เหตุอะไร.? ทรงอนุญาตให้เพิกถอน "สิกขาบทเล็กน้อย" เสียเล่า.?ขุททานุขุททกปัญญา ถามว่า ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เหตุอะไรทรงอนุญาตให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียเล่า.? เนื้อความรายละเอียดมีกล่าวไว้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา อเภชชวรรค ดังนี้
@@@@@@@
พระเจ้ามิลินท์ : ”พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ‘อภิญฺญายาหํ ภิกฺขเว ธมฺมํ เทเสติ โน อนภิญฺญาย‘ (อง.ติก.20/356)
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรมแล” และยังตรัสไว้ในพระวินัยบัญญัติ อย่างนี้อีกว่า ‘อากงฺขมาโน อานนฺท สํโฆ มมจฺจเยน ขุทฺทานุขุทฺทกานิ สิกฺขาปทานิ สมูหนตุ (วิ.จุ 7/316, ที.มหา.10/179)
ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยทั้งหลายเถิด‘
พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่รับสั่งให้สงฆ์เพิกถอนสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยทั้งหลายได้ในคราวที่พระองค์ทรงล่วงลับไปแล้วนั้น เป็นเพราะสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยทั้งหลาย เป็นสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ไม่ดีหรือไร หรือว่าเป็นเพราะเมื่อยังไม่มีเรื่องเกิดขึ้น พระองค์ทรงบัญญัติไว้ เพราะทรงไม่รู้เล่า.?
พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
‘ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม ไม่ใช่ยังไม่รู้ก็แสดงธรรม‘
ดังนี้จริงไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า
‘ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยทั้งหลายเถิด‘
ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด, ถ้าหากพระตถาคตตรัสไว้ในพระวินัยบัญญัติอย่างนี้ว่า
‘ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนสิกขาบทเล็กสิกขาน้อยทั้งหลายเถิด‘
ดังนี้ จริงไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำพูดที่ตรัสไว้ว่า
‘ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม ไม่ใช่ไม่รู้ก็แสดงธรรม‘
ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดผิด ปัญหานี้มี 2 เงื่อน สุขุมละเอียดอ่อน ลึกซึ้งแสนลึกซึ้ง มองเห็นยาก, ปัญหานั้นตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงแสดงกำลังญาณที่แผ่ไพศาลของท่านเถิด.”
@@@@@@@
พระนาคเสน : ”ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า
‘ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม ไม่ใช่ยังไม่รู้ก็แสดงธรรม‘ ดังนี้จริง.
ตรัสไว้แม้ในพระวินัยบัญญัติอย่างนี้ว่า
‘ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยทั้งหลายเถิด‘ ดังนี้จริง.
ขอถวายพระพร พระตถาคตเมื่อจะทรงทดสอบภิกษุทั้งหลายว่า
‘สาวกของเรา เมื่อเราอนุญาตอยู่ พอเราล่วงลับไปแล้ว จักพากันเลิกล้มสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยทั้งหลาย หรือว่าจะยังเอื้อเฟื้อกันอยู่หนอ‘ ดังนี้ จึงตรัสคำในพระวินัยบัญญัตินั้นไว้.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประสงค์จะทดสอบ จึงรับสั่งกะโอรสทั้งหลายว่า
‘นี่แน่ะพ่อคุณ แว่นแคว้นใหญ่หลวงนี้ไปสิ้นสุดที่มหาสมุทรตลอดทิศทั้งปวง การที่พวกเจ้าจะอาศัยกำลังเพียงเท่านั้นรักษาแว่นอคว้นใหญ่นี้เอาไว้ เป็นข้อที่ทำได้ยาก, เมี่ิอพ่อล่วงลับไปแล้ว พวกเจ้าจงสละหัวเมืองชายแดนเสียบ้างเถิด‘ ดังนี้.
มหาบพิตร เมื่อพระราชชนกสวรรคตแล้ว พวกราชกุมารเหล่านั้นก็จะยอมสละหัวเมืองชายแดนทั้งปวงที่อยู่ในเงื้อมมือตน ตามคำของพระราชชนกหรือ ขอถวายพระพร.?“
พระเจ้ามิลินท์ : “หามิได้ พระคุณเจ้า พวกราชกุมารเหล่านั้น มีแต่จะแสวงหาหัวเมืองชนบทให้มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นเป็นทวีคูณ เพราะความโลภต่อราชสมบัติ ไฉนจะยอมสละเมืองที่ิอยู่ในเงื้อมมืออยู่แล้วเล่า.?
พระนาคเสน : ”ขอถวายพระพระพร อุปมาฉันใด อุปมัยก็ฉันนั่น พระตถาคตทรงประสงค์จะทดสอบภิกษุทั้งหลาย จึงรับสั่งอย่างนี้ว่า
‘ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยทั้งหลายเถืด‘ ดังนี้.
ขอถวายพระพร พระพุทธบุตรทั้งหลายมีแต่จะอบรมเจริญรักษาสิกขาบทอื่นๆ ยิ่งขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ เพราะมีความมุ่งมั่นจะพ้นจากวัฏฏทุกข์อยู่แล้วจึงพากันออกบวช จะสละทิ้งสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วตามปกติได้อย่างไร“
พระเจ้ามิลินท์ : ”พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ตรัสไว้ว่า ‘ขุทฺทานุขุทฺทสิกฺขาปท(สิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อย)‘ ดังนี้ ในคำนี้ คนเขายังสับสน เกืดความข้องใจ สงสัยกันอยู่ว่า ขุททสิกขาบท(สิกขาบทเล็ก)เป็นไฉน, อนุขุททสิกขา(สิกขาบทน้อย)เป็นไฉน“
พระนาคเสน : ”ขอถวายพระพร มหาบพิตร สิกขาบทที่เป็นทุกกฏ ชื่อว่าเป็นขุททสิกขาบท, สิกขาบทที่เป็นทุพภาสิต ชื่อว่าอนุทุททสิกขาบท
มหาบพิตร พระเถระแต่ครั้งก่อนก็เกิดความข้องใจในขุททานุขุททกสิกขาบท 2 อย่างเหล่านี้ เรื่องทั้งหมดดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นแล้ว แต่พระเถระเหล่านั้นไม่ได้รวบรวมไว้ในคราวทำสังคายนา“
พระเจ้ามิลินท์ : “พระคุณเจ้านาคเสน ข้อลี้ลับของพระชินเจ้าที่เก็บงำกันไว้นาน ได้ถูกท่านทำให้เปิดเผย ให้ปรากฏแล้วในโลก ในวันนี้.”
@@@@@@@
ในนิสสยอักษรปัลลวะ อักษรสิงหล อักษรขอม อักษรธรรมล้านช้าง กล่าวตรงกันว่า เพราะมีความเห็นว่า สิกขาบทเล็ก สิกขาบทน้อยต่างกัน
บางท่านกล่าวว่า เว้นสิกขาบทปราชิกเสีย นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อย
บางท่านก็กล่าวว่า เว้นสิกขาบทปราชิกกับสังฆาทิเสสเสีย นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อย
การสังคายนาจึงมีมติเห็นชอบ คล้อยตามความชื่นชมของพระพุทธองค์ ในนิสีทนสันถตสิกขาบทที่ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า
"พวกข้าพระพุทธเจ้าจักไม่แต่งไม่ตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจะไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ ขอสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น"
พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวชื่นชมว่า
"ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน ไม่ควรแต่ง ไม่ควรตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่เราบัญญัติไว้ เราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวกแล."ขอบคุณ :
dhamma.serichon.us/2020/12/04/เหตุไรทรงอนุญาตให้เพิก/ บทความของ สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ, 4 ธันวาคม 2020 ,posted by admin.