ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'หลวงปู่มั่น' เดินทางเข้ากรุงเทพฯโดยวิธี 'จงกรมภาวนา' ไปตามสายทางที่ปราศจากผู้คน  (อ่าน 900 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



'หลวงปู่มั่น' เดินทางเข้ากรุงเทพฯโดยวิธี 'จงกรมภาวนา' ไปตามสายทางที่ปราศจากผู้คนสัญจร

พอตกหน้าแล้ง ท่านพระอาจารย์มั่นก็เริ่มพาโยมมารดาท่านออกเดินทาง พาพักบ้านละคืนสองคืนไปเรื่อยจนถึงบ้าน และพักอยู่ที่บ้านท่านนานพอควร ให้การอบรมมารดาและชาวบ้านพอมีความอบอุ่นโดยทั่วกัน แล้วก็ลาโยมมารดาและญาติออกเดินทางธุดงค์ไปเรื่อย ๆ โดยมุ่งหน้าลงไปทางภาคกลาง ไปแบบธุดงคกรรมฐาน ไม่รีบไม่ด่วน เจอหมู่บ้านหรือสถานที่มีน้ำท่าสมบูรณ์ก็กางกลดลงที่นั้น แล้วพักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อย่างเย็นใจ พอมีกำลังกายกำลังใจแล้วก็เดินทางต่อไป สมัยโน้นเดินด้วยเท้ากันทั้งนั้น รถราไม่มีเหมือนสมัยนี้ ท่านว่าท่านมิได้เร่งรีบกับเวล่ำเวลา จุดใหญ่อยู่ที่การภาวนาเท่านั้น เดินทางทั้งวันก็เท่ากับเดินจงกรมภาวนาไปทั้งวัน

ขณะท่านจากหมู่คณะเดินทางลงมากรุงเทพฯ เพียงองค์เดียวนั้น เหมือนช้างสารตัวใหญ่ออกจากโขลงเที่ยวหากินในป่าลำพังตัวเดียว เป็นความเบากายเบาใจ เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามออกจากหัวอกที่เคยหนักหน่วงถ่วงกายถ่วงใจมานาน กายก็เบา ใจก็เบา ขณะเดินทางด้วยวิธีจงกรมภาวนาไปแถบทุ่งกว้างที่มีสับกันเป็นตอน ๆ แต่ภายในใจไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเพราะแดดแผดเผาเลย บรรยากาศคล้ายกับเป็นเครื่องส่งเสริมการเดินทางให้มีความสะดวกสบายไปเป็นลำดับ บนบ่าที่เต็มไปด้วยบริขารของพระธุดงค์ มีบาตร กลด เป็นต้น ซึ่งรวมหลายชิ้นด้วยกัน ตามปกติก็พอทำความลำบากให้พอดู

แต่ในความรู้สึกกลับไม่หนักหนาอะไรเลย กายกับใจที่ถอดถอนความกังวลจากหมู่คณะออกหมดแล้ว จึงเป็นเหมือนจะเหาะลอยขึ้นบนอากาศในขณะนั้น เพราะหมดอาลัยหายห่วงโดยประการทั้งปวง โยมมารดาก็ได้อบรมสั่งสอนอย่างเต็มภูมิ จนมีหลักฐานทางจิตใจอย่างมั่นคงหมดห่วงแล้ว มีความรับผิดชอบเฉพาะตัวคนเดียวนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

@@@@@@@

นี่เป็นคำรำพึงบริกรรมภาวนาไปตามทาง ซึ่งท่านใช้เป็นบทธรรมเตือนสติตัวเองมิให้ประมาท เดินทางโดยวิธีจงกรมภาวนาไปตามสายทางที่ปราศจากผู้คนสัญจรไปมา ขณะเดินทางตอนกลางวันแดดกำลังร้อนจัด มองดูมีต้นไม้ใบหนาตามชายป่าก็เห็นว่าเหมาะก็แวะเข้าไปอาศัยพักพอหายเหนื่อย นั่งภาวนาสงบอารมณ์ใต้ร่มไม้ให้ใจเย็นสบาย ตกบ่าย ๆ อากาศร้อนค่อยลดลงบ้างก็เริ่มออกเดินทางต่อไปด้วยท่าทางของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

มีสติสัมปชัญญะประคองใจ ไปถึงหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนพอได้อาศัยเขาโคจรบิณฑบาตก็พอแล้ว ไม่ต้องการความเหลือเฟืออะไรมากไปกว่านั้น ตามองหาที่พักอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านพอประมาณ และแวะพักไปเป็นทอด ๆ แล้วแต่ทำเลเหมาะสมจะพักภาวนาสะดวกเพียงไร บางแห่งก็เป็นความสะดวกแก่การบำเพ็ญก็พักอยู่เป็นเวลานาน แล้วเดินทางต่อไป

ท่านเล่าว่า ตอนเดินทางไปถึงดงพญาเย็น ระหว่างสระบุรีกับนครราชสีมาต่อกัน มีป่าเขาลำเนาไพรมาก ทำให้เกิดความชื่นบานหรรษา คิดอยากพักอยู่ที่นั้นนาน ๆ เพื่อบำเพ็ญเพียรเสริมกำลังใจที่กระหายต่อการอยู่คนเดียวในป่าในเขามานาน เมื่อมาเจอทำเลเหมาะ ๆ เข้า ก็อยากพักภาวนาอยู่ที่นั้นเป็นเวลานาน แล้วค่อยผ่านไปเรื่อย พักไปเรื่อย ท่านว่าท่านก็เพลิดเพลินไปกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ เหมือนกัน


@@@@@@@

เพราะป่าเขาแถบนั้นมีสัตว์นานาชนิดชุมชุมมาก มีอีเก้ง หมู กวาง ลิง ค่างบ่าง ชะนี เสือ ช้าง อีเห็น ไก่ป่า ไก่ฟ้า หมี เม่น กระจ้อน กระแต เว้นสัตว์เล็ก ๆ ที่เที่ยวหากินเป็นประจำเสีย สัตว์นอกนั้นยังพากันมาเที่ยวหากินในเวลากลางวัน ท่านเคยเจอเขาบ่อย ซึ่งเขาก็ไม่แสดงอาการกลัวท่านนัก

ป่าแถบนี้แต่ก่อนไม่มีบ้านผู้บ้านคน ถึงมีก็อยู่ห่าง ๆ กันและมีเพียง ๓-๔ หลังคาเรือน ตั้งอยู่เป็นหย่อม ๆ ซึ่งอาศัยทำไร่ข้าวและปลูกสิ่งต่าง ๆ เป็นอาชีพ ตั้งอยู่ตามชายเขาระหว่างที่ผ่านไป ท่านอาศัยชาวบ้านเหล่านั้นเป็นโคจรบิณฑบาตไปเป็นระยะ ๆ หมู่บ้านที่อยู่แถบนั้นเขามีศรัทธาในพระธุดงค์ดีมาก พวกนี้อาศัยสัตว์ป่าเป็นอาหาร เพราะสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ มีมาก เวลาพักอยู่กับเขาได้รับความสะดวกแก่การบำเพ็ญมาก เขาไม่มารบกวนให้เสียเวลาเลย ต่างคนต่างอยู่และต่างทำหน้าที่ของตน ปรากฏว่าการเดินทางเป็นไปด้วยความสะดวกราบรื่น ทั้งทางกายและทางใจ จนถึงกรุงเทพฯ ด้วยความสวัสดี

ท่านเข้าพักวัดปทุมวัน ท่านว่าการขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคอีสาน ท่านขึ้นล่องเสมอ บางเที่ยวขึ้นรถไฟไปลงเอาที่สุดรถไฟไปถึง เพราะแต่ก่อนรถไฟยังไม่ทันถึงที่สุดทาง บางเที่ยวก็เดินธุดงค์ไปมาเรื่อย ๆ ก็มี เวลาท่านพักและจำพรรษาที่วัดปทุมวัน ได้ไปศึกษาอรรถธรรมกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ วัดบรมนิวาสเสมอ ออกพรรษาแล้วหน้าแล้ง ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จะไปเชียงใหม่ ท่านนิมนต์ท่านอาจารย์ไปเชียงใหม่ด้วย ท่านเลยไปเที่ยวทางเชียงใหม่กับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ




คัดลอกจาก : ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตอนที่ ๑. โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ต่อจากตอน "พระเณรไม่เชื่อคำเตือนจนเกือบเกิดอันตราย" ใน http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-12-04.htm
ขอบคุณ : https://www.naewna.com/likesara/516037
วันพฤหัสบดี ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563, 19.51 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ