« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2020, 07:31:58 am »
0
เมตตาฌานการเจริญ"เมตตาพรหมวิหาร" ถ้าสูงขึ้นก็เป็น "เมตตาอัปปมัญญา" เมตตาพรหมวิหารเนี่ย เป็นการแผ่เมตตาเฉพาะบุคคล แผ่ให้ควายตัวนี้ เสือตัวนี้ ให้งูตัวนี้ หรือให้คนคนนี้ อะไรอย่างนี้
ถ้าแผ่เมตตาอัปปมัญญาเนี่ย แผ่ไม่มีขอบเขตครอบโลกธาตุเลย จะกว้างขวางมาก แต่คนที่จะแผ่(เมตตา)อัปปมัญญาได้สมาธิต้องแรงพอ ถ้ามีแรงนิดเดียวจะไปแผ่กว้างๆนะ เหมือนมีหลอดไฟ ๕ แรงเทียน แหม จะแผ่ทั่วห้องเนี้ยนะ หายไปหมดแหละหาไม่เจอ จี้อยู่แถวนี้ยังพอดูอะไรได้
งั้นอย่างสมาธิเราดี เวลาเราเจริญเมตตานะไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ กว้างขวาง แล้วเวลาเราจะทำสมาธิต่อนะ เวลาใจที่มีเมตตาเนี่ยนะ ทรงจิตอยู่กับความเมตตาไว้ เมตตาเป็นอรูปนะ เมตตาเป็นอรูป จิตจะกระโดดเข้าอรูปฌานไป โดยไม่ต้องผ่านรูปฌาน
งั้นเวลาเราเจริญเมตตาเนี่ย จิตเข้าอัปปนาสมาธินะจะไม่มีนิมิต อย่างถ้าเราใช้ลมหายใจ ใช้กสิณเนี่ย ก่อนที่(จิต)มันจะสงบ แล้วจะเกิดนิมิตปฏิภาคขึ้นมา จะเป็นดวงขึ้นมาสว่าง กำหนดได้อย่างนู้นอย่างนี้ แต่อย่างเมตตาจะไม่มีจุดไม่มีดวงนะ จะไร้ขอบไร้เขต คนละแบบกัน
งั้นการเข้าอัปปนา(อัปปนาสมาธิ)จะมี ๒ แบบ แบบหนึ่งเข้าโดยกรรมฐานที่ทำให้มีปฏิภาคนิมิต อีกอันหนึ่งเป็นกรรมฐานที่ไม่มีนิมิตนะ เนี่ยเรื่องของสมาธินะสนู้กสนุก เรียนชาติเดียวไม่จบหรอกนะ เรียนหลายชาติ บางองค์ท่านก็ทำอะไรได้แปลกๆนะ แต่ว่าไม่เล่าดีกว่าเสียเวลา พวกเราก็ช้อบชอบนะเรื่องอย่างเนี้ยนะ
@@@@@@@
สมาธิอีกชนิดหนึ่งนะ ก็คือ "สมาธิที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว" อย่างเราแผ่เมตตาเนี่ย ความรู้สึกเราจะกระจายออกไป เราเพ่งกสิณความรู้สึกเราจะเคลื่อนออกไป แล้วเราทำกรรมฐานไปรู้ลมหายใจ เพ่งลมหายใจ จิตเราจะเคลื่อนไปอยู่ที่ลมหายใจ
เราพัฒนาจากสมาธิ ที่จิตเคลื่อนไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว มาเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่นแล้วรู้อารมณ์ ก็ใช้กรรมฐานอย่างเดิมนั่นแหละ อย่างเราแผ่เมตตาไป แผ่เมตตา หรือพุทโธ หรือหายใจไปนะ ใช้(กรรมฐาน)อย่างที่เคยทำ แต่ให้ความสนใจ ให้ความใส่ใจที่จิต ไม่ได้ไปให้ความใส่ใจที่ตัวอารมณ์ อย่างเราแผ่เมตตาเนี่ยนะใจเราจะกว้างนะ เราไม่สนใจจิตใจตัวเองนะ (จิต)มันจะกว้างขวางไม่มีขอบไม่มีเขต ฮู้! มีความสุขบอกไม่ถูก
แต่คราวนี้แทนที่จะให้ความสำคัญกับเมตตา หรือให้ความสำคัญกับอารมณ์เนี่ย "ให้ความสำคัญกับจิต" พุทโธ พุทโธไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน พุทโธไป จิตสงบ รู้ว่าสงบนะ พุทโธไป จิตหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปคิด โดยเฉพาะการรู้ว่าจิตหนีไปคิดเนี่ย ดีมากๆเลย
จิตที่หนีไปคิดคือจิตที่มีโมหะ มีความฟุ้งซ่าน มีกิเลสที่ชื่ออุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน งั้นเวลาเราพุทโธ เราหายใจ หรือเราเจริญเมตตา แล้วมันลืมกรรมฐานของเราไป (จิต)หนีไปคิดเรื่องอื่นน่ะ เราก็รู้ทัน อ้าว!จิตหนีไปแล้ว คอยรู้ทันจิตไว้ เอาจิตเป็นพระเอก เอาจิตเป็นนางเอก แล้วไม่ใช่เอาอารมณ์เป็นที่พึ่งที่อาศัยอีกต่อไป
@@@@@@@
งั้นเราทำกรรมฐานนะ พุทโธๆๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นลืมพุทโธ รู้ทัน พอรู้ทันนะ จิตที่หลงก็จะดับ จิตที่รู้ก็จะเกิด เราจะได้สิ่งที่เรียกว่า "จิตผู้รู้"
คำว่า"จิตผู้รู้" เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนเนี่ย เข้าไปหาครูบาอาจารย์วัดป่า เนี่ยจะได้ยินแต่คำว่า"จิตผู้รู้" หาองค์นี้ท่านก็พูดถึงจิตผู้รู้ องค์นี้ก็พูดถึงจิตผู้รู้นะ ตอนเราหัดใหม่ๆ เราก็ไม่เข้าใจ พอภาวนาไปแป๊บนึง โอ้ย (จิตผู้รู้)ตัวนี้ เราเห็นมาแต่เด็กแล้ว จิตที่มันเป็นคนดู จิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่"จิตที่ทำหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง" "เป็นจิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์"
รู้อารมณ์คือรู้อะไร ? รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ ในสิ่งที่กระทบกาย รู้นามธรรมทั้งหลาย หรือธรรมารมณ์ทั้งหลาย ธรรมารมณ์ ไม่ใช่นามธรรมอย่างเดียวนะ รูปธรรมจำนวนมากก็เป็นธรรมารมณ์ เป็นสิ่งที่รู้ด้วยใจ อย่างเราลองหลับตา
แล้วเราขยับเนี่ย เรารู้ด้วยตา หรือเรารู้ด้วยหู เรารู้การเคลื่อนไหวเนี่ย รู้ด้วยใจ รูปที่เคลื่อนไหวเนี่ยเรียก "วิญญัติรูป" เป็นรูปที่รู้ด้วยใจ งั้นธรรมารมณ์เนี่ยบางส่วนเป็น"รูป" นามธรรมทั้งหมดเป็นอารมณ์ นิพพานเป็นอารมณ์ แล้วก็บัญญัติ ก็เป็นอารมณ์ นี่เป็นอารมณ์ เป็นธรรมารมณ์
งั้นสิ่งที่รู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอารมณ์ จิตมันเป็นคนรู้อารมณ์ เช่นความสุขเกิดขึ้น จิตก็รู้ว่าความสุขเกิดขึ้น เนี่ยจิตเป็นคนดู
ขณะเนี้ยพวกเรานั่งอยู่ รู้สึกมั้ย พวกเรานั่งอยู่ ใครเป็นคนรู้ ? จิตเป็นคนรู้ ไม่ต้องไปหานะว่าจิตอยู่ที่ไหน หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อว่า ถ้าเราใช้จิตแสวงหาจิตอีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ ท่านสอนขนาดนี้เลย หาอีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ ไม่ใช่หาสิบนาทีอย่างพวกเรา หาไม่เจอแล้วก็แล้วกันไป ให้พากเพียร(เอาจิตไปหาจิต)ตลอดกัปหนึ่งก็ไม่เจอ
@@@@@@@
งั้นเราไม่ต้องไปหาตัวผู้รู้ เราให้รู้ทันเวลามันหลงน่ะ ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงนะ จิตหลงจะดับ แล้วจะเกิดจิตผู้รู้ขึ้นโดยอัตโนมัติ "ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ เราจะเจริญปัญญาไม่ได้"
อย่างขณะเนี้ยร่างกายเรานั่งอยู่ จิตมันรู้ว่าร่างกายนั่ง ร่างกายหายใจ ตอนนี้ร่างกายหายใจออกหรือหายใจเข้า ดูออกมั้ย ต้องวางฟอร์มมั้ยถึงจะรู้ว่าตอนนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า ไม่ต้องเลยใช่มั้ย
ตอนนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า รู้มั้ย.? ตอนนี้นั่งอยู่ รู้มั้ย ? เห็นมั้ยแค่ไม่ใจลอยเท่านั้นน่ะมันก็รู้แล้ว
ว่าร่างกายจะหายใจออกจะหายใจเข้า ร่างกายจะยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายจะเคลื่อนไหว ร่างกายจะหยุดนิ่ง แค่ไม่ลืมตัวนะ! ไม่เหม่อ ไม่ใจลอยลืมเนื้อลืมตัว แค่นี้ก็รู้สึกได้แล้ว ว่าร่างกายมันกำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ร่างกายหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึกไปร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไป
ลองพยักหน้าซิ เนี่ยเดี๋ยวนี้เริ่มพยักหน้าเป็นแล้ว แต่ก่อนพยักหน้าไม่เป็นนะ แต่ก่อนพอหลวงพ่อบอกพยักหน้าซิ หลวงพ่อคิดถึงกิ้งก่ากิ้งก่าเวลามันพยักหน้านะมันทำอย่างนี้นะ
เมื่อกี้หัวเราะ รู้มั้ย ใครหัวเราะ ? เห็นมั้ยว่าร่างกายหัวเราะ เห็นรึเปล่า ? อย่าบอกว่าเห็นนะ เมื่อกี้เนี้ยเราหัวเราะ เมื่อกี้เราหัวเราะ ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ มันจะเห็นร่างกายต่างหาก ที่กำลังหัวเราะอยู่ จิตเป็นคนรู้คนดูนะ แต่ถ้าจิตเป็นคนรู้คนดูมันไม่ค่อยหัวเราะหรอก จิตมันเบิกบานแล้วหัวเราะ เบิกบานในธรรมะแล้วหัวเราะ ยิ้ม หรือจิตหลงโลก จิตมีราคะก็ยิ้มได้ หัวเราะได้ เพราะมีเหตุของการหัวเราะเยอะแยะเลย
งั้นลองคอยรู้สึกไป ร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง คันแล้ว สมมุติคันแล้วเกา เนี่ยคันรู้ว่าคันก่อนนะ มีทุกขเวทนาเกิดแล้ว คือคันเกา เกาเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ถ้าเราร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดูเนี่ย แป๊บเดียวมันจะรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู พวกเราไปสังเกตดู อะไรที่ถูกรู้ถูกดูอันนั้นจะไม่ใช่ตัวเรา
พระธรรมเทศนา : หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ขอบคุณ :
https://sites.google.com/site/theholydhammacity/merciful-contemplation
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 06, 2020, 07:40:30 am โดย raponsan »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ