สูตรสำเร็จในชีวิต (33) : ความอดทน (1)ความอดทนตรงกับภาษาพระว่าขันติ พระอรรถกถาจารย์กับโบราณจารย์ไทยอธิบายแตกต่างกันนิดหน่อย ซึ่งก็ “เข้าท่า” และ “เข้าที” ทั้งสองนัย
โบราณจารย์ไทย ซึ่งก็ไม่ทราบว่าใคร ได้อธิบายไว้ว่า ขันติหรือความอดทนนั้นมีอยู่ 3 ลักษณะคือ
- ทนลำบาก ได้แก่ ทนทุกขเวทนาความเจ็บปวดต่างๆ ได้ ไม่บ่นไม่ร้อง เช่น ป่วยเป็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ทนเอาไว้ ไม่สำออยครางอูยๆ จะตายให้ได้ หรือเจ็บมากๆ ก็พยายามอดกลั้นเอาไว้
- ทนตรากตรำ ได้แก่ ทนสู้งานทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างตรากตรำ หนักเบาเอาสู้ ไม่ท้อถ้อย ไม่ใช่คนประเภทเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำอะไรจับจด
- ทนเจ็บใจ ได้แก่ ทนต่อการว่าร้ายด่าทอจากปากคนอื่นไม่เอามาเป็นอารมณ์ ใครเขาจะนินทาว่าร้าย หรือด่าเสียดสีอย่างไรก็สงบใจได้ไม่โต้ตอบ จะทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันเปล่าๆ
@@@@@@@
ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระอรรถกถาจารย์ท่านแยกความอดทนไว้ 2 ประการคือ
- อดกลั้น หมายถึงเวลาได้รับความเจ็บปวดทางกายก็ดี เวลาตรากตรำทำงานหนักก็ดี เวลามีคนมาว่าร้ายด่าทอก็ดี พยายามอดกลั้นไว้ ไม่แสดงออกถึงความอ่อนแอ เฉพาะอย่างยิ่งเวลาใครมาฉอดๆ ต่อหน้าก็เอาหูทวนลมเสีย นึกถึงเพลงของเบิร์ดเข้าไว้ “ลิ้นกับฟันพบกันทีไรก็เรื่องใหญ่” และโอกาสที่จะ “กัด” หรือ “ฟัด” กันก็คงไม่เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าอดกลั้น (อธิวาสนขันติ)
- อดทน สูงขึ้นไปกว่านั้น “อดกลั้น” นั้นเรายังเดือดอยู่ในใจแต่สู้ข่มไว้ไม่แสดงออกมา แต่ “อดทน” หมายถึงไม่โกรธเลย ใครว่าอย่างไรก็เฉยไม่รู้สึกอะไร เป็นความเข้มแข็งของจิตที่ฝึกฝนมาจนทนทานแกร่งกล้าแล้ว (ตีติกขาขันติ)
@@@@@@@
สรุปง่ายๆ ความอดกลั้นนั้น จิตใจยังโกรธอยู่แต่ไม่แสดงออก ส่วนความอดทนนั้น จิตใจสงบเย็นไม่โกรธเลย ขอยกตัวอย่างขันติของพระอานนท์กับของพระพุทธเจ้า มาเปรียบเทียบเพื่อความกระจ่าง
คนอันธพาลพวกหนึ่งได้รับสินจ้างให้มาด่าพระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จไปไหน ไอ้พวกเวรห้าร้อยนี้ก็ตามไปด่าเสียๆ หายๆ พระอานนท์เดือดปุดๆ อยู่ในใจ แต่สู้อดกลั้นไว้ไม่ด่าตอบ ส่วนพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปดังหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น
พระอานนท์กราบทูลให้หนีไปที่อื่น พระพุทธองค์ตรัสถามว่าหนีไปไหน ก็กราบทูลว่าไปเมืองอื่น
เมื่อทรงย้อนถามว่า ถ้าคนเมืองนั้นด่าอีกล่ะจะไปไหนอีก “ก็ไปเมืองอื่นอีก” พระพุทธอนุชากราบทูล
พระองค์ตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นเราก็หนีไม่มีที่สิ้นสุดเพราะโลกนี้คนชั่วมีมาก ไปไหนก็ถูกด่าอยู่ดี อยู่ที่นี่แหละ มันเหนื่อยก็หยุดด่าเอง”
อย่างนี้แสดงว่า พระอานนท์มีเพียง “ความอดกลั้น” พระพุทธองค์มี “ความอดทน” คนเช่นนี้อย่าว่าแต่ไม่โกรธด่าเลย กลับสงสารเห็นใจเขาเสียด้วยซ้ำ
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16-22 ตุลาคม 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ :
https://www.matichonweekly.com/column/article_359777