ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พ.ศ. 2442 ยกเลิกคำว่า “ลาว” เกิดคำว่า “อีสาน” และภาคอีสานนิยม  (อ่าน 874 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การแห่ปราสาทผึ้งของชาวบ้านที่มารอเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการเมืองนครพนม พ.ศ. 2449 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


พ.ศ. 2442 ยกเลิกคำว่า “ลาว” เกิดคำว่า “อีสาน” และภาคอีสานนิยม

พ.ศ. 2434 ราชสำนักกรุงเทพฯได้รวมหัวเมืองต่างๆ มาเป็นมณฑล แต่ยังไม่ได้จัดเป็นแบบเทศาภิบาล จนถึง พ.ศ. 2437 จึงได้ตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 3 มณฑล คือ

1. มณฑลลาวกลาง พระยาประสิทธิศิลปการ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มีที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย 3 เมือง คือ นครราชสีมา, ชัยภูมิ และบุรีรัมย์

2. มณฑลลาวกาว มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑล มีที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ประกอบด้วย 7 เมือง คือ อุบลราชธานี, นครจำปาศักดิ์, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

3. มณฑลลาวพวน มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ก่อน พ.ศ. 2436 มีหัวเมืองทางฝั่งซ้ายรวมอยู่ด้วย และมีแคว้นพวนเป็นแคว้นใหญ่ มีเมืองเชียงขวางเป็นเมืองสําคัญ และทรงตั้งชื่อมณฑลลาวพวนตามชื่อ เมืองพวน ภายหลัง พ.ศ. 2436 เมืองในมณฑลนี้จึงเหลือเพียง 6 เมือง คือ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร เลย หนองคาย ตั้งที่บัญชาการอยู่ที่เมืองอุดรธานี (เดิมอยู่ที่หนองคาย)


@@@@@@@

นโยบายรวมศูนย์อํานาจดังกล่าวนี้ อํานาจการปกครองตนเองของบรรดาเจ้าเมืองท้องถิ่นเดิม ถูกแทนที่โดยพวกเจ้าและ “ข้าราชการ” ตามระบบใหม่จากส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2442 ได้โปรดฯ ให้แก้ไขชื่อมณฑลในอีสานใหม่ ดังเหตุผลที่สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายในนิทานโบราณคดีไว้ว่า

“ลักษณะการปกครองแต่เดิม นิยมให้เป็นอย่างประเทศราชาธิราช (Empire) อันมีเมืองคนต่างชาติต่างภาษาเป็นเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขต จึงถือว่าเมืองชายพระราชอาณาเขต มณฑลนั้นเป็นเมืองลาว และเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชนชาติไทยว่าลาว แต่ลักษณะการปกครองอย่างนั้นพ้นเวลาอันควรแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง จึงทรงพระราชดําริให้แก้ไขลักษณะการปกครองเปลี่ยนเป็นอย่างพระราชอาณาเขต (Kingdom) ประเทศ ไทยรวมกัน”

จึงโปรดเกล้าฯ ประกาศให้เรียกชื่อตามทิศและตามพื้นที่ ให้เป็นระเบียบเดียวกัน คือ มณฑลลาวกลาง เรียกว่า มณฑลนครราชสีมา, มณฑลลาวพวน เรียกว่า มณฑลฝ่ายเหนือ ต่อมา พ.ศ. 2443 เรียกว่ามณฑลอุดร ส่วนมณฑลลาวกาวใน พ.ศ. 2442 นั้น เรียกว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และ พ.ศ. 2443 เรียกว่ามณฑลอิสาน

@@@@@@@

จะเห็นได้ว่า “อิสาน” หรือ “อีสาน” เป็นคําใหม่ที่ราชสํานักกรุงเทพฯ สร้างขึ้นและเริ่มนํามาใช้แทนที่เป็นครั้งแรกในปีดังกล่าว และจะพบว่ามณฑลอิสานหรืออีสานในช่วงนี้ก็คือ การรวมหัวเมืองห้าหัวเมืองเข้าด้วยกัน คือ อุบลราชธานี จําปาศักดิ์ ขุขันธ์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด เป็นที่น่าสังเกตว่า คําว่า “อีสาน” และ “ตะวันออกเฉียงเหนือ” ทั้งสองคํานี้ได้ถูกนํามาใช้เรียกแทนคําว่า “ลาว” ที่มีเมืองอุบลฯ เป็นศูนย์บัญชาการ

และต่อมาพบว่า “อิสาน” หรือ “อีสาน” ได้เริ่มถูกนํามาใช้ในการตั้งชื่อพงศาวดารของหัวเมืองแถบนี้ด้วย ดังปรากฏในงานของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรื่องพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน แต่งขึ้นเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งปลัดมณฑลอีสานนั้นเคยพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 และพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาศรีสํารวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) เมื่อ พ.ศ. 2458

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าราชสํานักกรุงเทพฯ ได้มีความพยายาม สร้างสํานึกแบบใหม่ในอีสานและความพยายามนี้มีผลต่อการลดทอนความเป็นลาวลงด้วย ต่อมาใน พ.ศ. 2455 ได้ตั้งมณฑลอีกหนึ่งมณฑลคือ มณฑลร้อยเอ็ด โดยแบ่งท้องที่มาจากมณฑลอีสาน ส่วนมณฑลอีสานได้เปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลอุบล


@@@@@@@

นโยบายการรวมอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดการสถาปนาความมั่นคงของพระราชอํานาจ ซึ่งส่งผลต่อนโยบายสร้างชาติแล้ว แต่ยังส่งผลต่อการเกิดสํานึกในท้องถิ่นอีกด้วย (โดยท้องถิ่นในความหมายนี้เป็นความหมายในเชิงพื้นที่) ดังเช่น ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลวงวรนิติปรีชา ภูมิลําเนาอยู่มณฑลอุดร และได้รับราชการอยู่ที่มณฑลนั้น (ใน พ.ศ. 2476 ได้รับเลือกเป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดสกลนคร) ได้มีบันทึกความเห็นทางด้านการปรับปรุงการปกครองเกี่ยวกับมณฑลอุดรมายัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2475 ว่า

“…1. การคมนาคม ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้ารัฐบาลสามารถทําได้ ควรต้องให้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟจากขอนแก่นไปอุดรธานี และนครพนมโดยทันทีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป… เพราะทางรถไฟสายอื่นที่จําเป็นรัฐบาลได้ทําเสร็จไปหมดแล้ว เหลืออยู่แต่สายนี้เป็นสายเดียวเท่านั้นเป็นสายสุดท้าย…

2. การศึกษาข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจัดตั้งให้ มีการสอนชั้นมัธยม 7-8 ขึ้นที่มณฑลนี้และตามจังหวัดต่างๆ ของมณฑลนี้ควรให้มีถึงชั้นมัธยม 6 ทุกแห่ง เหตุไรจึงว่าดังนั้น ก็เพราะเหตุว่ามณฑลภาคเหนือคือพายัพ มณฑลภาคใต้คือนครศรีธรรมราช รัฐบาลได้จัดให้มีถึงชั้น 8 มานานหลายปีแล้ว จึงนับได้ว่ามณฑลที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ยังมีเพียงมัธยม 6 ก็แต่อุดรเท่านั้น จึงคิดว่าควรหรือไม่…”

@@@@@@@

จากข้อความข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นได้ประการหนึ่งก็คือ สํานึกท้องถิ่นนิยมที่มีความเกี่ยวพันกับมณฑลที่ตนอยู่อาศัยได้เกิดขึ้น แล้วในอีสานในช่วง พ.ศ. 2475 ซึ่งก่อนหน้านั้นจะพบว่า หน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่มีขนาดถัดลงไปจากมณฑลเทศาภิบาล ได้แก่ เมือง กล่าวคือก่อนการปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองในสยามประเทศ “เมือง” เป็นหน่วยการปกครองที่มีความสําคัญที่สุดและมีบทบาทมากที่สุด และนับได้ว่าเป็นหน่วยการปกครองหลักเพียงหน่วยเดียวในการปกครองส่วนภูมิภาค

ดังนั้น เมื่อรัฐไทยส่วนกลางได้เข้ามาจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น จึงมีผลต่อการเริ่มต้นของสํานึกแบบภูมิภาคนิยม

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางประการเกี่ยวกับการจัดส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งแต่เดิมมามณฑลเทศาภิบาลเป็นหน่วยการปกครองที่ใหญ่ที่สุด แต่การเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมอาณาเขตของมณฑลเทศาภิบาลหลายๆ มณฑลเข้าด้วยกันเป็นเขตการปกครองที่เรียกว่า “ภาค”

และในครั้งนี้ก็ได้ทรงประกาศรวมมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบลราชธานี ขึ้นเป็น “ภาคอิสาน” ในปี พ.ศ. 2465 โดยมีอุปราชภาคประจํา และมีที่บัญชาการภาค ณ เมืองอุดรธานี และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกุลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นอุปราชภาค


@@@@@@@

และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทวีความรุนแรงขึ้น พระองค์จึงทรงปลดข้าราชการ และยุบตําแหน่งทางการปกครองที่ไม่จําเป็นลงเพื่อประหยัดรายจ่ายของแผ่นดิน โดยใน พ.ศ. 2468 พระองค์ทรงประกาศยกเลิกตําแหน่งอุปราชภาค เป็นผลให้การปกครองแบบภาคถูกยุบไปโดยปริยาย พร้อมกันนั้นมณฑลอุบลราชธานี มณฑลร้อยเอ็ดก็ถูกยุบลง การปกครองจังหวัดในมณฑลดังกล่าวไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา และ พ.ศ. 2476 ได้ยุบมณฑลอุดรและมณฑลนครราชสีมา

อันเป็นผลมาจากใน พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ออก “พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476″ ส่งผลให้ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลสิ้นสุดลง และได้จัดแบ่งการปกครองเป็นจังหวัดต่างๆ แล้วรวมจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเข้าเป็นภาค มีผู้ว่าราชการภาคเป็นผู้บริหารสูงสุด ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น หลัง พ.ศ. 2476 เป็นต้นมาบริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่างๆ ในอีสานได้ถูกรวมกันเรียกว่า “ภาคอีสาน” อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หน่วยการปกครองที่เรียกว่า “ภาค” ในอีสานนั้น ได้รับการสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2465 คําว่า “ภาคอีสาน” หรือ “อิสาน” เป็นความหมายใหม่ที่รัฐไทยเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งมีผลต่อท้องถิ่นนิยมและภูมิภาคนิยมมีความชัดเจนขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า สํานึกความเป็น “ภาค” ก่อน พ.ศ. 2475 ก็ได้เริ่มเกิดขึ้น

ดังปรากฏว่า มีผู้ใช้นามว่า “แม่น้ำโขง” เขียนวิจารณ์ เรื่อง “สภาพการณ์แห่งภาคอีสาน” ลงหนังสือพิมพ์ติดต่อกัน โดยเฉพาะในช่วง 8-13 เมษายน พ.ศ. 2472 และถือว่าเป็นงานเขียนเกี่ยวกับภาคอีสานช่วงก่อน พ.ศ. 2475 ที่ดีสุดชิ้นหนึ่งเท่าที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ โดย “แม่น้ำโขง” ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอีสานหลายด้านด้วยกัน เช่น ธรรมการกับอิสานภาค เสนาบดีกับเทศาฯ ศึกษาพลี กระทรวงเกษตราธิการ พาณิชย์และคมนาคม เป็นต้น

@@@@@@@

และหากพิจารณาข่าวจากหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นก็พบว่า มีคนจากอีสานส่วนหนึ่งได้ไช้เวทีของหนังสือพิมพ์เป็นสื่อ หรือเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เช่น ผู้ใช้นามว่า “ณ โคราช” ได้ส่งจดหมายลงในหนังสือพิมพ์หลักเมือง 2 ครั้ง (14/6/2471 และ 14/2/2472) ผู้ใช้นามว่า “ชาวบ้านดง” / จังหวัดขอนแก่น เขียนลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง 9/32471 เรื่อง “การเกณฑ์แรงงานราษฎร ในจังหวัดขอนแก่นมิได้/เป็นไปตาม พ.ร.บ.เกณฑ์จ้าง” หรือมีผู้ใช้ นามว่า “เสือตะวันออก” เขียนเรื่อง “มหาสารคามงานของเจ้าเมือง” ลงในหลักเมือง 23/3/2471 เป็นต้น

และหากสังเกตก็จะพบว่า บุคคลเหล่านี้มีการใช้นามแฝงที่เกี่ยวพันกับท้องถิ่นของตนในการเขียนลงหนังสือพิมพ์ และยังได้เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองที่มีขึ้นในท้องถิ่นของตนอีกด้วย สิ่งเหล่านี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงสํานึกในท้องถิ่นและภูมิภาคได้เริ่มมีขึ้นในช่วงนี้แล้ว

อาจกล่าวได้ว่า รัฐมีส่วนอย่างมากในการสร้างนิยามและความหมายของท้องถิ่นนิยมและภูมิภาคนิยม “อีสาน” ให้ชัดเจนขึ้น ส่วนสํานึกในความเป็นภาคหรือภูมิภาคนิยมนั้นจะได้รับการย้ำโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยการปกครองในเชิงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น หมู่บ้าน เมือง มณฑล และภาคนี้ ล้วนแล้วแต่รัฐเป็นผู้กําหนดขึ้นมาทั้งสิ้น และขณะเดียวกันการจัดการปกครองดังกล่าวนี้ก็ได้ ส่วนในการสร้างสำนึกของความเป็นท้องถิ่นนิยมและภูมิภาคนิยมได้เช่นกัน



ที่มา ; การเมืองสองฝั่งโขง, สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2546
ผู้เขียน : ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรก : เมื่อ 22 กรกฎาคมม 2562
ขอบคุณ ; https://www.silpa-mag.com/history/article_36069
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ