ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 45 ปี พระธาตุพนมล้ม สู่ การรอเป็นมรดกโลก  (อ่าน 826 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


องค์พระธาตุพนมล้มทลายลงมาทั้งองค์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. (ภาพจาก http://www.watpamahachai.net/Document12_6.htm)


45 ปี พระธาตุพนมล้ม สู่ การรอเป็นมรดกโลก

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยและชนชาติลาว คือองค์พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ สาเหตุมาจากได้เกิดฝนตกหนักและเกิดพายุพัดแรงติดต่อกันหลายวัน รวมถึงความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม ซึ่งเหตุการณ์ในขณะนั้นสร้างความโศกเศร้าต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงเป็นอย่างมาก

แต่ด้วยพลังแรงศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุ ประชาชนได้กันร่วมบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม โดยมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2522 ลักษณะพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง งดงามสง่าเหมือนองค์เดิม มีขนาดฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร และสูง 53.60 เมตร


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (พระอุรังคธาตุ) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2522 ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ภาพจาก http://www.watpamahachai.net/Document12_6.htm)

ในวันที่ 22 มีนาคม 2522 ทางรัฐบาลได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธียกฉัตรยอดองค์พระธาตุพนม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ(พระอุรังคธาตุ) ขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกัน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พระธาตุพนมที่พังพลายลงตามกาลเวลา ก็กลับมาตั้งตระหง่านสูงเสียดฟ้า ณ ริมฝั่งโขง ให้ประชาชนได้สักการะอีกครั้ง และยังเป็นศูนย์รวมใจยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงอย่างไม่เสื่อมคลาย


องค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน (ภาพจาก http://www.thatphanomriverviewhotel.com/663095/พระธาตุพนม-วันอาทิตย์)

ในวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ลงนามหนังสือถึงศูนย์มรดกโลกในการเสนอพระธาตุพนมเข้าสู่รายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้นไปยังศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาคณะกรรมการมรดกโลกได้มีการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 2-12 กรกฎาคม 2560 ณ เมืองคาร์คูฟ สาธารณรัฐโปแลนด์ เห็นชอบให้บรรจุพระธาตุพนมไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกตามที่ประเทศไทยนำเสนอ

ทั้งนี้จังหวัดนครพนมต้องดำเนินการจัดทำเตรียมเอกสารการนำเสนอพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งมรดกโลกให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นคณะทำงานมรดกโลกจะลงพื้นที่ศึกษารายละเอียดของพระธาตุพนม คาดว่าอาจใช้อีกเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อพิจารณาว่าพระธาตุพนมจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือไม่




อ้างอิง :-
- เทพโมลี, พระ .ประวัติย่อพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : เฟื่องอักษร, 2516
- วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครพนม. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542
- สุม สุมโน,พระมหา. ประมวลเหตุการณ์พระธาตุพนมหักพัง และ การสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2522
- กระทรวงวัฒนธรรม. (2560). (ออนไลน์). http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/737576. วันที่ 10 สิงหาคม 2560.
- “มติทางการ”กก.มรดกโลก ประกาศ เขาใหญ่-อยุธยาพ้นภาวะอันตราย อีก 3 ปี ลุ้นพระธาตุพนม. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/local/news_601258 วันที่ 12 กรกฎาคม 2560.

ผู้เขียน : จักรมนตรี ชนะพันธ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ :  เมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ.2560
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_11148
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ