ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘เหรียญปราบฮ่อ’ มูลค่านับล้านบาท ที่ร.5 พระราชทานแก่ผู้มีความชอบสงครามปราบฮ่อ  (อ่าน 1187 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

‘เหรียญปราบฮ่อ’ มูลค่านับล้านบาท ที่ร.5 พระราชทานแก่ผู้มีความชอบคราวสงครามปราบฮ่อ

‘เหรียญปราบฮ่อ’ เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จให้กับผู้มีความชอบในการสงคราม นับเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกของเหรียญประเภทนี้

สงครามปราบฮ่อมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ‘ฮ่อ’ พวกนี้ก็คือชาวจีนนั่นเอง แต่ในภาคเหนือนิยมเรียกว่าฮ่อ ขณะที่ภาคกลางอย่างกรุงเทพฯ นิยมเรียกว่าจีนไม่ก็เจ๊ก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เมื่อครั้งปราบฮ่อ พ.ศ. 2418 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร) ได้จับฮ่อส่งลงมากรุงเทพฯ ก็มีคนพูดกันว่า พระยามหาอำมาตย์จับชาวจีนมาหลอกว่าเป็นฮ่อ แต่ความจริงแล้วฮ่อก็คือจืนนั่นเอง

ฮ่อที่มาสร้างความวุ่นวายในสยามนั้น เป็นชาวจีนที่ลุกขึ้นต่อต้านราชวงศ์ชิง เรียกว่า ‘กบฏไท่ผิง’ แต่ถูกราชสำนักชิงปราบปรามอย่างหนักจนถอยร่นเข้ามาบริเวณตอนใต้ของจีน เที่ยวซ่อนตัวตามป่าเขาและเข้าก่อเหตุความวุ่นวายในดินแดนสยาม ทั้งในส่วนลาว พวน หลวงพระบาง สิบสองจุไท ฯลฯ

ฮ่อแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ฮ่อธงดำและฮ่อธงเหลือง

พ.ศ. 2418 ฮ่อเตรียมทัพโจมตีเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณเวียงจันทน์แล้วจะเข้ามายังหนองคาย กรมการเมืองหนองคายทราบข่าวจากชาวบ้านที่อพยพหนีมา จึงแจ้งข่าวมายังกรุงเทพฯ ขณะนั้นพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงขึ้นไปสักเลกที่มณฑลอุบล จึงได้คำสั่งให้รับหน้าที่เกณฑ์คนจากมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล เป็นกองทัพขึ้นไปสมทบกับกองทัพของพระยานครราชสีมา (เมฆ) ขึ้นไปป้องกันหนองคาย กระทั่งได้ตีทัพฮ่อแตกหนีไป

@@@@@@@

อีกด้านหนึ่ง กองทัพสยามยกไปปราบฮ่อทางหลวงพระบาง ก็ตีทัพฮ่อแตก ป้องกันเมืองได้สำเร็จเช่นกัน

ฮ่อได้หนีรวมตัวกันปล้นสะดมสร้างความวุ่นวายในจีนและญวณ แต่เมื่อ ‘ปวงนันชี’ หัวหน้าฮ่อธงเหลืองถูกปราบปรามจนตาย พวกฮ่อธงเหลืองแตกออกเป็นหลายกลุ่ม ยังก่อความวุ่นวายอยู่เนือง ๆ กระทั่ง พ.ศ. 2426 ฮ่อเข้ามาตั้งค่ายที่ทุ่งเชียงคำ มีแนวกอไผ่แน่นหนาเป็นป้อมปราการ กองทัพสยามนำโดยพระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) เข้าไปปราบ ล้อมค่ายนาน 2 เดือน ก็ยังเอาชนะไม่ได้ กองทัพสยามเริ่มขาดแคลนเสบียงอาหารและมีคนป่วยจำนวนมาก สุดท้ายต้องยกทัพกลับมายังหนองคาย

พ.ศ. 2428 กองทัพสยามเรียนรู้จากการปราบฮ่อครั้งก่อนว่า เป็นกองทัพแบบโบราณจึงทำการปราบปรามไม่สำเร็จ ครั้งนี้จึงส่งกองทัพที่ได้รับการฝึกอย่างหทารตะวันตกขึ้นไปสมทบกองทัพหัวเมือง

ถึงเวลานี้ ฮ่อมีทั้งฮ่อแท้และฮ่อปลอม คือพวกฮ่อแท้ที่เป็นชาวจีนได้กวาดต้อนเอาผู้คนที่ตนเข้าปล้นสะดมก่อความวุ่นวายมาเป็นพวกของตน ส่วนมากเป็นเด็กที่พรากมาจากพ่อแม่ที่ถูกฆ่าทิ้ง จับเด็กมาฟั่นเปียและนุ่งห่มอย่างฮ่อ กับอีกพวกหนึ่งเป็นคนพาล สูบฝิ่น กินเหล้า ไม่มีปัญญาเลี้ยงตัว ก็ไปเข้ากับพวกฮ่อ กลายเป็นฮ่อปลอมและก็ไว้เปียแต่งตัวอย่างฮ่อเช่นกัน

การปราบฮ่อครั้งที่ 3 สำเร็จผล ด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่าพวกฮ่อที่มีแต่ปืนคาบศิลาและสามง่าม แต่กองทัพสยามก็ต้องเผชิญความยากลำบากจากไข้ป่าและการขาดแคลนยาควินิน พ.ศ. 2430 เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) นำหัวหน้าพวกฮ่อลงมากรุงเทพฯ ฮ่อจึงถูกกำราบลงนับแต่นั้น

การปราบฮ่อทั้ง 3 ครั้ง ปรากฏปีในเหรียญปราบฮ่อคือ จ.ศ. 1239 (พ.ศ. 2420), จ.ศ. 1247 (พ.ศ. 2428) และ จ.ศ. 1249 (พ.ศ. 2430) แต่หากยึดตามพงศาวดาร ปราบฮ่อครั้งแรกจะเป็น จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) ปราบฮ่อครั้งที่ 2 จะเป็น จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2426) มีเพียงการปราบฮ่อครั้งที่ 3 ที่ปีในเหรียญกับในพงศาวดารตรงกัน


เหรียญปราบฮ่อ (เงิน) (ภาพจากศิลปวัฒนธรรมฉบับมกราคม 2536)

รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญปราบฮ่อขึ้นใน พ.ศ. 2431 ซึ่งเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์เพื่อนำเหน็จความดีความชอบ พระราชทานแก่ผู้ไปราชการปราบฮ่อ โดยว่าจ้างให้บริษัทบีกริมแอนด์โก ผลิตที่ประเทศเยอรมนีจำนวน 500 เหรียญ

เหรียญปราบฮ่อเป็นเหรียญกลม แบน มีห่วงหูและไม่มีห่วงหู เนื้อเงิน และทองแดง (เป็นเหรียญลองพิมพ์) ด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 พระพักตร์เสี้ยว (หันข้าง) มีช่อชัยพฤกษ์ ด้านบนริมขอบมีข้อความ “จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช” ด้านหลังเหรียญเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงของ้าวขี่คอช้างศึก มีควาญอยู่ท้ายช้าง ด้านล่างริมขอบมีแพรแถบ ด้านบนริมขอบมีข้อความ “ปราบฮ่อ 1239 1247 1249”

จากการรวบรวมข้อมูลเท่าที่สืบพบ พบว่ารัชกาลที่ 5 พระราชทานเหรียญปราบฮ่อให้แก่ พระวิภาคภูวดล (เจมส์ แม็กคาร์ธีร์) หลวงคำนวนคัดณานต์ (ตรี) ขุนประมาณสถลมารค (ใจ) นายสว่าง นายเวรกรมแผนที่ หลวงพลสินธวาณัตถ์ (ริ ชิ ลิว) และขุนนภาภาคพัติการ (เอม) เป็นต้น รวมบรรดาข้าราชการและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ก็ต้องได้รับพระราชทานอย่างแน่นอน

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ กล่าวว่า “ทั้งหมดมี 500 เหรียญและมีเฉพาะเหรียญเงินเท่านั้น ส่วนเหรียญทองแดงนั้นเป็นเหรียญตัวอย่างส่งมาถวายรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรว่าชอบหรือไม่ชอบ แล้วเหรียญทุกเหรียญจะต้องมีหมายเลขกำกับระบุถึงเลขที่ผู้ที่ได้รับเหรียญ ซึ่งรายชื่อจะไปปรากฏในราชกิจจานุเบกษาปีใดปีหนึ่ง และเหรียญทองแดงที่เป็นเหรียญตัวอย่างจะสังเกตได้ว่า จะระบุคำว่า ‘จุพาลงกรณ์’ และคำว่า ‘ปราบฮอ’ ซึ่งเป็นการสะกดผิด จึงนำกลับไปแก้แล้วเหรียญที่สะกดผิดนั้นจึงตกค้างอยู่ที่เมืองไทยซึ่งมีราคาแพงมากเพราะมีเหรียญเดียว…” นอกจากนี้ยังระบุมูลค่าของเหรียญปราบฮ่อว่า มีราคาสูงสุดที่ประมาณ 2.6 ล้านบาท (เมื่อ พ.ศ. 2559)



เหรียญปราบฮ่อ (ทองแดง) เป็นเหรียญลองพิมพ์ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรมฉบับมกราคม 2536)

เชื่อกันว่า ในด้านพุทธคุณนั้นข้าราชการผู้ใหญ่ในสมัยก่อนเรียกว่า ‘เหรียญนักเลง’ เพราะเชื่อว่าเมื่อพกติดตัวไปที่ใดก็จะประสบแต่ชัยชนะ ปราศจากอันตราย จึงนิยมนับถือกันมาก บางเหรียญมีการลงเหล็กจารของเกจิดังในยุคเก่า ๆ อีกด้วย

มูลค่าของเหรียญปราบฮ่อในยุคนี้คงไม่ต้องพรรณา ถ้าเป็นเหรียญสภาพสมบูรณ์ มูลค่าคงแตะหลักสามล้านบาท (+-) เห็นจะไม่เกินจริงนัก




อ้างอิง :-
- วิษณุ บุญนิ่ม. (มกราคม, 2536). เหรียญปราบฮ่อ “เหรียญมหัศจรรย์” สมเด็จพระปิยมหาราช. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 14 : ฉบับที่ 3.
- ศิวพร อ่องศรี. (2559). ‘เหรียญปราบฮ่อ’ ล้ำค่า บำเหน็จสมัยรัชกาลที่ 5. หนังสือพิมพ์ข่าวสด. ฉบับ 28 มกราคม 2559.
- อภิญญา. (2554). มุมพระเก่า : เหรียญปราบฮ่อ-เสด็จกลับ (2) สุดยอดนิยม-นักสะสมชื่นชอบ. หนังสือพิมพ์ข่าวสด. ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 29 เมษายน 2563
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_49250
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ