ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัทธรรมปฏิรูป.?  (อ่าน 833 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
สัทธรรมปฏิรูป.?
« เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2020, 06:45:42 am »
0



สัทธรรมปฏิรูป.?

ในการเสวนาครั้งนั้น อาตมาได้ตอบคำถามที่ว่า สัทธรรมปฏิรูป จะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา ได้จริงหรือไม่ โดยทรรศนะของอาตมาแล้ว อาตมามองว่า สำหรับสังคมไทย เรื่องสัทธรรมปฏิรูป ไม่ได้เป็นสาเหตุที่จะทำเกิดวิกฤตทางศรัทธาของชาวพุทธเลย เพราะในสังคมพุทธกระแสหลักทุกวันนี้ หากเราลองมองให้ดีแล้ว เราจะเห็นว่า ไม่มีความเป็นพุทธแท้ หรือพุทธดั่งเดิมอยู่จริง ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เมื่อไม่มีธรรมจริงหรือธรรมแท้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีธรรมปฏิรูปหรือธรรมเทียม พุทธศาสนาในประเทศไทย เกิน ๘๐ % เป็นพุทธศาสนากลายด้วยกันทั้งสิ้น คือเป็นพุทธศาสนาที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิความเชื่อหลายอย่าง และนอกจากจะเป็นพุทธกลายแล้ว ยังเป็นพุทธที่มีอัตลักษณ์จำเพาะตัวอีกด้วย คือขึ้นตรงต่อรัฐ และผูกติดความเป็นชาตินิยมสูง

ที่บอกว่าสัทธรรมปฏิรูปไม่น่าจะก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาได้นั้น ก็เพราะว่าศรัทธาของชาวพุทธในสังคมไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นศรัทธาที่จริงจังหรือซีเรียสอยู่กับหลักการของพุทธศาสนาเลย เช่น ในหนึ่งคนอาจศรัทธาได้มากกว่าหนึ่งศาสนา บางคนนับถือเทพเจ้าของศาสนาฮินดูพอพอกับนับถือพระพุทธรูปของพระพุทธศาสนา เป็นต้น ดังนั้น เรื่องของสัทธรรมปฏิรูป ที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ และจริงจัง ของพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะก็กลุ่มของภิกษุ ในสมัยก่อน จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาอะไรของชาวพุทธในปัจจุบันนี้เลย กลับกันยังเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า ถูกต้องดีงามด้วยซ้ำไป

เพราะบางคนมองเรื่องศาสนา เป็นแค่เรื่องของการตอบสนองจริตตนเองเท่านั้น เช่น บางคนชอบเรื่องไสยศาสตร์หรือโหรศาสตร์ ถ้าพระสามารถตอบสนองเรื่องเหล่านี้ให้กับเขาได้ เขาก็จะถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นพระดี แม้ว่าจะสิ่งที่ทำนั้นจะขัดกับหลักการของพุทธศาสนาก็ตาม หากจะมีใครสักคนออกมาบอกว่า สิ่งที่เขานับถือ หรือพิธีกรรมที่เขาทำอยู่นั้น ไม่ใช่หลักการไม่ใช่แนวทางของพุทธศาสนา คนผู้นั้นต่างหากที่จะถูกมองว่าแปลกแยก หรือมีความประสงค์ร้ายต่อพุทธศาสนา ไปทันที

@@@@@@@

การตีความคำสอนทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่เฉพาะแค่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้หลังพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน เมื่อไม่มีพระพุทธเจ้า เป็นผู้ชี้ขาดความถูกผิดในคำสอนแล้ว ก็มีปัญหาเรื่องการตีความคำสอน ปรากฏอยู่ชัดเจน ดังกรณีของการสังคายนา นั่นเอง การสังคายนาในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น มักจะเกิดจากการที่ภิกษุ มีความเห็นในเรื่องของพระธรรมวินัยไม่ตรงกัน เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องสังคายนา

และในที่สุดแล้ว หากยังยืนยันในความเห็นที่ไม่ตรงกันนั้นอยู่ ก็ต้องแยกนิกายออกไป เช่น พวกหนึ่งเป็นมหายาน พวกหนึ่งเป็นเถรวาท ซึ่งแม้แต่ในมหายานและเถรวาทเอง ก็ยังมีนิกายย่อยออกไปอีก ทั้งหมดเกิดจากการตีความทางคำสอนทั้งสิ้น หากใช้มาตรฐานในสมัยพุทธกาลมาตัดสิน ท่านก็จะว่า พวกที่แยกนิกายออกไป ล้วนแล้วแต่เป็นสัทธรรมปฏิรูปทั้งสิ้น

เราต้องไม่ลืมไปว่า คำสอนทางพระพุทธศาสนา ถูกส่งผ่านมาโดยวิธีการและรูปแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งการสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ใช้วิธีการซึ่งเรียกว่า มุขปาฐะ คือ ทรงจำกันมาด้วยปากเปล่า จนล่วงมาถึงการสังคายนาครั้งที่ ๕ แล้ว จึงเริ่มมีการจารึกเป็นอักษรครั้งแรก ตลอดระยะเวลาของการสังคายนา บางครั้งก็มีการเพิ่มเติมหลักธรรมคำสอน ที่เข้าใจว่าขาดหายไป หรือไม่ได้ยกขึ้นสู่การสังคายนาในครั้งก่อนก่อน อย่างเช่น พระอภิธรรมปิฎก เพิ่มเข้ามาในการสังคายนาครั้งที่ ๓

นอกจากนั้น บางครั้งก็มีการแปลพระไตรปิฎกที่จารึกไว้ด้วยภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง อย่างที่พระพุทธโฆษาจารย์ ได้กระทำที่ลังกา เป็นต้น จนมาภายหลัง แม้พุทธศาสนาเถรวาทจะเป็นที่ยอมรับว่า เป็นนิกายที่สามารถรวบรวมและรักษาคำสอนดั่งเดิมได้มากที่สุด แต่พระเถรวาทในสังคมไทยเอง ก็ยังมีการปฏิเสธพระไตรปิฎก ไม่เอาด้วยกับเนื้อหาในบางแห่ง ที่เข้าใจว่า เป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือแปลกปลอมเข้ามา ปฏิเสธอรรถกถา ด้วยการกล่าวหาว่า เป็นสาวกภาษิต ไม่ใช่พุทธวจนะของพระพุทธเจ้า เป็นต้น นี่ก็คือการตีความคำสอน ในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง


@@@@@@@

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า พุทธศาสนาในบ้านเราเองที่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของการตีความคำสอน หรือแนวทางการปฏิบัติ ดูเหมือนว่า จะไม่มีสำนักไหนเลย ที่จะมีความกล้าหาญในการยอมรับแนวทางหรือจุดยืนในการตีความ คำสอนของตนเอง ไม่มีสำนักไหนเลย ที่จะกล้าออกมาบอกว่า คำสอนในสำนักของตน คือการตีความในแบบของตน เหมือนอย่างที่มหายาน ยืนยันความเป็นอาจริยวาทของตนเองชัดเจน ไม่ขึ้นกับเถรวาท กลับกัน ทุกสำนักที่มีการตีความคำสอน กลับพยายามที่จะยืนยันความเป็นของแท้ดั่งเดิมแบบเถรวาท ด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าการตีความคำสอนที่ว่านั้น จะตรงกันข้ามกับของเดิมก็ตาม

บางสำนักที่บอกว่าตนเองเป็นเถรวาท แต่อ้างคำสอนหรือคัมภีร์ของมหายาน อย่างโจ่งแจ้ง ก็มี สิ่งที่น่าแปลกไปกว่านั้น ก็คือว่า แม้จะมีความหลากหลายในการตีความคำสอนหรือการปฏิบัติที่แตกต่างกันแค่ไหน พุทธศาสนาที่บอกว่าเป็นเถรวาทในสังคมไทย ก็ยังคงอยู่ร่วมกันได้ โดยคงสัญลักษณ์ของความเป็นเถรวาทเอาไว้ร่วมกัน แม้ว่าในทางปฏิบัติความเป็นเถรวาทจะถูกบิดเบือนไปจากเดิมมากแล้วก็ตาม

มองดูแล้วจึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรเลย ที่เมื่ออาตมาลองสอบถามความเห็นของชาวพุทธในสังคมไทยปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องของสัทธรรมปฏิรูปแล้ว คนส่วนใหญ่จะไม่มีความเข้าใจหรือไม่เคยรู้จักความหมายของคำคำนี้มาก่อน เรื่องของสัทธรรมปฏิรูป ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นความเสียหายต่อพุทธศาสนาอย่างร้ายแรง ในสมัยพุทธกาล ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือเสียหายอะไรแล้ว ในยุคสมัยใหม่ ที่คำสอนทางศาสนา สามารถถูกตีความได้อย่างอิสระ โดยพระเถรวาทที่มักง่าย และปราศจากการรับผิดชอบในการตีความคำสอนของตนเอง เช่นนี้

ส่วนหนึ่งจากบทความ สัทธรรมปฏิรูป วิกฤตศรัทธา จริงหรือไม่.?





เว็บเสรีธรรม : สัทธรรมปฏิรูป โดย พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2015/04/12/ทธรรมปฏิรูป/
12 เมษายน 2015 , By admin   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ