ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใส่บาตร กับ พระทุศีล ได้บาป คนขวางได้บุญ...จริงหรือ.?  (อ่าน 930 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ขอบคุณภาพจาก https://www.sanook.com/horoscope/107085/


ใส่บาตร กับ พระทุศีล ได้บาป คนขวางได้บุญ...จริงหรือ.?

เมื่อวันก่อนมีคนถามผมเกี่ยวกับเรื่องใส่บาตรกับพระทุศีล(ไม่มีศีลหรือผิดศีลของพระ) ว่าตกลงได้บุญหรือบาปกันแน่ ตามที่ในหนังสือของผมได้อธิบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำสังฆทานซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้ว่าจะเป็นพระทุศีลแต่หากเราทำเป็นแบบสังฆทาน เราก็จะได้บุญมากมายมหาศาล เพราะเป็นการให้ที่ไม่เฉพาะเจาะจง

แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วหากเราไม่ได้ทำเป็นแบบสังฆทานเป็นการทำบุญกับพระเป็นรายบุคคล เช่น การตักบาตร ซึ่งไม่ได้เป็นสังฆทานแล้วหากพระรูปนั้น เป็นพระทุศีล เราจะได้บุญ หรือว่าได้บาปเพราะไปส่งเสริมคนไม่ดีกันแน่

เรื่องนี้หากอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ที่ผมได้เขียนไว้ในหน้าที่ 114 ของหนังสือ ถ้ารู้...(กู)...ทำไปนานแล้ว ก็จะพบว่า ในพระไตรปิฎกเขียนเอาไว้ว่า

การทำบุญกับสัตว์เดรัจฉาน ได้บุญ 100 หน่วย
การทำบุญกับคนไม่มีศีล ได้บุญ 1000 หน่วย

เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่า ต้องทำบุญกับคนมีศีลเท่านั้นถึงจะได้บุญ การทำบุญกับสัตว์เดรัชฉาน ซึ่งมีคุณธรรมต่ำกว่ามนุษย์มากมาย เราก็ยังได้บุญ(สัตว์เดรัชฉาน จะฆ่า ขโมย โดยไม่มีความสำนึกในความผิดแม้แต่น้อย แต่มนุษย์ที่เลวก็ยังมีอยู่ในส่วนลึกๆๆ) แล้วจะนับประสาอะไรกับการทำบุญกับ โจรใจชั่ว เราก็ได้บุญเช่นกัน


@@@@@@@

"ทำกับ โจรใจชั่ว ไม่มีทางได้บุญหรอก" เพราะส่งเสริมให้มันทำชั่วมากขึ้น หลายคนคงจะคิดแบบนี้(ผมก็เคยคิดแบบนี้) แต่กรรมเป็นเรื่องของเจตนา หากเราให้อาหารโจรใจชั่ว โดยมีเจตนาที่อยากให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้รอดพ้นจากความหิวโหย ได้รอดพ้นจากความตาย เราก็จะได้บุญจากการให้ทานแล้ว ส่วนโจรจะทำอะไรต่อไป ก็เป็นบาปของโจร

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆคนก็คงยังคงสงสัยและคลางแคลงใจ ว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ผมขอยกตัวอย่างเรื่องที่เราส่วนใหญ่รู้จักกันดี นั่นก็คือพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธิธัตถะ ในชาตินี้ถือได้ว่าพระองค์ได้สร้างมหาทานที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ การสละลูกและภรรยาให้กับผู้อื่น

คำถามก็คือ "ชูชก เป็นคนดีหรือคนเลวครับ" ถูกต้องครับ เป็นคนเลว การที่พระองค์ให้ทานลูกของตน เป็นการสร้างทานครั้งยิ่งใหญ่ โดยที่ชูชก เป็นคนเลว พระองค์ก็ยังได้บุญมากมายมหาศาล เพราะเจตนาในการให้คือให้ด้วยเจตนาที่อยากให้ และในชาติเดียวกันนี้ พระองค์ยังได้ยกช้างคู่บ้านคู่เมืองให้กับคนทุศีล(คนเลว)อีกด้วย ซึ่งก็เป็นการสร้างทานบารมีอีกเช่นกัน(ได้บุญ)

@@@@@@

นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23  เขตตสูตร พระพุทธเจ้าได้อธิบายว่า

[๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนา อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย นาในโลกนี้
     เป็นที่ลุ่มๆดอนๆ ๑
     เป็นที่ปนหินปนกรวด ๑
     เป็นที่ดินเค็ม ๑
     เป็นที่ไถลงลึกไม่ได้ ๑
     เป็นที่ไม่มีทางน้ำเข้า ๑
     เป็นที่ไม่มีทางน้ำออก ๑
     เป็นที่ไม่มีเหมือง ๑
     เป็นที่ไม่มีคันนา ๑

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก
     ดูกรภิกษุทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกันแลทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากไม่รุ่งเรืองมาก ไม่เจริญแพร่หลายมาก สมณพราหมณ์ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ในโลกนี้ เป็นมิจฉาทิฐิ ๑ เป็นมิจฉาสังกัปปะ ๑ เป็นมิจฉาวาจา ๑ เป็นมิจฉากัมมันตะ ๑ เป็นมิจฉาอาชีวะ ๑ เป็นมิจฉาวายามะ ๑ เป็นมิจฉาสติ ๑ เป็นมิจฉาสมาธิ ๑
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมากไม่เจริญแพร่หลายมาก


@@@@@@@

แปลว่า การทำบุญกับคนทุศีลได้บุญน้อย ไม่ใช่ได้บาป ฉะนั้นการที่จะบอกว่า ทำบุญกับพระทุศีล กับคนเลว แล้วได้บาปนั้น จึงไม่ถูกต้องเพราะจุดเริ่มต้นคือความรู้สึกอยากสละ หรือการให้ในสิ่งที่ตนมีเมื่อมีเจตนาแบบนี้ ไม่ว่าผู้รับจะเป็นใคร ก็ได้บุญทั้งสิ้น(แต่ก็จะมากน้อยตามคุณธรรมของผู้รับ)

การทำบุญกับคนทุศีลและสัตว์เดรัชฉานยังได้บุญแล้วจะนับประสาอะไรกับการทำบุญกับพระที่ทุศีลเล่า ก็ต้องได้บุญด้วยเช่นกัน(แต่ก็น้อยกว่าทำกับพระมีศีลครบ) ฉะนั้น เราจึงสบายใจได้ว่า การตักบาตรกับพระนั้น ไม่ว่าท่านจะทุศีลหรือมีศีลครบเราก็จะได้บุญอย่างแน่นอน

ในเมื่อการตักบาตรกับพระทุศีลได้บุญ ผู้ที่พยายามบอกผู้อื่นว่าตักบาตรกับพระทุศีลได้บาปก็จะเข้าข่ายขัดขวางการทำบุญของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นลังเลที่จะทำบุญหรือทำได้น้อยลง คนที่ทำแบบนี้ก็จะถือว่าขวางบุญ และเป็นการกระทำที่เป็นบาป ต้องได้รับผลกรรมในอนาคต

ฉะนั้น จึงบอกเล่าเก้าสิบให้ทุกท่านได้เข้าใจเพื่อจะได้ไม่ผิดพลาด ทำบาปโดยที่คิดว่าช่วยเหลือผู้อื่นและจะได้ตักเตือนแนะนำคนที่เรารู้จัก ไม่ให้ทำบาปแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนให้ใส่บาตรกับพระทุศีลนะครับ เพียงแต่ผมต้องการให้สบายใจว่าได้บุญแน่นอน เพราะเราไม่มีทางทราบว่าพระรูปไหนทุศีล การที่จะมานั่งตรวจตราก็เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าเป็นในกรณีที่เราเห็นด้วยตาว่าท่านผิดศีลอย่างร้ายแรง ก็ไม่ควรจะใส่บาตรท่าน เพราะจะกลายเป็นสนับสนุนคนทำบาปไป วางใจให้ถูกต้องก็แล้วกันนะครับว่ากรณีไหนควรทำอย่างไร





เจ้าของบทความ : ณัฐพบธรรม , 22/08/2011
ขอบคุณที่มา : http://www.nutpobtum.com/index.php?mo=3&art=420256
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ