ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “คนกรุงเทพ” vs. “คนต่างจังหวัด” | ภาพสะท้อน "ความเหลื่อมล้ำ" ระดับประเทศ  (อ่าน 1589 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“คนกรุงเทพ” vs. “คนต่างจังหวัด” | ภาพสะท้อน "ความเหลื่อมล้ำ" ระดับประเทศ

“คนกรุงเทพฯ” และ “คนต่างจังหวัด” สองคำเรียกที่แบ่งแยกจังหวัดกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงของประเทศกับจังหวัดอื่น ๆ ในอดีต หากลองมองดูภาพตัวแทนที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ละคร หรือกระทั่งเพลงลูกทุ่ง เราจะรู้สึกได้ว่าภาพลักษณ์ของคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดมักจะถูกถ่ายทอดว่าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด…

ภาพลักษณ์ของ “คนกรุง” ในความคิดของคนสมัยก่อนก็คือ “คนทันสมัย” “คนมีความรู้” หรือแม้กระทั่ง “คนมีฐานะ”…ในขณะที่ภาพลักษณ์ของ “คนบ้านนอก” นั้น ก็คือ “คนซื่อ” “คนจิตใจดี” “คนไม่ค่อยมีความรู้” หรือกระทั่ง “คนยากจน”…กลายเป็นว่าถิ่นที่อยู่ และสถานที่เกิดกลายเป็นตัวชี้วัดถึงระดับสถานะและความเป็นอยู่ของบุคคลนั้นไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่อาจจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ได้

อาจเป็นเพราะในอดีต ความเจริญส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ แม้กระทั่งเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ในบ้างพื้นที่ก็ยังไม่มีการเข้าถึงของสิ่งเหล่านี้ *ทำให้คนต่างจังหวัดในบางส่วนไม่มีโอกาสได้เข้าถึงสิ่งที่มองว่าเป็น “ความเจริญ” และ “ความพัฒนา” นอกจากเมืองใหญ่ ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือพัทยา ฯลฯ

แต่ในปี 2019 ยุคที่มีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงอย่างเต็มที่ในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทยนั้นกรุงเทพฯ กับ ต่างจังหวัด จะยังคงต่างกันขนาดนั้นจริงหรือ.?

@@@@@@@

นโยบาย “กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น” เป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลมีความพยายามผลักดันให้ประสบผลสำเร็จอยู่อย่างมากและอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของชาติแทบทุกฉบับ…แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องถึงกับทำแบบสำรวจหรือวิจัยในระดับประเทศ เราทุกคนเองก็คงพอจะรู้สึกได้ว่าความเจริญทุกอย่างนั้นยัง “กระจุกตัว” อยู่ที่กรุงเทพฯเช่นเดิม และยังคงมี “ความเหลื่อมล้ำ” ให้เห็นอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่

หนึ่งในความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดคือ“การคมนาคม” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะการคมนาคมที่ดีก็จะช่วยกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ แต่ยังเห็นได้ชัดว่า…ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถเมล์ รถไฟฟ้า อันเป็นรถบริการสาธารณะก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แทบจะเรียกได้ว่าต่างจังหวัดหลาย ๆ จังหวัด แม้จะเป็นเมืองใหญ่ก็ยังไม่มีรถเมล์ ไม่มีรถบริการสาธารณะซึ่งเป็นของรัฐบาลและทำให้คนต่างจังหวัดจำเป็นต้องมีรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนตัวกันมาก

เมื่อไม่มีการคมนาคมที่ดี การเดินทางก็ลำบาก คนต่างจังหวัดหลาย ๆ คนที่ต้องการจะทำงานอยู่ใกล้ละแวกบ้านของตนเอง แต่ก็ต้องประสบปัญหา “ไม่มีการจ้างงาน” เพราะส่วนใหญ่แล้ว งานบริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องการวุฒิการศึกษาปริญญาตรีก็มักจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ​ ซึ่งผลักดันให้พวกเขาต้องเข้าสู่เมืองใหญ่ เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯซึ่งรับประกันได้ว่ารายได้จะสูงกว่า แต่ก็ต้องต่อสู้กับค่าครองชีพที่แพงลิบลิ่ว เพราะเมื่อเทียบกับคนในกรุงเทพฯที่มีบ้านอยู่แล้ว คนต่างจังหวัดยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นค่าเช่า หรือค่าผ่อนที่อยู่อาศัยซึ่งถูกหักไปจากค่าจ้างอีก ทำให้การที่คนต่างจังหวัดจะสามารถลืมตาอ้าปากในกรุงเทพฯที่มีค่าครองชีพสูงลิบเช่นนี้นั้นเป็นเรื่องที่สาหัสอยู่มาก


@@@@@@@

ในขณะเดียวกัน ยุคนี้ก็มีเทรนด์ใหม่ ซึ่งก็คือเทรนด์ที่คนกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดและโตในกรุงเทพฯ เลือกจะไปลงหลักปักฐานที่ต่างจังหวัดเพื่อหวังชีวิตแบบ “สโลว์ไลฟ์” และไม่ต้องเผชิญ “ค่าครองชีพ” ที่สูงจนเกินไปในกรุงเทพฯ เพราะต้องการคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าความแออัดยัดเยียดในเมืองกรุง แต่ก็ต้องประสบปัญหากับ “รายได้” เพราะอัตรารายได้ขั้นต่ำต่อหัวในต่างจังหวัดนั้นต่ำกว่าในกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯที่ย้ายไปทำงานต่างจังหวัดเองก็อาจจะต้องประสบปัญหาทางการเงินไม่แพ้กัน

แต่ในเรื่องของการศึกษา รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ก็คงต้องยอมรับว่ามีความเท่าเทียมกันมากขึ้นตั้งแต่ยุคที่มีการเริ่มกระจายมหาวิทยาลัยสู่ท้องถิ่น ทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่อยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ สามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพได้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ เด็กที่มีความสามารถหรือหัวกะทิบางคนก็เลือกที่จะเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านกันมากขึ้น

ในยุคนี้จึงพูดไม่ได้แล้วว่าคนต่างจังหวัดมีความรู้น้อยกว่า หรือแม้กระทั่งยากจนกว่าคนกรุงเทพฯ เพราะคนต่างจังหวัดบางส่วนก็เป็นเจ้าของธุรกิจเองอย่างประสบความสำเร็จ และในหลาย ๆ เมือง เช่น เชียงใหม่ ก็จะพบว่าคนต่างถิ่นไปทำธุรกิจได้ยาก ดั่งที่มีคำกล่าวว่า “เชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน” เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนในท้องถิ่นแต่ละที่นั้นไม่เหมือนคนในกรุงเทพฯ หลาย ๆ ธุรกิจที่ขยายกระจายไปจากกรุงเทพฯ เมื่อไปเจอพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างของคนในท้องถิ่นก็ถึงกับไปไม่เป็นและต้องล้มเลิกกิจการไปอยู่หลายรายเช่นกัน…เรียกได้ว่า ความเป็นท้องถิ่นก็ยังชนะอยู่นั่นเอง

เมื่อมองในหลาย ๆ แง่มุม จะพบว่า ในยุคที่น้ำไหล ไฟสว่าง ดิจิตอลทีวีเข้าถึงทุกครัวเรือนแบบนี้ความแตกต่างเหลื่อมล้ำในอดีตระหว่างคนกรุงเทพฯกับคนต่างจังหวัดนั้นลดลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังคงมีเรื่องสำคัญเช่นเรื่องการคมนาคม ซึ่งยังควรผลักดันและเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาให้ความสนใจมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดความเสมอภาค เพราะไม่ว่าคุณจะมีถิ่นที่อยู่อยู่ที่ไหนบนผืนแผ่นดินไทย คนไทยทุกคนก็ควรได้รับสวัสดิการ และการดูแลที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนต่างจังหวัดหรือคนกรุงเทพฯก็ตาม 

 

ขอบคุณภาพประกอบ : https://allevents.in/mengla/ครูบ้านนอก-170-ครูอาสาโรงเรียน-ตชด/709583115823604 , https://twitter.com/TSRN_F/status/1011231388396240897
ขอบคุณที่มา : https://today.line.me/th/v2/article/“คนกรุงเทพ”+vs+“คนต่างจังหวัด”+ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำระดับประเทศ-ELrojY 
Another View ,เผยแพร่ : 23 มี.ค. 2562 ,เวลา 08.00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ