(ซ้าย) พระมหามงกุฎบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณฯ (ขวา) ลายเส้นพระปรางค์วัดอรุณ
ทำไม รัชกาลที่ 3 ทรงอัญเชิญพระมหามงกุฎ ไว้บนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณฯกุฎาคาร ตามความหมายอย่างกว้าง คือ เรือนหรืออาคารที่มียอด เช่น ปราสาท มณฑป หรือกระทั่งบุษบก เป็นต้น การสร้างกุฎาคาร “ยอดมงกุฎ” หรือ “ยอดทรงมงกุฎ” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่ง “อินทรคติ” หรือคติพระอินทร์เฟื่องฟูเป็นอย่างมากจนถือเป็นอุดมการณ์ประจำรัชสมัย เช่น วิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นกุฎาคารยอดมงกุฎ หรือพระมณฑป วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นกุฎาคารยอดทรงมงกุฎ เป็นต้น“พระบวรเศวตเวชยันตวิหาร” หรือ วิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กุฎาคารยอดมงกุฎในรัชสมัยนี้เป็นสัญลักษณ์ของวิมานพระอินทร์หรือ ”ไพชยนต์มหาปราสาท” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหนือเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล ดังปรากฏนามอย่างเป็นทางการของวิหารยอดว่า “พระบวรเศวตเวชยันตวิหาร”
ทั้งนี้ คัมภีร์ปัญจราชาภิเษก เขียนขึ้นในรัชกาลที่ 1 ได้กล่าวเปรียบเทียบว่าพระมหามงกุฎของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นยอดวิมานพระอินทร์ อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระมหามงกุฎของพระประธานวัดนางนอง กรุงเทพมหานคร ไว้บนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สื่อความหมายถึงยอดของวิมานไพชยนต์เหนือเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาลซึ่งมีพระปรางค์เป็นสัญลักษณ์ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับสถาปัตยกรรมยอดมงกุฎหรือยอดทรงมงกุฎนั่นเอง
หากในความรับรู้ของราษฎรทั่วไปในยุคนั้นกลับพากันโจษจันว่าเป็นนิมิตหมายว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องให้ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” เป็นยอดของบ้านเมืองครองราชสมบัติต่อไปยอดมงกุฎของบุษบกธรรมาสน์ในการเปรียญวัดราชประดิษฐ “พระบรมราชสัญลักษณ์” ประจำรัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระผนวชจึงทรงถือเอาโอกาสนั้นนำตราพระมหาพิชัยมงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ออกมาใช้อย่างเปิดเผย ด้วยเหตุนี้ กุฎาคารยอดมงกุฎ จึงเลื่อนความหมายจาก “อินทรคติ” ในรัชกาลที่ 3 กลายเป็น “พระบรมราชสัญลักษณ์” ประจำรัชกาลที่ 4 ในที่สุดคัดความจาก : หนังสือ ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา เขียนโดย พิชญา สุ่มจินดา จัดพิมพ์โดยวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, 2555
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/history/article_11245