ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ยุคนี้คนจน “กินข้าวกับเกลือ” แต่ 2-3 พันปีก่อน “เกลือ” สำคัญ-มีค่ากว่าที่คิด  (อ่าน 981 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
โนนน้อย แหล่งต้มเกลือมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ที่มองเห็นเป็นคราบขาวโพน คือ "คราบเกลือ" ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ภาพจาก "พลังลาว ชาวอีสาน มาจากไหน" ,สนพ.มติชน 2549)


ยุคนี้คนจน “กินข้าวกับเกลือ” แต่ 2-3 พันปีก่อน “เกลือ” สำคัญ-มีค่ากว่าที่คิด

เกลือใช้กินกับข้าว เลยมีคำว่า “กินข้าวกับเกลือ” เป็นคำพูดในชีวิตประจำวัน บอกให้รู้ว่ายากจนข้นแค้น จนไม่มีอะไรจะกินกับข้าว ฉะนั้นเกลือจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ยากไร้ เพราะคนทั่วไปอย่างน้อยก็มีกุ้งหอยปูปลากินกับข้าว ส่วนคนยากจนข้นแค้นต้อง “กัดก้อนเกลือกิน” แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เกลือเป็นอาหารกินกับข้าวอย่างเบื้องต้นที่สุด

ความสำคัญของเกลือยังมีอยู่ในสำนวนว่า “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” สะท้อนให้เห็นลักษณะเศรษฐกิจว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีข้าวและอาหารหรือข้าว คือเกลือมั่งคั่งบริบูรณ์ แสดงว่าเกลือเป็นมาตรฐานหรือเครื่องวัดเศรษฐกิจสมัยหนึ่งด้วยเช่นกัน

คนอยู่ใกล้ทะเลกินเกลือทะเลที่เรียก “เกลือสมุทร” แต่คนที่อยู่ภายในห่างไกลทะเลกิน “เกลือสินเธาว์” ฉะนั้นชุมชนดึกดําบรรพ์หลายพันปีมาแล้วถือว่าบ่อเกลือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน จะพบบ่อเกลือกระจายทั่วไปทั้งอีสาน ภาคเหนือ และพรมแดนลาว พม่า เวียดนาม และจีน ตราบจนทุกวันนี้

คํา “สินเธาว์” มีรากจากภาษาบาลีว่า สินธฺว หมายถึง เกิด แต่แคว้นสินธวะ หรือม้าสินธพ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเกลือหรือรสเค็ม แสดงว่าไม่ใช่คําดั้งเดิมที่เรียกเกลือชนิดนี้ หากยืมคําที่พ้องเสียงมาใช้เรียกในภายหลัง

มีคําเดิมที่ควรใช้เรียกเกลืออย่างนี้มาก่อนหลายคํา เช่น สินเทา เป็นคําของช่างเขียน หมายถึงเส้นแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ ใน จิตรกรรมฝาผนัง นิยมเขียนเป็นเส้นฟันปลา ขี้เทา อุจจาระของเด็กแรกเกิด ขี้ทา คราบเกลือผุดแห้งเกรอะตามหน้าผิวดิน บางทีเรียกขี้กระทา และขี้กระทาเกลือ

@@@@@@@

น่าสงสัยและน่าเชื่อว่าชื่อเรียกเกลืออีสานจะมีที่มาจากคําเดิมว่า ขี้ทา-ขี้เทา แต่ฟังไม่สุภาพ ไม่ไพเราะเสนาะหูเลยยืมคําพ้องว่าสินเทา มาแปลงเป็นบาลีว่า สินเธาว์ ให้ดูดีขึ้นใช้เรียกมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ถ้าย้อนหลังกลับไปราว 3,000 ปีมาแล้ว เกลือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง มั่งมี และอำนาจ เห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีทางอีสาน ที่ทำเกลือสินเธาว์เป็นสินค้าส่งแลกเปลี่ยนซื้อขายถึงบริเวณทะเลสาบกัมพูชากับบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเคยใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเงินมาก่อน

คนยุคดั้งเดิมดึกดําบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว คงรู้วิธีที่จะทําเกลือหรือสกัดเอาเกลือจากแหล่งเกลือในท้องถิ่นเป็นอย่างดี และน่าจะมีการแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างท้องถิ่นต่างๆ ภายในภูมิภาคแล้ว แต่ การผลิตเป็นจํานวนมากจนถึงขั้นเป็นอุตสาหกรรมคงเกิดขึ้นเมื่อราว 2,000 กว่าปีลงมา อันเป็นระยะเวลาที่การค้าระยะไกลมีการขยายเครือ ข่ายกว้างขวางกว่าแต่เดิม เกิดชุมชนใหม่ ๆ ในภูมิภาคต่างๆ มากมาย ทําให้ความต้องการเกลือสูงขึ้น จึงได้มีผู้คนในภาคอีสาน โดยเฉพาะในแอ่งโคราช หันมาประกอบอาชีพทําเกลือกันตามแอ่งเกลือในการ

@@@@@@@

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายการผลิตเกลือของคนอีสานโบราณยุคดังกล่าวว่า มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมว่า

“การผลิตแต่สมัยโบราณ ในแต่ละแห่งมีจํานวนมากกว่าในปัจจุบัน จนทำให้บริเวณแหล่งที่ผลิตเกลือเกิดเป็นชุมชนของคนที่มีอาชีพทำเกลือขึ้น จริงอยู่ที่การทําเกลือทํากันในฤดูแล้ง 3-4 เดือนต่อปี แต่ว่าการทําภาชนะดินเผาประเภทต่างๆ ที่ใช้ในการต้มเกลือและใส่เกลือนั้นนับเนื่องในกระบวนการผลิตเกลือ อาจทําต่อเนื่องในฤดูที่ว่างจากการทําเกลือได้ ยิ่งกว่านั้น ชุมชนเหล่านี้น่าจะยังเก็บกักเกลือไว้ขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าในฤดูที่ว่างจากการทําเกลืออีกด้วย การที่มีชุมชนอยู่นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการซื้อขายแลกเปลี่ยนตลอดปี”

รอบๆ ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์หรือ “อาณาจักรเกลือ” มาแต่โบราณกาลยุคสวรรณภูมิราว 2,500 ปีมาแล้ว พบเศษภาชนะดินเผาหลากหลายขนาดและชนิดอยู่รอบๆ ทุ่งกุลาซึ่งมีชุมชน หนาแน่นและเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหล็ก รวมทั้งแหล่ง คนที่เติบโตก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขึ้นเป็นบ้านเมืองและรัฐ คือพิมาย (นครราชสีมา) กับพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) และรัฐอื่นที่อยู่ใกล้เคียงในยุคต่อมา


กระบวนการต้มเกลือของชาวบ้านที่บ่อน้อย บ้านหนองคูณ ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจาก “พลังลาว ชาวอีสาน มาจากไหน”, สนพ.มติชน 2549)

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อ้างถึง ดร.ดับเบิลยู.เจ.วันเลียร์ อดีตเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในโครงการพลังงานแม่โขง อธิบายการทำเกลือสินเธาว์ในอีสานว่า เกี่ยวข้องกับปลาแดกและมีการถนอมอาหารอื่นๆ เช่น หมัก ดอง แล้วยังบอกอีกว่า

“การมีแหล่งเกลือสินเธาว์และมีการทำเกลืออย่างสืบเนื่องนั้น น่าจะมีผลไปถึงการเกี่ยวข้องกับทางดินแดนเขมรต่ำรอบๆ ทะเลสาบเขมร ที่มีการจับปลากันเป็นอาชีพหลักมาแต่โบราณ คงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนเกลือกับปลาทางเขมรต่ำ โดยที่เกลือจากอีสานน่าจะถูกนำไปใช้เป็นในการหมักปลา ทำปลาเค็ม ปลาร้า อะไรต่างๆด้วย”

แหล่งเกลือสินเธาว์เก่าแก่ราว 2,500 ปีมาแล้วอยู่ในอีสาน เรื่องนี้อาจารย์ศรีศักรพบว่า อาณาบริเวณที่กว้างขวางทางด้านตะวันตกของเมืองนครราชสีมา ที่คลุมพื้นที่ในอำเภอด่านขุนทด ขามสะแก แสงโนนไทย จนถึงหนองบัวโคกนั้น เป็นบริเวณที่กว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาณาบริเวณนี้มีลำน้ำลำเชียงไกรที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำมูลสายหนึ่งหล่อเลี้ยง

“บริเวณแหล่งเกลือที่เค็มที่สุดน่าจะอยู่แถวลำน้ำเสียวและบ่อพันขัน จังหวัดร้อยเอ็ด เพราะเวลาทำเกลือยังเอาน้ำที่อยู่กลางหนองหรือบ่อเกลือผสมด้วยได้ คือเอาทั้งดินเอียดที่อยู่ตามผิวดินและน้ำที่ขังอยู่ในหนองมาผสมและกรอง เพื่อเอาน้ำเกลือบริสุทธิ์อีกที่หนึ่ง

การทําเกลือในสมัย โบราณแตกต่างกันกับการทําเกลือของชาวบ้านในสมัยปัจจุบัน ตรงที่ว่าของชาวบ้านในปัจจุบัน นั้นกระจายอยู่ทั่วไปเป็นกลุ่มเล็กๆ ดูเป็นอาชีพเสริมที่พวกผู้หญิงและคนแก่ทํากันในยามที่ว่างจากการทํานาหรือการเพาะปลูก แต่ก่อนเช่นที่บ่อพันขันเคยแห่กันมาทําเป็นกลุ่มใหญ่ก็แต่เฉพาะฤดูกาลเท่านั้น หามีกลุ่มชาวบ้านที่ทําแต่เกลือเป็นอาชีพเดียวตลอดทั้งปีไม่


บ่อเกลือริมน้ำมาง หนึ่งในสองบ่อเกลือของบ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (ภาพจาก “พลังลาว ชาวอีสาน มาจากไหน”, สนพ.มติชน 2549)

แต่ในสมัยโบราณ แม้จะไม่แผ่กว้างขวางอย่างเช่นทุกวันนี้ก็ตาม ผู้คนที่ทําเกลือจะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ในชุมชนที่ใกล้กับบ่อเกลือ หรือแหล่งเกลือ จึงมักพบโคกเนินขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพอยู่ใกล้ๆ กับเนินเกลือที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้แหล่งที่เป็นชุมชน บรรดาผู้คนในย่านชุมชนที่เกี่ยวกับการทําเกลือดังกล่าวนี้จะผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการต้มเกลือและบรรจุเกลือด้วย”

เกลือเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีถลุงเหล็กในอีสานเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว เพราะพบหลักฐานการถลุงเหล็กกับแหล่งเกลืออยู่ด้วยกัน อาจารย์ศรีศักรจึงชี้ให้เห็นว่า ทั้งเหล็กและเกลือนอกจากเป็นผลิตผลทางอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นสินค้าระยะไกลด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกส่งไปขาย หรือแลกเปลี่ยนนอกเขตภูมิภาค ถ้าหากพิจารณาร่องรอยโบราณวัตถุ สถานที่สัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมแล้ว ก็อาจพูดได้ว่าสินค้าเหล็ก และเกลือนั้นน่าจะส่งเข้ามาทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกทางหนึ่ง ทางที่สองไปทางตะวันออก ข้ามแม่น้ำโขงไปทางฝั่งลาวและเวียดนาม ส่วนทางสุดท้ายคือลงไปทางใต้ ข้ามแอ่งเขาพนมดงเร็กไปสู่ที่ราบเขมรต่ำ แถบลุ่มทะเลสาบเขมรในกัมพูชา

โดยเฉพาะกับทางเมืองพระนครหรือกัมพูชาที่อยู่ทางใต้นี้ น่าจะเป็นกลุ่มบ้านเมือง ที่สัมพันธ์กับการแลกเปลี่ยนสินค้าเกลือกับ แอ่งโคราชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าบริเวณใดทั้งหมด เพราะตามแหล่งผลิตเกลือโบราณนั้นมักพบเศษภาชนะดินเผาเคลือบแบบขอมปะปนอยู่ด้วยเสมอ อีกทั้งบรรดาแหล่งผลิตเกลือใหญ่ๆ ตาม ที่กล่าวมาแล้วก็ล้วนอยู่ในเส้นทางคมนาคมไปยังกัมพูชามากกว่าที่อื่นๆ ทั้งนี้เพราะกัมพูชาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองและมีผู้คนหนาแน่น ความต้องการเกลือสินเธาว์ย่อมมีสูง และต้องการเป็นจํานวนมาก

ยิ่งกว่านั้น ในราชอาณาจักรกัมพูชาเองก็ยังมีทะเลสาบน้ำจืดที่ ใหญ่กว่าที่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งสะสมพันธุ์ปลาที่เป็นอาหารสําคัญของมนุษย์ เกลืออีสานน่าจะมีบทบาทในการทําปลาแห้ง ปลาหมัก ปลาดอง และปลาร้าอยู่ไม่ใช่น้อย

เกลือ เป็นทั้งอาหารในชีวิตประจำวันตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว จนถึงปัจจุบัน แล้วยังเป็นสินค้า และพลังงานใช้ลดจุดหลอมเหลว ถลุงเหล็ก จนสังคมก้าวหน้าขึ้นเป็นรัฐขนาดใหญ่





ที่มา : "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน?, สนพ.มติชน, 2549
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่ิอ 24 เมษายน 2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_34545
https://www.silpa-mag.com/history/article_34545
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ