ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'พระธรรม' สำคัญอย่างไร.? | 'ธรรมะ' เป็นไฉน.?  (อ่าน 1059 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


'พระธรรม' สำคัญอย่างไร.? | 'ธรรมะ' เป็นไฉน.?

การนับถือพระพุทธศาสนาของผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับอามิสบูชา ซึ่งเป็นการเคารพสักการะด้วยวัตถุสิ่งของ มากกว่าปฏิบัติบูชา ซึ่งควรเริ่มต้นจากการฟังธรรมตามกาล

พระธรรมเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้โดยพระองค์เอง ด้วยพระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ ทรงมีพระมหากรุณาคุณแสดงธรรมโปรดแก่สัตว์โลกให้รู้สิ่งที่มีจริง (สัจธรรม) หรือธรรมะที่มีจริง ซึ่งกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด

พระธรรมเป็นองค์หนึ่งในพระรัตนตรัยซึ่งมีองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นศาสดาสืบแทน ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้งหลายตามที่ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก มหาปรินิพพานสูตร มีข้อความว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งกับพระอานนท์ ว่า

    “ดูกร อานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรม ก็ดี วินัย ก็ดี อันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”

การนับถือพระพุทธศาสนาของผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับอามิสบูชาซึ่งเป็นการเคารพสักการะด้วยวัตถุสิ่งของมากกว่าปฏิบัติบูชา ซึ่งควรเริ่มต้นจากการฟังธรรมตามกาล เนื่องจากมีความไม่รู้ (อวิชชา) เพราะไม่ได้ฟังธรรมตามกาลจึงมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) มีการประพฤติปฏิบัติทุจริตทั้งทางกาย วาจาและใจ ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นมูลเหตุ ชีวิตจึงมีแต่ความเศร้าหมองเพราะไฟกิเลสแผดเผาอยู่ตลอดเวลา

@@@@@@@

การฟังธรรมตามกาลจะเป็นเหตุให้ละความไม่รู้ อานิสงส์แห่งการฟังธรรมมี 5 ประการ คือ
     ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง 1
     ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว 1
     ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ 1
     ย่อมทำความเห็นให้ตรง 1
     จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส 1

ความรู้ความเข้าใจในการฟังธรรมทีละเล็กทีละน้อยจะก่อให้เกิดปัญญาตามลำดับขั้น ซึ่งเป็น...
    - ปัญญาที่เกิดจาการฟัง (สุตมยปัญญา )
    - ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณา (จินตมยปัญญา)
    - ปัญญาที่เกิดจากการอบรมให้มีขึ้น (ภาวนามยปัญญา)

ธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มี 2 อย่าง คือ นามธรรมหรือนามธาตุอย่างหนึ่ง และรูปธรรมหรือรูปธาตุอีกอย่างหนึ่ง นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมเป็นสภาพไม่รู้ ทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดแล้วดับ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกแก่นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมมี 4 อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จิตเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้พร้อมกับจิต เกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต โดยรู้สิ่งเดียวกับจิต ปรุงแต่งจิต เช่น ต้องการ ขุ่นเคืองใจ ไม่รู้ ไม่ต้องการ ไม่ขุ่นเคืองใจ ปัญญา ดีใจ เสียใจ เมตตา ริษยา อาฆาต ขยัน ขี้เกียจ ฯลฯ

รูปเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสภาพไม่รู้ มีมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นใหญ่เป็นประธาน นิพพาน เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ เพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นนามธรรมเหนือโลก (โลกุตรธรรม)



ผู้ที่เคยไปร่วมการบำเพ็ญกุศลศพที่วัดคงจะคุ้นหูกับคำสวดพระอภิธรรมว่า ธรรมะที่เป็นกุศลซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี (กุศลาธรรมา) ธรรมะที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายไม่ดี (อกุศลาธรรมา) ธรรมะที่ไม่เป็นกุศลและธรรมะที่ไม่เป็นอกุศล (อัพยากตธรรมา) เป็นการแสดงถึงธรรมะที่มีจริง มีสามัญลักษณะ 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) ซึ่งเป็นไปตามพระพุทธพจน์ว่า

    “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง (สัพเพ สังขารา อนิจจา)
     สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ (สัพเพ สังขารา ทุกขา)
     ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (สัพเพ ธัมมา อนัตตา)”

 
การดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไปในสังคม เป็นไปด้วยความหลงลืมสติซึ่งมีทั้งความโลภ โกรธ หลง ยึดติดเหนียวแน่นกับความเป็นตัวตน (อัตตา) ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาววัยกลางคน ตลอดจนวัยชรา ในแต่ละวันเมื่อลืมตาตื่นนอนคิดเรื่องราวสารพัด มีความติดข้องต้องการในสิ่งต่าง ๆ ทันที มีความขุ่นเคืองใจในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความต้องการหลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ดี แต่ละวันจึงมีแต่อกุศลมากกว่ากุศลมีความทุกข์กายและทุกข์ใจมากกว่าความสุขกายและสุขใจเนื่องจากมีความเศร้าหมองกับไฟกิเลสที่แผดเผาอยู่ตลอดเวลา
 
@@@@@@@

ลักษณะของธรรมะซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้ลิ้มรส ให้กระทบสัมผัส โดยมีจิตทำกิจเห็นสี (วัณณรูป) ทางตา ได้ยินเสียง (สัททรูป) ทางหู ได้กลิ่น (คันธรูป) ทางจมูก ลิ้มรส (รสรูป) ทางลิ้น กระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว (โผฏฐัพพรูป) ทางกาย มีการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว อุปมาฟ้าแลบซึ่งมี 3 อนุขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น (อุปาทยขณะ) ขณะที่ตั้งอยู่ (ฐิติขณะ) ขณะที่ดับไป (ภังคขณะ)
 
ในห้วงเวลาที่สภาพการณ์ของโลกและประเทศชาติกำลังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกตกต่ำในรอบศตวรรษส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมความพยายามในการพึ่งตนเองอย่างเต็มศักยภาพและลดผลกระทบต่างๆ ให้มีน้อยลง

การมีพระธรรมเป็นที่พึ่งโดยการฟังธรรมตามกาลเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล แม้จะมีความทุกข์กายอย่างไรแต่ความทุกข์ใจก็จะมีน้อยลงหรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

วันนี้เป็นวันพระซึ่งเป็นวันธรรมสวนะ เป็นโอกาสดีที่ชาวพุทธจะได้เริ่มต้นฟังพระธรรมเพื่อให้ชีวิตมีความเป็นปกติสุขตามอัตภาพของแต่ละบุคคล




คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ ,โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/article/820139
พฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ