คู่สมรสของอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเข้าพิธีสมรสหมู่ของชาติ พ.ศ. 2487 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
นัยของ “พิธีสมรส” ฤาเป็นผลพวงวัฒนธรรมสร้างชาติ รองรับระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว”มโนทัศน์จากตะวันตกว่าด้วยเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” ส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมและกระบวนทัศน์ทางการเมืองของผู้นำไทยอย่างมาก ท้ายที่สุดแล้วภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ “ครอบครัว” ในทางกฎหมายก็ยังต้องให้ถือหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” ซึ่งนำมาสู่การสร้างวัฒนธรรมในเชิงเครื่องรองรับหลักการ โดยที่ “พิธีสมรส” ฉบับทางการก็เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมด้วย
ประวัติศาสตร์ของมโนทัศน์แบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” เริ่มต้นเข้ามาจากตะวันตกในรูปแบบที่ถูกผลักให้ตรงกันข้ามกับขนบ “ผัวเดียวหลายเมีย” แต่ชนชั้นปกครองของไทยก็ตระหนักในประเด็นนี้จากสภาพบริบทการแทรกแซงของจักรวรรดินิยม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระราชดำรัส เมื่อคราวลงมติกฎหมายครอบครัวว่า ประมวลกฎหมายซึ่งยอมให้มีเมียหลายคน อาจถูกตำหนิติเตียน แต่หากจะให้ปรับเป็นมีเมียคนเดียวก็ยังไม่พร้อม และจะทำให้เกิดความเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรลงมติคะแนนเสียงข้างมาก เมื่อต้นพ.ศ. 2477 ให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีรายละเอียดที่ยึดหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” ภายใต้เงื่อนไขให้มีรับรองบุตรที่เกิดนอกสมรสได้
@@@@@@@
กระนั้น หลักการ “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็จำเป็นต้องมีระบบวัฒนธรรมมารองรับด้วย วิทยานิพนธ์เรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480” โดยสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ นิสิตปริญญาอักษศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่า วัฒนธรรมหนึ่งที่เป็นผลต่อเนื่องจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง พ.ศ. 2481-87 อันเป็นช่วงที่มีโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด “สร้างชาติ” มีเรื่องพิธีสมรสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์อ้างอิงข้อมูลว่า พิธีสมรสซึ่งถูกประดิษฐ์สร้างในทศวรรษ 2480 เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติในฐานะการประกาศเริ่มต้นชีวิตสมรส แต่พิธีไม่ได้ยึดโยงกับแนวคิด “สร้างชาติ” อีกต่อไป กลายเป็นแทรกซึมอยู่กับความหมายของการเปลี่ยนผ่านวัย เชื่อมโยงกับการนิยามทางกฎหมายยุคนั้นที่ถือว่าชายหญิงซึ่งแต่งงานก่อนบรรลุนิติภาวะให้ถือว่าพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว
หลังประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าด้วยหลักครอบครัวแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ความเคลื่อนไหวว่าด้วยองค์ความรู้ธรรมเนียมปฏิบัติในพิธีก็เริ่มตามมา ชาวบ้านเริ่มมีรดน้ำสังข์ลงที่มือบ่าวสาวในพิธีแต่งงาน ตามพระวินิจฉัยของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระวินิจฉัยว่า เป็นพิธีที่มีครั้งแรกในงานเสกสมรสของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กับพระองค์เจ้าอรพัทธ์ประไพ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขึ้น
พระยาอนุมานราชธน ยังบรรยายเกี่ยวกับพิธีแต่งงานทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อ พ.ศ. 2485 อธิบายว่า แบบไหนไม่ใช่ “ความเป็นไทย” อธิบายความหมาย ที่มา และยังชี้ว่าพิธีแต่งงานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ พร้อมเสนอว่าควรวางระเบียบแบบแผนพิธีแต่งงานให้มีความก้าวหน้า
@@@@@@@
ขณะที่รัฐบาลเริ่มมาจัดระเบียบข้อมูลพิธีแต่งงานในช่วงต้น พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูล สงคราม ออกคำสั่งให้กรมศิลปากรพิจารณากำหนดพิธีสมรสขึ้นตามร่างที่สำนักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีนำเสนอ ไม่นานก็มีออก “ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องกำหนดการพิธีสมรสของคนไทย”
ในประกาศระบุองค์ประกอบพิธีสมรส 4 ข้อ คือ รูปแบบพิธี, สถานประกอบพิธี, การจดทะเบียนสมรส และการแต่งกายของเจ้าบ่าวเจ้าสาว
องค์ประกอบรูปแบบพิธี ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ พิธีการอย่างใหญ่ และพิธีการอย่างย่อ แตกต่างกันที่ประเภทแรกมีทั้งพิธีสงฆ์และหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ส่วนประเภทหลังไม่มีพิธีสงฆ์
ด้านสถานที่ระบุเรื่องควรมีพระพุทธรูปไว้ ขณะที่เรื่องการแต่งกายมีรายละเอียดทั้งฝ่ายเจ้าบ่าว เจ้าสาว เพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาว
เดือนเมษยน พ.ศ. 2486 มีออก “ประกาสสภาวัธนธัมแห่งชาติ เรื่องกำหนดการพิธีสมรสของคนไทย” ระบุลำดับขั้นตอน ข้อปฏิบัติอย่างละเอียดตั้งแต่เริ่มพิธีถึงจบพิธี
นอกเหนือจากระเบียบพิธีข้างต้น ยังมีระเบียบพิธีสมรสหมู่ของชาติ (พิธีสมรสหมู่ของชาติจัดเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2486 มีคู่สมรส 73 คู่) จากองค์การส่งเสริมการสมรส กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้เช่นกัน ซึ่งเป็นต้นแบบที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาตินำไปเป็นตัวแบบกำหนดลำดับขั้นตอนและข้อปฏิบัติในพิธีสมรสสำหรับบุคคลทั่วไป
@@@@@@@
ข้อสังเกตต่อเรื่องกระบวนการสมรสอีกประการคือ ความคิดเห็นจากนายแพทย์พูน ไวทยาการ ประธานกรรมการองค์การส่งเสริมการสมรส ซึ่งเคยชี้แจงว่า ขั้นตอนที่มากมายในพิธีสมรสเป็นอุปสรรคต่อการสมรส มีปัญหาเรื่องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และยังเคยเอ่ยเรื่องเห็นควรให้หาทางให้ผู้ปกครองฝ่ายหญิงไม่เรียกสินสอดทองหมั้นมากเกินไปด้วย
ประการนี้พระยาอนุมานราชธน เคยบรรยายเสียงทางวิทยุเมื่อพ.ศ. 2485 มาแล้ว โดยเห็นว่าควรแก้ไขพิธีอันเกี่ยวกับการสมรส อาทิ การเรียกสินสอดทองหมั้น เห็นว่าไม่ควรทำราวกับเป็นการซื้อขายดังประเพณีของชาวซูลู (Zulu) หรือข้อประตูขันหมาก ซึ่งเห็นว่าเป็นส่วนที่แสดงเค้าความไม่เป็น “อริยชาติ”
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ระบุว่า พิธีสมรสยังมีส่วนประกอบเรื่องการจดทะเบียนสมรสซึ่งรัฐกลายเป็นผู้ชี้ขาดความชอบธรรมของการแต่งงานแทนพ่อแม่ ทำให้ผู้ต้องการสมรสมีเสรีภาพในการเลือกคู่มากขึ้น สมรสโดยไม่ต้องผ่านพ่อแม่อีกต่อไป สิทธิ์ของพ่อแม่ลดลงไป ต่างจากกฎหมายครอบครัวก่อนหน้านี้ที่ให้พ่อแม่เป็นผู้มีหน้าที่ประกอบสามีภริยาให้ลูกในฐานะผู้เป็นใหญ่เหนือลูก
ท้ายที่สุดแล้วรายละเอียดเชิงพิธีสมรส อันเป็นผลมาจากแนวคิด “ผัวเดียวเมียเดียว” กลายเป็นหนึ่งในอุดมคติที่พึงปฏิบัติตามรูปแบบผัวเดียวเมียเดียว ครอบครัวที่แตกแยกมักถูกมองในเชิงลบ หรือปัญหาท้องก่อนแต่งถูกรัฐมองว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลลบต่อบริบทโดยรวมไม่ใช่แค่เชิงปัจเจกบุคคลเท่านั้น
อ้างอิง : สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. “‘ผัวเดียวเมียเดียวแห่งชาติ’ : ครอบครัวกับโครงการณรงค์ทางวัฒนธรรมสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2557)
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/history/article_22479