ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดรหัสคำทางเพศใน “หมอลำ” ที่ชาวบ้านชอบ ชาวเมืองว่าหยาบโลน สะท้อนอะไร.?  (อ่าน 898 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

การแสดงหมอลำ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2528)


ถอดรหัสคำทางเพศใน “หมอลำ” ที่ชาวบ้านชอบ ชาวเมืองว่าหยาบโลน สะท้อนอะไร.?

วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง “หมอลำ” ได้รับความนิยมมายาวนาน ถึงยุคปัจจุบันก็ยังถือว่ามีพัฒนาการผสมผสานเข้ากับดนตรีร่วมสมัยและได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่น แต่หากพูดถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม ในเนื้อร้อง “หมอลำ” มักมีคำหรือสัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศจำนวนมาก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้คนจดจำวัฒนธรรมนี้ และชาวบ้านทั่วไปก็ชื่นชอบมาก แต่ชาวเมืองมองว่าหยาบโลน บางครั้งก็ถึงขึ้น “ไม่ชอบ” ด้วยซ้ำ

แถบอีสานคุ้นเคยกับการ “ลำ” หรือการร้องรูปแบบหนึ่งเป็นอย่างดี ในทางภาษา ผู้ที่ลำจนชำนาญแล้วจะถูกเรียกว่า “หมอลำ” ที่มาของการลำเชื่อกันว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด หนังสือ “การละเล่นพื้นเมืองภาคอีสาน” ของกรมศิลปากรอธิบายโดยสันนิษฐานว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักมีการขับร้อง และผูกเนื้อหาให้เข้ากับภาษาของแต่ละกลุ่ม

นิคม วงเวียน บุคลากรจากวิทยาลัยครูสุรินทร์ บรรยายเนื้อเพลงพื้นเมืองของอีสานว่า โดยรวมแล้วจะเรียกว่า “กลอนลำ” มีทั้งกลอนที่แต่งไว้ในวรรณคดีพื้นเมือง กลอนที่แต่งใหม่ และกลอนที่หมอลำคิดขึ้นเองขณะลำ ส่วนใหญ่แล้ว กลอนลำมักจะใช้เนื้อความจากเรื่องในวรรณคดี ศาสนา ประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกคติธรรม ธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และสภาพทางท้องถิ่นเอาไว้

@@@@@@@

ขณะเดียวกัน กลอนลำมักสะท้อนความคิดของผู้แต่งด้วย การศึกษาวรรณคดีในเชิงจิตวิทยาโดยวนิดา ลิขิตกัณทิมา พบว่า ผลงานวรรณคดีสะท้อนจิตใต้สำนึก บุคลิกภาพ และบทบาทของผู้แต่ง โดยปรากฏออกมาในลักษณะทางตรง และทางอ้อมผ่านสัญลักษณ์

พื้นฐานของสัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องการเกิด ความอุดมสมบูรณ์ มักมีเรื่องเพศและอวัยวะเพศปรากฎอยู่ กวีหรือผู้แต่งจะสอดแทรกคำ ข้อความ พฤติกรรม เครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศ

นิคม วงเวียน ศึกษารวบรวมคำและข้อความในกลอนลำ ผลการศึกษาพบว่ามีคำเกี่ยวกับเพศมากมาย แบ่งย่อยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความหมายถึงอวัยวะเพศ และกลุ่มที่หมายถึงเพศสัมพันธ์ลักษณะต่างๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 หมวดคือความหมายโดยตรง และโดยอ้อม (หรือเชิงเปรียบเทียบ) ซึ่งโดยสัดส่วนแล้วมักใช้คำหรือกลุ่มคำที่มีความหมายโดยนัย

@@@@@@@

1. ความหมายโดยตรง

– อวัยวะเพศชาย
“โคยเคียวบักหำด่าง”
“เดี๋ยวจับสองขากะดอดำ”
ฯลฯ

– อวัยวะเพศหญิง
“เหลียวเบิ่งสองง่ามก้นหง้วมหงีมาเทียมยืน”
“หรือบ่เคยบ่ตุ้มสิของุ้มหว่างโมม”
“บาดห่าเต๊ะก้นโท้ยโหง่ยลงสาดังตึ้ง”
“นอนมเจ้าให้เขาบายแล้วไป่”
“มันผัดใหล้สิแจ้งฝูงแมงหมี่มาตอมหี”
ฯลฯ

– แสดงอาการเพศสัมพันธ์
“คันแม่นคึกอยากสี้ เห็นเขาแต่งตัวงาม”
“มีบาดเด้ง บาดฮ่อน อันนั้นแนวเดียว”
“มีบาดหญ้ม บาดเหลียว มันก็แสนยาก”
ฯลฯ

2. ความหมายโดยอ้อม หรือเชิงเปรียบเทียบ

– อวัยวะเพศชาย
“บักโปงลาง พี่สิโหญ้น เมือก้ำฝ่ายอุดร”
“แมงหมี่ปัดป่ายตุ้มกุมกล้วยหน่วยสลึง”
“พี่สีปาดหมากแว้ ไป่ไว้ให้แหญ่ฮู”
“บั้งน้ำเฮี่ยขอเลียท้ายล่าม”
“บาดห่ากำด้ามพร้า สิเห็นหน้าบ่าวพี่ชาย”
“เพิ่นผู้วงหัวเจ้ย หลดเงยคอก่งด่ง”

– อวัยวะเพศหญิง
“ตายนำโง่นเซ้าเง้า เต้าขี้ตุ่มหมากตูมไถ
ตายนำขวยแมงซอน บ่อนฮูจินาอ้น
ตายนำฮูแข้ฮูกะแตใต้ฮูบ่าง
ตายนำกกเหมียดก่าง บ่อนเป็นหัวน้ำย้อย
ฮ้อยช้างกะนี้แหม่นหล่มบึง”

“เจ้าตากต้านลอนตาลคือซิต่ง”
“รักษาโนนนาเฮื้อ แปลงดีๆ ไว้ถ้าพี่”
“คันหมอเคนได้แต่ซุเนื้อขาวๆ”
“หนองและนอ น้องบวกน้อย ฮอยอ้ายหยั่งผู้เดียว”
ฯลฯ

– แสดงอาการมีเพศสัมพันธ์
“อยากลองไปในห้องสองคนเบิ่งเดพี่ คือสิเถิงชั้นฟ้าเวลาเข้าสู่เตียง”
“สิให้หวังโคะโยะ ใส่ผู้ใด๋สิคือน้อง”
“เถิงพอดีคิดฮอดอ้ายญามสิเข้ากะบ่อนนอน”
“ไผเดนอสิมาเป็นแฟนน้อง บุญยังนางสิได้กล่อม”
“พี่บ่มีคู่ซ้อน นอนกลิ้งแม่นกล่อมสอง”
“ผู้บ่าวไปโคมผัดว่าสิฮ้อง บอกให้ฮ้องมึงเป็นหญังบ่ฮ้อง เอ็นเข้าท้องกูฮ้องบ่ได้”
ฯลฯ


@@@@@@@

คำในเนื้อกลอนลำในตัวอย่างข้างต้นเป็นเรื่องที่ชาวบ้านกระทำเป็นปกติโดยชอบใจ อันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยหนึ่งชาวเมือง หรือกลุ่มที่การศึกษาสูงมักมองในแง่หยาบโลนลามก

ประเด็นความเห็นต่างต่อวัฒนธรรมนี้ นิคม วงเวียน มองว่า สังคมที่มีสมาชิกอยู่ร่วมกัน สังคมเป็นปัจจัยที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน อาทิ น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และความต้องการทางเพศ ขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องมีระเบียบ มีการควบคุมสมาชิก ซึ่งสิ่งที่นำมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมคือ กลวิธี หรือกลไกทางวัฒนธรรม ยุทธวิธีอย่างหนึ่งที่ใช้ควบคุมสังคมคือ กลอุบายควบคุมพฤติกรรม และความนึกคิดของผู้อื่นจากการสื่อความหมายต่างๆ

ในที่นี้ ความตลกขบขันหรือเอาเรื่องมาล้อเลียนเป็นการสื่อความหมายอีกวิธีหนึ่ง เรื่องตลกขบขันสามารถลดอำนาจความต้องการของบุคคลลง และทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดผ่อนคลาย ในอีกด้านหนึ่ง หากมองในมุมเชิงจิตวิทยา การใช้ถ้อยคำทางเพศเป็นการสร้างเหตุการณ์ที่ตนเองสมใจขึ้น เป็นเครื่องมือการผ่อนคลายความตึงเครียดชั่วครู่ การใช้คำที่เกี่ยวกับทางเพศอาจพิจารณาในแง่พฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งเกิดจากความคับข้องใจได้อีกเช่นกัน นิคม มองว่า

    “การนำเรื่องเพศซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของคนเรามากล่าวในทำนองเป็นเรื่องขบขันจึงเป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สังคมมองเรื่องเพศเป็นเรื่องไร้สาระ หรืออย่างน้อยก็ลดความสำคัญของเรื่องนี้ลง”

@@@@@@@

เมื่อวรรณกรรมพื้นบ้านเป็นเรื่องขบขันเกี่ยวกับเรื่องเพศเสียมาก ข้อมูลการสำรวจนี้สะท้อนว่าศิลปินใช้กลวิธีนี้เป็นเครื่องช่วยควบคุมสังคมทางหนึ่ง และใช้แพร่หลายทั้งเจตนา และโดยไม่เจตนา การนำเรื่องเพศมากล่าวทำนองเชิงตลกเป็นกลวิธีที่ช่วยให้สังคมมองเรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ตึงเครียด หรืออย่างน้อยก็ลดความสำคัญของเรื่องนี้ลง ในสังคมระดับชาวบ้านเองก็ถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาที่รับรู้ได้โดยไม่รังเกียจ การใช้คำและภาษาโดยตรงสะท้อนให้เห็นลักษณะพฤติกรรมการสื่อสารของชาวบ้านที่ไม่นิยมกล่าวอ้อมค้อม

ในทางความเชื่อหรือคติที่สืบทอดกันมา การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษก็มักทำตามคำสั่งเสียให้จัดหมอลำที่มีชื่อมาแสดง ซึ่งกลุ่มหมอลำนี้ก็มีฝีปากจัดจ้านกล้าแกร่งในการใช้คำทางเพศอย่างโชกโชน นอกจากเรื่องรสนิยมและวิถีชาวบ้านแล้ว ความเชื่อเรื่องผีก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่น่าจะเชื่อมโยงกับคติการใช้คำเรื่องเพศ จากตัวอย่างการเซ่นสรวงผีที่เป็นเจ้าน้ำก่อนจับปลาบึกในแม่น้ำโขง ซึ่งต้องพูดด่ากันเกี่ยวกับเรื่องเพศให้หยาบโลน โดยเชื่อว่าเจ้าจะโปรดปรานและทำให้จับปลาได้มาก ในพิธีก็มีบทร้องและบทด่าเกี่ยวกับเรื่องเพศมากมาย




อ้างอิง :-
- นิคม วงเวียน. “เพศในกลอนลำ,”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2528)
- กรมศิลปากร. การละเล่นพื้นเมืองภาคอีสาน. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, 2521, น. 84
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 30 มกราคม 2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_26908
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ