การปฏิบัติธรรม ต้องพิจารณาตาม "สภาวะของบุคคล" คือ อย่างไร.?คำถาม : ที่กล่าวว่าการปฏิบัติธรรมควรพิจารณาถึงสภาวะของบุคคลนั้นๆ จะทราบอย่างไรว่าเขามีสภาวะอย่างไร? ในเมื่อปุถุชนย่อมมีกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ อยู่มาก ขอให้อธิบาย
คำตอบ : ในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติที่พูดถึงสมถกรรมฐาน แต่จะมีพื้นฐานจริต อัธยาศัย เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ การจะรู้ว่าใครเป็นจริตอะไรจริง บุคคลผู้นั้นเองจะต้องดูตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ว่าตนมีพื้นฐานลักษณะนิสัยเป็นอย่างนี้ ควรจะเจริญกรรมฐานข้อใดอีกอย่างหนึ่งคือ การสังเกตจากครู อาจารย์ เช่น
@@@@@@@
- คนใดที่มีอัธยาศัยรักสวยรักงาม มีความสุภาพเรียบร้อย จะทำการงานก็มีความสะอาดสะอ้าน รสชาดอาหารก็ต้องการรสชาดอาหารที่กลมกล่อม จะเขียนหนังสือ จะซักผ้า จะกวาดพื้นก็ล้วนแล้วแต่สะอาดเรียบร้อย ก็แสดงว่ามีพื้นอัธยาศัยที่เป็นราคจริต
- คนบางคนทำงานอะไรรวดเร็ว กระฉับกระเฉงว่องไว ปราดเปรียว มักจะโกรธง่าย กระทบกระทั่งอะไรก็มีความคิดรุนแรง เขียนหนังสือก็จะมีการกดกระดาษ จะเดินก็มีการกระแทกพื้นแรงๆ จะกวาดขยะก็ไม่ค่อยเรียบร้อย แต่สำเร็จในเวลารวดเร็ว เป็นต้น แสดงว่าเขาเป็นคนโทสจริต
- คนบางคน มีอะไร ทำอะไรซึมๆ เรื่อยๆ เหม่อลอยเฉื่อยๆ ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ไม่ค่อยกระฉับกระเฉง ปราดเปรียว แสดงว่ามีลักษณะของโมหจริต
- คนบางคนที่น้อมใจเชื่อง่าย มีความประณีตบรรจง คล้ายๆกับพวกราคจริต แสดงว่าเป็นคนสัทธาจริต
- คนบางคนที่เป็นเจ้าเหตุ เจ้าผล เจ้าถ้อยหมอความ มีความคิดความอ่านรุนแรง ชอบวิเคราะห์วิจัย คิดค้นสิ่งทั้งหลายก็แสดงว่ามีพุทธิจริต
- คนบางคนก็ฟุ้งซ่านไม่ค่อยสงบ มักมีอาการเหม่อลอย เซื่องซึม คิดฝันเพ้อฝัน แสดงว่าเป็นพวกวิตกจริต
@@@@@@@
ฉะนั้น การตรวจสอบจึงตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง โดยครูอาจารย์ ถ้าให้ถูกต้องควรอาศัยประกอบกัน วิธีการครูอาจารย์สั่งสอนไว้ทั้งหมดศิษย์ฟังแล้วก็พิจารณาตัวเองว่าจะเลือกปฏิบัติข้อใด ในกรณีที่ยังไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นจริตอะไร ให้อาศัยแนวอานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งเป็นกรรมฐานสากลที่ครอบคลุม จิตของบุคคลทั้งหลายเอาไว้ หมายความว่าใครจะเป็นจริตอะไรก็ตาม เมื่อเจริญอานาปานสติกรรมฐานแล้ว ทำให้จิตใจมีความสงบในระดับต่างๆได้.
ที่มา : หนังสือ ”ตอบปัญหานานาชาติ”
หมวด : ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการของจิต
ตอบโดย : พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ)
ขอบคุณ :
http://dhamma.serichon.us/2015/05/04/1915/4 พฤษภาคม 2015, posted by admin.