จิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นฉาก พระยาเหี้ยช่วยพระปทุมกุมาร
ใครว่า “เหี้ย” ไม่ดี เมื่อ “พระยาเหี้ย” ช่วยพระเอก ในจุลปทุมชาดก“เหี้ย” กลายเป็นสัตว์ที่คนไทยรับรู้ในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวจับ “เหี้ย” ในสวนลุมพินี หรือกรณีอื่นๆ ของการว่าคนโดยใช้คำว่า “เหี้ย” แต่เมื่อนึกถึง “เหี้ย” ที่เป็นตัวเอกในชาดก กลับมีเล่าถึงวีรกรรมช่วยเหลือผู้อื่นด้วย
ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก นอกจากวาดเรื่องราวทศชาติชาดกแล้ว ยังมีการวาดชาดกอีก ๑ เรื่องที่แปลกตา นั่นคือ จุลปทุมชาดก (ซึ่งจะเกี่ยวพันกับเรื่องเหี้ย)
เรื่องย่อของจุลปทุมชาดก มีดังนี้ (นำมาจากบทความเรื่อง จุลปทุมชาดก ข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทและความนิยมที่ปรากฏในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๔ เขียนโดย วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๕๐)
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระปทุมกุมาร มีพระอนุชาหกองค์ ครั้นเมื่อพระราชกุมารทั้งเจ็ดเจริญวัย พระราชบิดาเกิดระแวงเกรงว่าลูกๆ จะคิดร้ายชิงราชสมบัติ จึงเนรเทศพระราชกุมารทั้งเจ็ดพร้อมพระชายาออกจากเมือง ระหว่างรอนแรมกันไป หนทางแสนกันดารนัก ขาดแคลนอาหาร พระราชกุมารทั้งหมดจึงตกลงฆ่าพระชายาคราละองค์ เพื่อนำมาเป็นอาหารแจกจ่ายกันกินประทังชีวิต
ครั้นถึงคราต้องฆ่าพระชายาของพระปทุมกุมาร พระองค์ได้นำเนื้อส่วนที่เก็บไว้มาแจกจ่ายให้แก่บรรดาพระอนุชาแทน และเฝ้ารอจนเหล่าพระอนุชาหลับ จึงพาพระชายาแยกหนีไป ระหว่างทางนั้น พระชายาเกิดกระหายน้ำ พระองค์จึงกรีดพระโลหิตให้ดื่มแทน
ก่อนจะเดินทางรอนแรมกันต่อไป จนในที่สุดเมื่อทั้งสองได้เดินทางมาถึงบึงน้ำใหญ่ จึงปลูกเรือนพักขึ้น ณ ที่นั้น พระปทุมกุมารได้ช่วยเหลือรักษาโจรผู้หนึ่งจนหายจากอาการบาดเจ็บและให้อาศัยร่วมด้วย ต่อมาภายหลัง พระชายาเกิดมีใจปฏิพัทธ์รักใคร่โจร จึงหมายฆ่าพระปทุมกุมารโดยผลักให้ตกลงมาจากยอดเขา หากแต่พระปทุมกุมารกลับรอดชีวิตโดยการช่วยเหลือของพระยาเหี้ย (ดูภาพประกอบ) และต่อมาพระยาเหี้ยนั้นก็ได้ช่วยนำพระปทุมกุมารกลับขึ้นครองราชย์อีกครั้ง
จิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นฉาก พระยาเหี้ยช่วยพระปทุมกุมาร
วันหนึ่งพระองค์ได้พบกับพระชายาและชายชู้ที่มาเฝ้ารอรับทาน ทรงพิโรธเป็นอย่างยิ่งและคิดจะลงโทษหญิงชั่วชายชู้อย่างสาสม หากแต่เมื่อคลายพิโรธลง จึงรับสั่งให้เอาชายชู้ใส่ลงตะกร้าผูกติดกับศีรษะของหญิงชั่วชนิดมิให้ปลงลงจากศีรษะได้ แล้วจึงโปรดฯ ให้เนรเทศคนทั้งคู่ออกจากเมืองไป
ทำไมต้องวาดชาดกเรื่องนี้ด้วย คุณวรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า
“…จุลปทุมชาดกจึงอาจเป็นปรัมปราคติแนวใหม่ ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์สังคมและงานช่างไทยที่ปรับเปลี่ยนในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ และทวีความเด่นชัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเน้นความสมจริงมากยิ่งขึ้น ทั้งเทคนิคงานช่างและการเลือกสรรเรื่องราวในการนำเสนอ ซึ่งเรื่องชาดกนั้นนอกจากทำหน้าที่บอกเล่าการบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์ในแต่ละชาติแล้ว ยังทำหน้าที่ร่วม คือเป็นสื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นไปในสังคม โดยเฉพาะในกรณีศึกษา คือประเด็น “ความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตคู่” ดังจะเห็นได้จากการแสดงออกที่ปรากฏในงานจิตรกรรมจุลปทุมชาดก ซึ่งล้วนแต่เน้นให้เห็นถึงเรื่องราว “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่ของตนด้วยการนอกใจหรือมีชู้” มากกว่าการให้ความสำคัญเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาตินั้นๆ
ทั้งนี้การถ่ายทอดจุลปทุมชาดกในงานจิตรกรรมคงเป็นที่นิยมและแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งคงสอดคล้องกับกรณีและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากในช่วงรัชสมัยนี้…” เผยแพร่ : วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ.2559
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/culture/article_2652