ภาพเหตุการณ์คดี "ลักเด็ก" สมัย ร.3 ด้านซ้ายของภาพจะเห็นชาวจีนกำลังอุ้มเด็กหญิงที่ใส่เครื่องทองทั้งสายสร้อยและกำไลมือส่งให้กับชายชาวไทยบนเรือนแพแต่งกายด้วยผ้านุ่งลายและห่มผ้าแถบทั้งสองใหล่ทิ้งชายไว้ข้างหลัง การแต่งกายแบบนี้บ่งบอกว่าเป็นนักเลง บนเรือนแพยังมีเด็กชายอุ้มไก่ด้วยมือซ้ายส่วนมือขวาอยู่ที่บริเวณใบหน้าท่าทางแบบนี้คือการร้องไห้ เด็กชายมีเครื่องทองติดตัวอยู่มิใช่น้อยเช่นกัน ชาวจีนที่อยู่ถัดไปที่ออกมาจากเรือนแพคงเป็นพวกอ้ายผู้ร้ายลักเด็กเช่นกัน ส่วนทางขวาของภาพหญิงสูงวัยก้าวออกมาจากซุ้มประตูบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ริมท่าน้ำ คงเป็นย่าหรือยายของหลาน ๆ ที่ถูกลักตัวไป กำลังฟังบ่าวไพร่ชายสองคนเล่าเหตุการณ์
คนไทยเรียก “เด็กไม่เอาถ่าน” หมายถึงเด็กไม่ดี ดูเหตุทำไม “เด็ก” ต้อง “เอาถ่าน”.?คำพูดโบราณที่เราได้ยินกันอยู่เสมอว่า “เด็กไม่เอาถ่าน” ซึ่งมีความหมายว่าเด็กคนนี้ไม่เอาดี หรือไม่เอาไหนเสียเลย คำพูดดังกล่าวนี้ก็ยังใช้กับผู้ใหญ่อีกด้วยโดยกล่าวกันว่า “คนนี้ไม่เอาถ่าน” ซึ่งก็มีความหมายเหมือนกับที่ใช้ต่อเด็ก
ผู้เขียนได้นำคำพูด “เด็กไม่เอาถ่าน” นี้มาวิเคราะห์ และก็มองไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เด็ก และถ่าน ซึ่งคำว่าถ่านในที่นี้หมายความว่า เป็นวัตถุหรือสิ่งที่ดีที่เด็กควรจะรับเอาไว้ หรือมีติดตัวอยู่ ในเมื่อคำพูดดังกล่าวนี้เป็นการเปรียบเทียบ ผู้เขียนก็สนใจความเป็นมาระหว่าง “เด็ก” และ “ถ่าน”
จากการค้นคว้าและวิเคราะห์ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เด็ก และถ่านนี้ ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย วัตถุที่เป็นถ่านนี้ มีคุณสมบัติอะไรที่เด็กควรนำมาใช้ หรือมีติดตัวเอาไว้ผู้เขียนยังมองไม่เห็นนอกจากว่า ถ่านสามารถให้ความร้อนหรือไฟได้ ซึ่งก็คงไม่ตรงเท่าไรกับความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ กล่าวคือ “เด็กไม่เอาถ่าน” คงจะหมายถึง เด็กที่ไม่เอาไฟ หรือมีไฟในการทำอะไรอย่างหนึ่ง
เมื่อได้นำคำว่า เด็ก มาพิจารณาดูแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า “เด็ก” เป็นคำที่ใช้กันมาผิด หรือเพี้ยนไป โดยสันนิษฐานว่าคำที่ถูกเรียกหรือกล่าวกันมาแต่โดบราณคือ เหล็ก ซึ่งเดิมคงเป็นว่า “เหล็กไม่เอาถ่าน”
คำกล่าวดังนี้ คงเป็นที่ใช้กันมาแต่สมัยโบราณ โดยเริ่มจากพวกที่ทำกิจการที่เกี่ยวกับเหล็ก เช่นการถลุงเหล็ก หรือการตีเหล็กเป็นต้น แล้วก็ได้แพร่เข้าไปในกลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่นอกวงการทำเหล็ก และได้นำคำกล่าวนี้มาใช้ในการเปรียบเทียบ
@@@@@@
ขั้นต่อไปที่น่านํามาพิจารณาดูคือ ทําไมถึงเหล็กไม่เอาถ่าน หรือเหล็ก และถ่านนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ผู้เขียนมีข้อสังเกตอยู่ว่า เหล็ก และถ่านนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน
เหล็ก จะหมายถึงโลหะที่เป็นเหล็ก และถ่านจะหมายถึงถ่านที่นําเอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อเผาแล้วก็จะปล่อยคาร์บอนด์หรือถ่านออกมาในเตาเผา และตัวโลหะเหล็กที่แยกตัวออกมาจากก้อนแร่ในตอนถลุงก็จะรับคาร์บอนด์จากถ่านที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการถลุงแร่เข้าไปในเนื้อโลหะเหล็ก ดังนั้น เหล็กที่มีคุณภาพดี คือ เหล็กที่มีถ่านหรือคาร์บอนด์เข้าไปปนอยู่ในเนื้อโลหะหลังจากการถลุง ถ้าเหล็กไม่มีถ่านผสมอยู่ด้วย ก็คือ เหล็ก ที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งไม่มีลักษณะที่เหนียว และแข็ง เหล็กที่เหนียวและแข็ง หรือที่เรียกกันว่า เหล็กกล้า (steel) คือเหล็กที่มีถ่านผสมเข้าไปอยู่ด้วย แต่เหล็กที่ดีก็ยังขึ้นอยู่กับปริมาณของคาร์บอนด์ที่เข้าไปผสมอยู่ด้วย ถ้ามีมากเกินไป ก็จะทําให้คุณภาพไม่ดีได้ เหล็กกล้าจะมีปริมาณของคาร์บอนด์ผสมอยู่ระหว่าง 0.1% ถึง 1.8% การที่มีคาร์บอนด์มากเกินไปในเหล็กก็จะทําให้เหล็กมีความเปราะ
จากประสบการณ์และการทดลองหลายครั้ง ช่างทําเหล็กในสมัยโบราณก็คงจะทราบถึงวิธีและเทคนิคต่าง ๆ ในการผลิตเหล็กออกมาให้มีลักษณะที่เหนียวและแข็งพร้อมกัน ปรากฏการณ์ของดาบหักบ่อยครั้งก็แสดงถึงผลผลิตที่ไม่ดีในการทําเหล็ก การที่เหล็กไม่เอาถ่านเข้าไปผสมอยู่ในเนื้อโลหะ ก็เป็นผลผลิตที่ไม่ดีอย่างหนึ่งของการทําเหล็ก ในบรรดาพวกช่างทําเหล็กก็คงจะกล่าวกันบ่อยครั้งถึงการที่เหล็กไม่เอาถ่านจนกลายมาเป็นคําพูดที่ใช้นอกวงการทําเหล็กไปด้วยในที่สุด
ถ้าข้อสมมุติฐานเป็นไปอย่างที่ได้ตั้งเอาไว้จริง ปัญหาที่ตามมาคือ ทําไมคําว่า “เหล็ก” ได้กลายมาเป็น “เด็ก” อย่างที่กล่าวกันทุกวันที่ว่า “เด็กไม่เอาถ่าน” เหตุผลซึ่งก็เป็นข้อสมมติฐานอีกคือ เสียง “ละ” ได้ เปลี่ยนหรือกลายเป็นเสียง “ด”
@@@@@@
พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงคําเฉพาะบางคําเกี่ยวกับการกลายเสียงไว้ว่า
“การกลายเสียงนั้นเป็นอย่างสม่ำเสมอ เช่นเสียง ด จะกลายเป็น ล เสมอไป อย่างนี้เรียกว่า การเปลี่ยนเสียงเป็นไปตามกําหนด (constitutive sound change) หรือการเปลี่ยนเสียงเป็นไปตามอวัยวะที่ออกเสียง (organic sound change) 1
การเปลี่ยนเสียงจาก ด เป็น ล ก็คงจะเปลี่ยนกลับกันได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ล เป็น ด หรือ “เหล็ก” มา เป็น “เด็ก” เป็นต้น
นอกจากนี้ พระยาอนุมานราชธน ก็ยังได้กล่าวถึงลักษณะที่ความหมายจะกลายและบางคําเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น
“ประเพณี และการเล่นลางอย่า เมื่อเลิกนิยมกันแล้ว คําเหล่านั้นก็ตายไปด้วย แม้ยังคงเหลือใช้อยู่ในภาษา ความหมายก็กลายไป เช่น เสียรังวัด ไม่เอาถ่าน ตัดหางปล่อยวัด เป็นต้น”2
คําว่า “ไม่เอาถ่าน” นี้ พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวไว้ว่า “เป็นคําที่เกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งเลิกทํากันไปแล้ว แต่ก็ยังติดมาเป็นคําในภาษา และเป็นคําอุปมาที่มีความหมายย้ายที่ ตัวอย่างอื่น ๆ จะเห็นได้จากคําที่เกี่ยวกับการเล่นการพนันลางชนิด เช่น คําเกี่ยวกับหมากรุก ซึ่งได้แก่ ไม่ดูตาม้าตาเรือ ถูกฆ่า รุกใหญ่ เข้าตาจน จนมุม ตกอับ จนกลางกระดาน และหมดตาสู้”3
ขุนวิจิตรมาตรา หรือ กาญจนาคพันธ์ ซึ่งเป็นนามปากกาก็ได้กล่าวถึงความเป็นมาของคําพูดต่าง ๆ รวม ทั้ง “ไม่เอาถ่าน” ไว้ในหนังสือสํานวนไทย และก็ได้ให้เหตุผลคล้ายกับที่พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้เช่นกัน4
จากการวิเคราะห์ที่ผ่านมานี้ได้แสดงให้เห็นการสืบทอดของคําพูดตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่คนปัจจุบันใช้กันอย่างมากมายและไม่ทราบถึงความหมายถึงที่มาอันเดิมอย่างทั่วกัน “เหล็ก” หรือ “เด็กไม่เอาถ่าน” ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งได้แสดงถึงความสามารถ และความฉลาดของคนโบราณ ที่รู้ถึงความสำคัญของถ่านที่มีต่อเหล็ก แล้วก็นำมาพูดกันจนได้เพี้ยนไป
@@@@@@
คนโบราณมีความสามารถซึ่งคนปัจจุบันนึกไม่ถึง การทำเหล็กและตีดาบ ก็เป็นศิลปะชนิดหนึ่งที่ช่างฝีมือดีจะหวงตำรา เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดถึงเทคนิคแล้ว เราจะเห็นว่ากระบวนการทำดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน ที่ได้บรรยายไว้ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นเต็มไปด้วยวิธีการที่จะทำให้ดาบมีคุณภาพดี โดยขั้นตอนต่างๆ ที่มีความสำคัญอย่างลึกลับ ซึ่งคนธรรมดาจะรู้ไม่ถึง ตอนสำคัญของการทำดาบฟ้าฟื้นมีดังต่อไปนี้
“เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ
ยอดปราสาททวารามาประสม
เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม
เหล็กตรึงโลกตรึงปั้นลมสลักเพชร
หอกสัมฤทธิ์กริชทองแดงพระแสงหัก
เหล็กปะฏักสลักประตูตะปูเห็ด
พร้อมเหล็กเบญจพรรณกัลเม็ด
เหล็กบ้านพร้อมเสร็จทุกสิ่งแท้
เอาเหล็กไหลเหล็กหล่อบ่อพระแสง
เหล็กกำแพงน้ำพี้ทั้งเหล็กแร่
ทองคำสัมฤทธิ์นากอแจ
เงินที่แท้ชาติเหล็กทองแดงดง
เอามาสุมคุมควบเข้าเป็นแท่ง
เผาให้แดงตีแผ่แช่ยาผง
ไว้สามวันซัดเหล็กนั้นเล็กลง
ยังคงแต่พองามตามตำรา
ซัดเหล็กครบเสร็จถึงเจ็ดครั้ง
พอกระทั่งฤกษ์เข้าเสาร์สิบห้า
ก็ตัดไม้ปลูกศาลขึ้นเพียงตา
แล้วจัดหาสารพัดเครื่องบัตร์พลี
เทียนทองติดตั้งเข้าทั้งคู่
ศีรษะหมูเป็ดไก่ทั้งบายศรี
เอาสูบทั่งตั้งไว้ในพิธี
เอาถ่านที่ต้องอย่างวางไว้ในนั้น
ช่างเหล็กฝีมือดีลือทั้งกรุงผ
ผ้าขาวนุ่งขาวห่มดูคมสัน
วางสายสิญจน์เสกลงเลขยันต์
คนสำคัญคอยดูซึ่งฤกษ์ดี
ครั้นได้พิชัยฤกษ์ราชฤทธิ์
พระอาทิตย์เที่ยงฤกษ์ราชสีห์
ขุนแผนสูบเหล็กให้แดงดี
นายช่างตีรีดรูปให้เรียวปลาย
ที่ตรงกลางกว้างงามสามนิ้วกึ่ง
ยาวถึงศอกกำมาลูกหน้าไก่
เผาชุบสามแดงแทงตะไบ
บัดเดี๋ยวใจเกลี้ยงพลันเป็นมันยับ
อานดีมิได้มีขนแมวพาด
เลื่อมปราดนเอเขียวดูคมหนับ
เลื่อมพรายคล้ายแสงแมลงทับ
ปลั่งปลาบวาบวับจับแสงตะวัน
ด้ามนั้นทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์
จารึกยันต์พุทธจักรที่เหล็กกั่น
เอาผมพรายร้ายดุประจุพลัน
แล้วเอาขันกรอกด้ามเสียบัดดล
ครั้นเสร็จสรรพจับแกว่งแสงวะวับ
เกิดโกลาฟ้าพยับโพยมหน
เสียงอื้ออึงเอิกเกริกได้ฤกษ์บน
ฟ้าคํารนฝนพยับอยู่ครั่นครื้น
ฟ้าผ่าเปรี้ยงเปรียงเสียงโด่งดัง
ขุนแผนนั่งจิตฟูให้ชูชื่น
ได้นิมิตน้ําเปรี้ยงดังเสียงปืน
ให้ชื่อว่าฟ้าฝนอันเกรียงไกร…”5
@@@@@@
กระบวนการที่จะทําให้ดาบฟ้าฟื้นมีคุณภาพที่เหนียว แข็ง และคงที่ได้นั้น จะแอบแฝงอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น “เผาให้แดงตีแผ่แช่ยาผง” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ปัจจุบันเรียก กันว่า quenching โดยนําเอาเหล็กที่เผาแดงซึ่งในเนื้อเหล็กมีคาร์บอนด์เข้าไปอยู่แล้วนําไปจุ่มลงในน้ำเย็นทันที วิธีการนี้จะทําให้เหล็กแข็งตัวดีขึ้น นอกจากการแข็งตัวของเหล็กแล้ววิธีการทําเหล็กไม่ให้เปราะ คือ annealing โดยปล่อยให้เหล็กค่อย ๆ เย็นลงหลังจากการเผาให้แดง กระบวนการที่ฉลาดเช่นนี้คงจะสะท้อนอยู่ในประโยค “ไว้สามวันซัดเหล็กนั้นเล็กลง” และ “ซัดเหล็กครบเสร็จถึงเจ็ดครั้ง” สําหรับถ่านนั้น ช่างเหล็กโบราณก็ใช้และให้ความสําคัญดังเห็นได้ในประโยค “เอาสูบทั่งตั้งไว้ในพิธี เอาถ่านที่ต้องอย่างวางในนั้น”
ช่างทําดาบนี้จะสามารถทําให้ดาบมีคุณภาพที่เหนียว และแข็งได้ดีขึ้นโดย tempering หรือการนําดาบหลังจาก quenching และ annealing ไปลนไฟเพื่อเพิ่มความร้อนที่ไม่สูงนักให้กับโลหะอีกหลายครั้ง วิธีการนี้คงจะสะท้อนอยู่ในประโยค “ขุนแผนสูบเหล็กให้แดงดี” และ “เผาชุบสามแดงแทงตะไบ”
วิธีการดังกล่าวนี้คงมีมานานแล้ว จนคนเขียนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนได้นํามาบรรยาย และแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของช่างทําดาบเหล็กในสมัยโบราณของไทย
การใช้เครื่องมือหรืออาวุธที่ทําด้วยเหล็ก คงจะใช้กันมาหลายร้อย หรือพันกว่าปีมาแล้ว ในสมัยลพบุรี อาวุธเหล็กมีบทบาทที่สําคัญเนื่องจากมีการรบกันบ่อยครั้ง มีหลักฐานของการใช้อาวุธซึ่งสันนิษฐานว่าทําด้วยเหล็กจากภาพสลักบนฝาผนังหินที่นครวัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกองทัพของละโว้ และกองทัพสยาม ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่สอง กลางคริสต์ศตวรรษที่ 126
@@@@@@
ในสมัยสุโขทัย ศิลาจารึกหลัก ที่ 38 หน้า 2 บันทัดที่ 35 ได้กล่าวถึงคนหนึ่งที่ “ถือหอกดาบ ตราบ เครื่องเหล็กใหญ่โต” ซึ่งเป็นหลักฐานของการใช้อาวุธเหล็กในสมัยสุโขทัย ในสมัยต่อมา อาวุธเหล็กมีบทบาทมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากพระแสงราชศาสตรา และสรรพาวุธยุทธพาห์ของพระมหากษัตรย์
มีคําพูดที่รู้จักกันดีที่ว่า “เมื่อเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายดีเหล็ก” นี้แสดงให้เห็นถึงการแบ่งการใช้แรงงานระหว่างหญิงและชายหลังฤดูการทํานา แต่มีข้อยกเว้นดังเห็นได้จากการที่ผู้หญิงสามารถตีเหล็กได้เหมือนกับผู้ชาย เช่นที่บ้านอรัญญิก จังหวัดอยุธยา โดยทั้งหมู่บ้านดําเนินกิจการทําเครื่องมือเหล็กชนิดต่างๆ กันมาช้านาน ในแผนที่ยุทธศาสตร์ครั้งรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ได้แสดงถึงบ้านอรัญญิก (อะระยิก) และบ้านอื่น ๆ ที่สําคัญในการทําเหล็ก เช่นที่บ้านดีลัง (อรัง)
แผนที่นํามาประกอบบทความนี้ สันนิษฐานว่าทําขึ้นในรัชกาลที่ 3
แผนที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ภาพจากบทความ “เด็กไม่เอาถ่าน?” โดยพรชัย สุจิตต์ ใน ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2525
จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านอรัญญิก (เมื่อ พ.ศ. 2525) ปรากฏว่าผู้หญิงชาวอรัญญิก มีความสามารถเท่ากับผู้ชายในการใช้ค้อนเหล็กหนัก 5 กิโลกรัมกว่าในการตีมีด หรือดาบดังที่เห็นได้จากสองภาพที่ประกอบมาด้วยนี้ ซึ่งชาวบ้านอรัญญิกปัจจุบันได้แสดงถึงวิธีการตีเหล็กแบบสมัยโบราณ กิจการเช่นนี้ ได้แสดงถึงความสามารถอย่างหนึ่งของหญิงชาวอรัญญิกตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันก็คงจะมีเหลืออยู่ไม่กี่คนที่ยังสามารถยกค้อนตีเหล็กได้สตรีจากบ้านอรัญญิก แสดงวิธีการตีเหล็กแบบสมัยโบราณ ภาพจากบทความ “เด็กไม่เอาถ่าน?” โดยพรชัย สุจิตต์ ใน ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2525
ตามที่เป็นมาแล้ว เราจะเห็นว่า การแบ่งการใช้งานนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพทางกายภาพโดยเสมอไป แต่ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย วัฒนธรรมของแต่ละสังคมมีบทบาทที่สําคัญในการแสดงออกของการแบ่งการใช้แรงงานระหว่างชายหญิงซึ่งในแต่ละสังคมก็ทําไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าจะ พูดว่าผู้หญิงไม่เอาถ่านในการตีเหล็กก็ไม่ถูกเท่าไรนัก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้เข้าทุกวันเชิงอรรถ :-
1. พระยาอนุมานราชธน , นรกติ ศาสตร์ ภาค 2 โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ 2516 หน้า 169.
2. Ibid. หน้า 219,
3. Ibid. หน้า 236.
4. กาญจนาคพันธ์, สํานวนไทย
5. เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ โรงพิมพ์คลังวิทยา 2506 หน้า 356-58.
6. Groslier, B.P. ANGKOR : HOMMES ET PIERES, b. Arthaud, Paris, 1986.
7. น้ำ ทองคําวรรณ, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 สํานักนายกรัฐมนตรี 2508 หน้า 34.
8. ภาพถ่ายจากนิทรรศการ การทํามีดอรัญญิก ที่สวนอมพร 2524
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2525
ผู้เขียน : พรชัย สุจิตต์
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 30 เมษายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/culture/article_36092เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2562