ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยวตะลอน 3 เมือง 3 ลุ่มน้ำ "ชัยนาท-อุทัยธานี-นครสวรรค์"  (อ่าน 895 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เที่ยวตะลอน 3 เมือง 3 ลุ่มน้ำ "ชัยนาท-อุทัยธานี-นครสวรรค์"

เมื่อ เจ๊แป๋ม รีไรเตอร์มือเก๋าของสำนักข่าวหัวเขียว แอบแว่บไปเที่ยวเมือง ชัยนาท-อุทัยธานี-นครสวรรค์ ในขบวน แรลลี่สื่อจิตอาสา โดยมี เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด ในฐานะนายกสมาคมวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม งานนี้นอกจากจะร่วมกิจกรรมดีๆแล้ว เจ๊ยังเก็บตกเรื่องราวประทับใจใน 3 เมือง 3 ลุ่มน้ำมาฝากอีกด้วย


กิจกรรมแรกของทริปนี้ คือ การลงเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ เขื่อนเรียงหิน และในฐานะลูกโดม คณะเลือกที่จะไปกินข้าวกลางวันกันที่ ศูนย์การเรียนรู้ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นทั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน และ ศูนย์ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในหลายสาขา อาทิ การทำนาปลูกข้าว ที่ถือว่าอะเมซิ่งมากคือปลูกเพียง 1 ไร่ แต่ได้ผลผลิตถึง 2 ตัน

นอกจากเป็นศูนย์แล้ว ที่นี่ยังมีอนุสรณ์สถาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญที่ยูเนสโกยกย่อง บริเวณอนุสรณ์สถาน จัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ ดร.ป๋วย ที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติและจังหวัดชัยนาท โดยเฉพาะความเป็นมาของอาจารย์ป๋วยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวพันกับชัยนาท โดยท่านเป็นผู้วางรากฐานทางเศรษฐกิจและการเงินในสมัยนั้น ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีของการปฏิบัติตัว การเป็นข้าราชการที่ดี มีความตรงไปตรงมา เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของชัยนาทที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้...!!




ออกจากชัยนาท คณะแวะสักการะพระพุทธชินราชจำลอง และสรีรสังขาร หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ที่วัดท่าซุง ก่อนเข้าเมืองอุทัยธานีที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งพระชนกจักรี หลังเข้าที่พักเก็บข้าวของแล้ว ก็ได้เวลาออกตะลอนหาของอร่อยๆกินที่ถนนคนเดิน ตรอกโรงยา ซึ่งมีเฉพาะวันเสาร์วันเดียวเท่านั้น

ฝั่งตรงข้ามตรอกโรงยามีร้านกาแฟเลื่องชื่อ คือร้าน ป้าทอง ถือเป็นร้านกาแฟในตำนาน เปิดมาเกือบ 50 ปี แต่ยังคงวิถี สภากาแฟ ของชาวอุทัยธานี ที่ในตอนเช้าๆคนในตลาดจะมารวมตัวกินกาแฟโบราณฝีมือ ลุงวิรัช สามีป้าทอง และตั้งวงสนทนากันตั้งแต่เรื่องปากท้อง จนถึงเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง แม้ว่าปัจจุบันจะมีร้านกาแฟสดเปิดขึ้นมากมาย แต่ร้านป้าทองก็ยังครองใจ นักกินกาแฟเมืองอุทัยฯ



จากร้านป้าทอง เดินข้ามถนนมาถึงหัวถนนเข้าตรอกโรงยาอีกด้าน พลาดไม่ได้กับ ร้านหมูสะเต๊ะคุณอ้อ หมูสะเต๊ะบัตรคิว ที่ขายดิบขายดี เพราะความอร่อยของเนื้อหมูที่ผ่านการหมักมาอย่างดี นุ่มลิ้น น้ำจิ้มกลมกล่อม คุณอ้อ เจ้าของร้าน บอกว่าขายไม่มากแค่เสาร์ละ 9,000 ไม้ ไม้ละ 5 บาท เปิดร้านแค่เย็นวันเสาร์ ตั้งแต่ 4 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม รายได้ตก 45,000 บาทต่ออาทิตย์

การเดินตลาดทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวอุทัยธานี ที่บอกเลยว่าเรียบง่าย มาถึงอุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำก็นอน ตื่นก็กิน เพราะของกินอร่อยๆ มีมากมายหลายร้าน ทั้ง น้ำพริกป้าใจ ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก ขนมปังสังขยาร้านต้นตำรับไพพรรณ ร้านสิริกุล ข้าวกุ้งกรอบแม่ป๋วยลั้ง เรียกว่าถ้ามาสักเดือนคงลดน้ำหนักกันไม่ไหว



สวัสดีอุทัยธานีกันตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อไปตลาดเช้า ลานสะแกกรัง สมัยที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟู กิจกรรมใส่บาตรพระทางน้ำเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ใครอยากได้รูปสวยๆเก๋ๆ ที่นี่เขามีบริการผ้าถุงฟรีสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการนุ่งผ้าไทยใส่บาตร พร้อมถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก


วันนี้กิจกรรมของคณะคือ การเดินขึ้นเขา สะแกกรัง เพื่อสักการะรอยพระบาทที่ วัดสังกัสรัตนคีรี ก่อนไปชมหมุดแผนที่ประเทศไทยที่ใช้คำนวณและแบ่งแนวเขตเพื่อลงพิกัดแผนที่โลก ที่อยู่ใกล้ๆกัน ถือเป็น 1 ใน 3 หลักหมุดโลกในทวีปเอเชีย ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ที่อินเดียกับเวียดนาม แม้หมุดแผนที่จะไม่สวยงาม แต่ก็มีความสำคัญในการรังวัดทำแผนที่ของไทย นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของเมืองอุทัยธานีแบบ 360 องศาอีกด้วย



ลงจากวัดสังกัสรัตนคีรี ขับรถตะลอนเที่ยวต่อไปจนถึงตำบลฆะมัง จนเข้าเขตอำเภอชุมแสง จ.นครสวรรค์ เป้าหมายคือ ร้านครัวรุ่งทิพย์ ในซอยวัดฆะมัง ที่มีชื่อเสียงว่าอาหารอร่อย โดยเฉพาะเมนูปลาแม่น้ำ ที่ใช้ปลาสดๆจากแม่น้ำน่าน บวกกับฝีมือทำอาหารแบบโฮมเมด ตัวร้านเป็นแบบบ้านๆแต่ดังเรื่องปลามานาน ไม่ว่าจะเป็น ผัดฉ่าลูกชิ้นปลากราย ฉู่ฉี่ปลาเนื้ออ่อน ต้มยำปลาน้ำเงิน ทอดมันปลากราย ที่ทำจากปลาล้วนๆ เมื่อไหร่คลายล็อกดาวน์ แนะนำให้ไปชิม เพราะอร่อยแบบไทยๆจริงๆ

เจ้าของร้านบอกว่า ตอนนี้ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล Social Distancing ไม่ให้ลูกค้านั่งทานในร้าน แต่สามารถสั่งกลับบ้านได้



ระหว่างกลับจากฆะมัง ผ่านบ้านเกยไชย แดนดงตาล แวะซื้อน้ำตาลสดกับจาวตาลอ่อนๆขาวสะอาด นึกถึงรากบัวเชื่อม น้ำรากบัว ที่ทำจากรากบัวสดๆของบึงบอระเพ็ด เป็นสินค้าเชิดหน้าชูตาของตำบล มีขายเฉพาะที่ตำบลทับกฤชเท่านั้น จิบน้ำรากบัวสดแช่เย็นเจี๊ยบชุ่มคอชื่นใจ ระหว่างทางขากลับ แวะเที่ยวกันที่พาสาน สัญลักษณ์จุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ จุดเช็กอินแสนเก๋อีกแห่งของบรรดานักท่องเที่ยว

แดดยามเย็นส่องประกายสีทองระยิบระยับ บนสายน้ำที่ไหลจาก 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน มาเป็น 2 สายและมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาตรงจุดนี้ ยืนมองสายน้ำที่ไหลล่องลงไป ทำให้นึกถึงคำพูดที่ว่า สายน้ำไม่มีวันไหลกลับ ก็เหมือนชีวิตของคนเราที่มีแต่เดินหน้าไป ไม่มีวันย้อนคืนมา

แน่นอน...ชีวิตต้องเดินต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม



ขอบคุณ ; https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/thaitravel/1839574
คอลัมน์ :เที่ยวตามตะวัน , ไทยรัฐฉบับพิมพ์ ,9 พ.ค. 2563 ,05:10 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ