(Photo by AFP)
“หมา” เริ่มเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์เมื่อไหร่.? ทำไมถึงเลี้ยง.?ถ้าถามว่าสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับมนุษย์มากที่สุดคืออะไร คงหนีไม่พ้น “หมา” เจ้าของหลายท่านก็เรียกอย่างรักใคร่เอ็นดูว่า น้องหมา, น้อง…(ชื่อหมา), เค้า ฯลฯ ขณะที่ใช้คำว่า “มัน” ซึ่งคำสรรพนามที่ใช้กับสัตว์ตามหลักภาษาไทย มีการใช้น้อยถึงน้อยมาก ที่ร้ายกว่านั้นคือ เรากลับใช้ “มัน” เรียกเพื่อนฝูงที่สนิท หรือไม่ก็คนที่ชังน้ำหน้าไปเลยแทน
“หมา” เป็นสัตว์เลี้ยงตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วในไทยเริ่มเมื่อไหร่ รวมทั้งเรื่องราวอื่นอันเกี่ยวกับ “หมา”
พนา กันธา ค้นคว้าและเขียนไว้ในบทความของชื่อ “‘หมา’ : ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์” (วารสารประวัติศาสตร์ 2560, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ที่เมื่ออ่านแล้วทำให้เรารู้จัก “หมา” ในมุมที่เปลี่ยนไป
ผู้เขียน (พนา กันธา) เริ่มเล่าตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ว่า มีลักษณะคู่ขนาน เพราะต่างก็เป็นสิ่งแปลกหน้าต่อกัน แต่ก็มีการพึ่งพิงกัน เช่น มนุษย์กินสัตว์เป็นอาหาร ขณะที่สัตว์ร้ายบางชนิดก็กินเนื้อมนุษย์ได้เช่นกัน นั่นคือสภาพความเป็นอยู่ก่อนที่มนุษย์จะก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่
@@@@@@@
แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 สภาพแวดล้อมถูกเปลี่ยนเป็นเมืองมากขึ้น เมืองที่เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ขณะที่สัตว์ถูกแยกออกไปอยู่ในป่า แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ขยายตัวขึ้นมาตั้งแต่งานเขียนเรื่อง The Origin of Species ของ Charles Darwin ทำให้ชาวตะวันตกพยายามนำสัตว์กลับเข้ามาในเมืองเกิดเป็นวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมข้างต้นยังทำให้มนุษย์โหยหาธรรมชาติ, โหยหาอดีต แล้วแสดงออกโดยการจำลองสภาวะธรรมชาติ เช่น การจัดสวน, การสร้างสวนสัตว์ รวมถึงการเลี้ยงหมา
แต่ความโหยหานั้น ก็ถูกจำกัดด้วยการขยายตัวของสังคมเมือง ครอบครัวส่วนใหญ่มีที่อยู่อาศัยขนาดเล็กลง และถูกตัดขาดจากธรรมชาติ เมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา ก็ต้องเกิดการแบ่งปันพื้นที่ซึ่งมีอยู่น้อยให้น้อยลงไปอีก ทางออกก็คือ ต้องขังสัตว์ไว้ในบ้าน หรือในกรง, ต้องฝึกให้มันเชื่อฟัง, ต้องทำหมันเพื่อคุมจำนวนการแพร่พันธุ์, ต้องกินอาหารสำเร็จรูป ฯลฯ ทั้งหมดนั้นทำให้มันเป็นสัตว์เลี้ยงที่ต้องพึ่งพิงเจ้าของโดยสมบูรณ์
@@@@@@@
การเลี้ยงหมาในฐานะของสัตว์เลี้ยงเริ่มต้นโดยชนชั้นสูงอังกฤษในศตวรรษที่ 19
หมาในเวลานั้นเป็นสิ่งแสดงถึงสถานะของผู้เลี้ยง ในทศวรรษ 1890 มีการจัดประกวดหมาครั้งใหญ่จัดขึ้นที่ Crystal Palace กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ที่เลี้ยงอีกด้วย โดยหมาพันธุ์แท้ย่อมบ่งบอกถึงสถานะได้ดีกว่าหมาพันธุ์ผสม การเลี้ยงหมาพันธุ์แท้ก็สะท้อนถึงสถานะของผู้เลี้ยงหรือเจ้าของด้วย
ต้นศตวรรษที่ 20 การเลี้ยงหมาพันธุ์แท้ของชนชั้นสูงในอังกฤษก็ขยายไปสู่ชนชั้นอื่น เช่น นายทุน, คนชนชั้นกลาง การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในสังคม ผ่านสมาคมพัฒนาสายพันธุ์ระดับชาติ ในการกำหนดสายพันธุ์ และมีการร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับโลก ทำให้ความรู้ในการเลี้ยงหมาพันธุ์เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังทำให้จำนวนผู้เลี้ยงหมาในยุโรปและอเมริกามีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
@@@@@@@
แต่จะสรุปว่าหมาพันธุ์ใดเป็นที่นิยมที่สุดคงตอบไม่ได้ชัดเจนนัก
ความนิยมมักขึ้นกับความคิดของผู้คนในสังคมที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ และเวลาที่แตกต่างกันไป เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 2 คนอเมริกันนิยมหมาพันธุ์ German Shepherd เพราะภาพลักษณ์ของมันที่สื่อออกไปคือวีรบุรุษในสงคราม, ปลายศตวรรษที่ 20 คนอังกฤษที่เลี้ยง Pitbull มักถูกมองว่าเป็นพวกต่อต้านสังคม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หมาในฐานะสัตว์เลี้ยงถูกเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทำให้เกิดธุรกิจและสินค้าเกี่ยวกับหมา เช่น ชามอาหาร, สายจูง, วัคซีน, สถานพยาบาลสำหรับสัตว์ ฯลฯ และแพร่หลายมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2500 สื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์, นวนิยาย, นิตยสาร, โฆษณา ฯลฯ โดยมีการสมาคมสัตว์เลี้ยงขึ้นใน พ.ศ. 2490 จากนั้นก็มีการตีพิมพ์นิตยสารเกี่ยวกับสัตว์ชื่อ “สัตว์เลี้ยง” ใน พ.ศ. 2498 ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหมา และมีการประกวดหมาที่สวนสัตว์ดุสิต ใน พ.ศ. 2502 มีหมาเข้าร่วมการประกวด 132 ตัว
นี่คือการเดินทางบางส่วนของหมาในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยงเผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 10 มีนาคม 2563
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/culture/article_46625