พระพุทธรูปทองคำจากเมืองศรีมโหสถ นามมงคลว่า พระนิรันตราย
การค้นพบ “พระนิรันตราย” พระพุทธรูปทองคำกว่าร้อยปีก่อน สู่นามมงคลว่า “ปราศจากอันตราย”พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปทองคำ มีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2399 ตามประวัติกล่าวไว้ว่า กำนันอิน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่แขวงเมืองปราจีนบุรี ท่านฝันว่าจับช้างเผือกได้ หลังจากนั้นไม่นาน ท่านกับบุตรชายชื่อนายยัง เดินทางเข้าป่าเพื่อขุดมันนกในบริเวณชายป่า ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณ 3 เส้น (เป็นเขตเมืองศรีมโหสถ) ก็ได้ขุดพบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เนื้อหก น้าหนัก 7 ตำลึง 11 สลึง หนักประมาณ 32 บาท ขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2399 (ศิลปะพระนิรันตรายแบบนั่งขัดสมาธิเพชร พุทธศิลปะแบบทวารวดี หน้าตัก 3 นิ้ว สูง 4 นิ้ว)
กำนันอินจึงนำไปมอบให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พระเกรียงไกรฯ จึงได้พากำนันอินและนายยังเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปทองคำ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า …สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ….จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล 7 ชั่ง (560 บาท) แล้วมีพระบรมราชโองการดำริให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองประดิษฐานไว้ โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระบนพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญรวมกับพระพุทธรูปสำคัญอีก 7 องค์ ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ที่สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2402
พระนิรันตราย (องค์ใหม่) รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างครอบองค์เก่าที่เป็นทองคำ
ต่อมา พ.ศ. 2403 เกิดมีขโมยได้มาลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไปถึงในหอพระแทนที่จะลักพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่กว่า และอยู่คู่กัน ทรงพระราชดำริว่าเป็นการบังเอิญแคล้วคลาดถึง 2 ครั้ง นับจากครั้งแรกที่มีผู้ขุดได้ก็อุตส่าห์นำมาถวายไม่นำไปเป็นของตนถือเป็นอัศจรรย์ จึงได้ถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำจากเมืองศรีมโหสถว่า “พระนิรันตราย”
อันมีความหมายว่า ปราศจากอันตราย แล้วสร้างพระพุทธรูปองค์ใหม่ครอบไว้ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เพจ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ.2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/history/article_9808