคิดเท่านั้น แม้จะอยู่ในสภาวะเหนือสมมุติบัญญัติ สองเรื่องนี้ก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่าระหว่างทางที่เราปฏิบัตินั้น เราต้องผ่านลักษณะอาการของจิตที่ออกจากการปรุงแต่งและสงบตัวลงแตกต่างกันไป ถ้าเรายังผ่านพ้นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติไม่ได้ เราก็จะไปถึงความเดิมแท้ของจิตไม่ได้ ถ้าไปถึงไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร.ขอบคุณ :
https://www.ryt9.com/s/tpd/3065034Sunday ,November 10, 2019 ,00:00 ,หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
บทความของ อ.บูรพา ผดุงไทย ,
www.a-burapa.com ,โทร. 02-517-4224
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ้ก พระวีระ สุขมีทรัพย์ ฐานวีโร