พระธรรมวินัย กับ กฎหมายพระธรรมวินัยมีความล้ำค่าและมีความสำคัญต่อการเกื้อกูลในการตรากฎหมายให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม หากกฎหมายมีการยึดถือตามแนวทางของพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นกุศลธรรมและมีความถูกต้อง บ้านเมืองย่อมจะเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง
พระธรรมวินัย คือ หลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ความจริงอันถึงที่สุด (อริยสัจธรรม)โดยพระองค์เองด้วยพระปัญญาคุณและพระบริสุทธิคุณ ทรงเผยแผ่หลักธรรมคำสอนด้วยพระมหากรุณาคุณตลอดเวลา 45 พรรษา เพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ)
หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ พระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องราวและเหตุการณ์ของบุคคลต่างๆ ในครั้งพุทธกาล พระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มีจริงหรือธรรมะที่มีจริง (สัจธรรม)
ซึ่งมีสามัญลักษณะ 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) โดยจำแนกสภาวธรรมเป็น 2 ประเภท คือ นามธรรมหรือนามธาตุหรือนามขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพรู้ประเภทหนึ่ง และรูปธรรมหรือรูปธาตุหรือรูปขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้แต่ถูกรู้อีกประเภทหนึ่ง ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้งหลายโดยไม่ได้ทรงแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นศาสดาสืบแทน พระธรรมวินัยจึงเป็นศาสดาสืบแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งหลังพุทธกาลเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน
@@@@@@@
กฎหมาย คือ กฎ ระเบียบหรือกติกาที่ถูกตราขึ้นโดยอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐ เป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อควบคุมสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย เพื่อให้บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพอันพึงมีโดยไม่ล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น มีความเป็นอยู่อย่างปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข ไม่ถูกเบียดเบียน มีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย
พระธรรมวินัยมีความล้ำค่าและมีความสำคัญต่อการเกื้อกูลในการตรากฎหมายให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม หากกฎหมายมีการยึดถือตามแนวทางของพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นกุศลธรรมและมีความถูกต้อง บ้านเมืองย่อมจะเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามพึงทราบว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้นำคำว่า “พระพุทธศาสนาเถรวาท” มาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 67 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการมีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยอย่างถูกต้อง จะขอนำสารธรรมจากการสนทนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “พระธรรมวินัยกับกฎหมาย” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64 ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ดังนี้
@@@@@@@
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา กล่าวว่า “…เถรวาท เป็นผู้ที่มั่นคงในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือพระวินัยทุกข้อ ที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว…
พอได้ยินคำว่ากฎหมาย กฎหมายคืออะไร กฎหมายเป็นพระพุทธศาสนาหรือเปล่า? ไม่ใช่ ไม่มีสักคำที่กล่าวถึงธรรม ทั้งๆ ที่ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อแต่ละคนเกิดมาต่างกันตามการสะสม ดีบ้าง ชั่วบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง อยู่รวมกันอย่างนี้ แล้วก็ไม่ได้มีใครที่จะศึกษาพระธรรมเป็นที่พึ่ง… ด้วยเหตุนี้ จึงมีกฎหมายเพื่อที่จะให้เป็นที่พึ่งที่จะให้คนที่อยู่รวมกันได้มีความสุข ไม่มีการกระทำที่เบียดเบียนกันประทุษร้ายต่อกันเดือดร้อนกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายเลยก็ย่อมเดือดร้อนมาก แต่ว่าทั้งหมด เดือดร้อนเพราะอะไร ที่พึ่งจริงๆ ที่จะไม่ให้เดือดร้อน มี แต่เมื่อไม่มีความเข้าใจเลยในความเป็นจริงของธรรม ก็ไม่ได้พึ่งพระธรรม แต่ประพฤติตามอัธยาศัยที่สะสมมา ดีชั่ว ตามที่เห็นกันอยู่ เพราะฉะนั้น จึงมีกฎหมาย เพื่อที่จะให้คนชั่วไม่เบียดเบียนคนดี และวิธีที่จะรู้ว่าเมื่อเบียดเบียนแล้วเป็นโทษอย่างไร ก็ตามกรรมคือการกระทำที่กระทำ… เป็นเรื่องของการที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยให้คนที่อยู่ร่วมกันได้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก
… สิ่งใดที่เป็นความถูกต้อง สิ่งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ สิ่งใดที่เป็นความไม่ถูกต้อง พระองค์ก็ตรัสไว้ แต่ละเอียดถึงรากถึงเหตุที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมทั้งทางกายทั้งวาจา ละเอียดกว่านั้นมาก เป็นการขัดเกลาอย่างยิ่งถึงเหตุที่จะให้ไม่เป็นผู้ที่ประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น…. คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตัดต้นตอที่จะทำให้เบียดเบียนคนอื่น เพราะรู้ว่าเบียดเบียนคนอื่นเมื่อไหร่เบียดเบียนตนเองเมื่อนั้น … เพราะฉะนั้น ความจริงเท่านั้นเมื่อรู้ถูกต้องแล้วก็จะทำให้สามารถที่จะค่อยๆ ละคลายความไม่ดี ซึ่งถ้าทุกคนดีหมด กฎหมายก็คงจะไม่ต้องบัญญัติไว้มากมาย….
เพราะฉะนั้น ความถูกต้องคือความเห็นถูก ไม่เกรงกลัวอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะเป็นประโยชน์ ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย พูดสิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ไหม? เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องตรง ถ้าไม่ตรง ก็เป็น อคติ ตัวอย่างมีทุกวัน เพราะฉะนั้น ก็สามารถจะพิจารณาได้ทุกเหตุการณ์ โดยความเป็นผู้ตรง เป็นธรรมะ ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่มีธรรม ก็ไม่มีใครเลย แต่พอมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มีธาตุรู้ มีทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่มีอคติ…”
@@@@@@@
อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า “… ถ้าเราดูตัวกฎหมายเอง โดยที่เราไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยเลย ดูในแง่ของผู้ที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธโดยการนับถือพระรัตนตรัย แล้วก็มีการประพฤติปฏิบัติตามประเพณีนิยมบ้าง เราก็จะมองไม่เห็นเลยว่า กฎหมายคณะสงฆ์ มีความผิดปกติ หรือว่าไม่ถูกต้องอย่างไร แต่ถ้าหากได้ชึกษาพระธรรมวินัยโดยละเอียด โดยเฉพาะพระวินัยบัญญัติเกี่ยวกับภิกษุแล้ว จะเห็นได้ว่า มีข้อแตกต่างจากพระวินัยออกไปค่อนข้างเยอะ เรียกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ คงต้องกล่าวอย่างนี้ เพราะว่า ถ้าเอาพระธรรมวินัยมาเทียบกับบทบัญญัติของกฎหมายปัจจุบัน ก็คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต่างกันมาก เพราะกฎหมายเอง
ในประการที่หนึ่งก็คือ เรื่องของการปกครองสงฆ์ ก็ต่างไปจากพระธรรมวินัย เพราะในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงแสดงเอาไว้ ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ไว้ว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ไปแล้ว ก็มีพระธรรมวินัย เป็นผู้ปกครองสงฆ์ แต่ปัจจุบันนี้ กลายเป็นการปกครองสงฆ์ตามกฎหมาย ก็กลายไปเป็นลำดับชั้นต่างๆ มีลำดับชั้น มีขั้นตอนการปกครอง มีพื้นที่การปกครอง มีลำดับการบังคับบัญชา ตรงนี้ ประการแรก ทำให้เห็นถึงโครง ว่าต่างไปจากพระธรรมวินัย
อันที่สอง คือ หน้าที่และภารกิจของสงฆ์ในกฎหมาย ก็ต่างไปจากพระธรรมวินัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการดูแลกิจการวัด การปกครอง การจัดการงานที่ได้รับความมอบหมายจากฝ่ายปกครองต่างๆ ซึ่งในกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มีระบุไว้ในมาตรา 15 ตรี ว่า หน้าที่ของฝ่ายปกครองมีอะไรบ้าง ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องของการเกี่ยวกับการสาธารณูปการ คือการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอะไรต่างๆ รวมถึงสาธารณสงเคราะห์ คือ ช่วยเหลือสังคม ซึ่ง 2 ประการหลักนี้ ไม่ปรากฏในพระธรรมวินัย เป็นสิ่งที่ไม่มีในพระธรรมวินัย
… ดังนั้น การที่ (กฎหมาย) กำหนดไว้อย่างนี้ แล้วก็ไม่เข้าใจพระธรรมวินัยว่า บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของคณะสงฆ์ไว้อย่างไร ก็จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน และปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่า มีการก่อสร้างถาวรวัตถุอะไรต่างๆ มากมายในวัดต่างๆ ในประเทศไทย เพราะว่า เกิดจากหน้าที่หรือภารกิจที่อยู่ในกฎหมาย และในเรื่องของสาธารณสงเคราะห์ ก็จะเห็นได้ว่า ภิกษุท่านออกไปทำหน้าที่อะไรต่างๆ ในเรื่องของการพัฒนาสังคมมากมาย ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องที่ทางโลกเห็นว่าดี แต่ว่า ตามพระธรรมวินัยแล้ว กลับเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า กฎหมายในปัจจุบัน แม้แต่กฎหมายของคณะสงฆ์เอง ไม่ถูกต้องหรือเป็นไปตามพระธรรมวินัย….”
@@@@@@@
อาจารย์จริยา เจียมวิจิตร กรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า “…ประเด็นที่บอกว่า ไม่สามารถจะแก้ไขได้ในขณะนี้ ไม่ใช่เพราะตัวกฎหมาย ในตัวกฎหมายคณะสงฆ์ มาตรา 15 ตรี เขียนไว้ให้ชัดเลย ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องทำ ใน 15 ตรี นี้ เป็นอำนาจมหาเถรสมาคม อำนาจของมหาเถรสมาคมมีข้อหนึ่ง ซึ่งเราเคยสนทนากันหลายครั้งแล้ว "..รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา..
" หลังจากนั้น ก็บอกให้ มหาเถรสมาคม มีอำนาจออกกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบคำสั่ง กติกา มติ อะไรต่างๆ แต่ต้องออกให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย… เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียนตอนต้นว่า ไม่มีทาง เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ไม่มีทาง เพราะองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ มหาเถรสมาคม ไม่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองมีหน้าที่ หน้าที่ของท่านคือ รักษาพระธรรมวินัย แต่กลับไปออกกฎ
อย่างกฎเร็วๆ นี้ที่เราเห็น เรื่องที่มีหนังสือบอกกับกรมการขนส่งฯ ว่า ถ้าพระมาขอใบขับขี่ ให้แจ้งพระว่า ถ้าทำผิดแล้ว จะถูกจับเหมือนกับประชาชน อย่างนี้แปลว่าอะไร? แปลว่ายอมให้ทำได้ ใช่ไหม?... เพราะฉะนั้น ตรงนี้ขัดพระธรรมวินัยไหม? ก็แปลว่า ท่านไม่รักษาหลักพระธรรมวินัย ตามที่กฎหมายเขียนไว้ เพราะฉะนั้น ที่กราบเรียนตอนต้นว่า ไม่มีทาง ไม่มีทางเพราะเหตุที่ว่า องค์กรที่มีหน้าที่ดูแลพระพุทธศาสนาในขณะนี้ ไม่กระทำตามพระธรรมวินัยที่ท่านมีอำนาจ ที่จะดูแลพระทั้งหลาย ให้รักษาพระธรรมวินัย…
@@@@@@@
ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า “…การปกครองที่จะเป็นการปกครองโดยธรรมต้องใช้หลักธรรมาธิปไตย เป็นหัวใจเป็นศูนย์กลางเป็นแกนกลาง คือ ต้องถือความถูกต้องตามธรรมเป็นใหญ่ ต้องถือความถูกต้องเป็นธรรมเป็นใหญ่ ไม่ใช่ปล่อยให้ไปตามกิเลสตัณหาของผู้คนฝ่ายต่างๆ แม้ว่าจะเป็นฝ่ายที่มีเสียงข้างมาก ก็ต้องทักท้วง ต้องยับยั้งต้องหาทางถ่วงเอาไว้ว่า
แนวนั้นมันจะไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม จะนำไปสู่ความเสื่อมความล่มสลายความแตกสามัคคีความวินาศบาดหมางในสังคม หลักธรรมาธิปไตย ถือความถูกต้องชอบธรรมเป็นใหญ่ จากนั้นท่านก็ขยายไปอีก 4 หลัก ประกอบกัน หลักการที่จะต้องดูแลไพร่ฟ้าประชาชน ผู้คนในประเทศเรา 60–70 ล้านคน มีแตกต่างทั้งชาติชั้น วรรณะ เพศ วัย หลากหลายมาก
ผู้ปกครองประเทศตามหลักธรรมาธิปไตย ต้องสามารถหาหนทางที่จะช่วยเสริมส่งให้ผู้คนเหล่านั้นแต่ละฝ่ายแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าในเมืองในชนบทชายขอบหรือศูนย์กลาง ไม่ว่าจะชั้นใด ไพร่ หรือ อำมาตย์ ต่างสามารถดำรงชีวิตอย่างสุจริตธรรมประกอบสัมมาอาชีวะโดยสุจริต สมแก่สภาพของแต่ละคนๆให้ได้มากที่สุด แต่หลักการนี้ ถูกละเลย ถูกลบเลือน ถูกมองข้ามไป จากนักการเมืองนักปกครองของเราบางคนที่มองว่าเราจะดูแลเฉพาะคนที่สนับสนุนเราเท่านั้น เราจะจัดสรรงบประมาณให้กับคนที่เลือกพรรคเราเท่านั้น ใครไม่ได้เลือกพรรคเราเข้ามา คุณก็ไปขอความช่วยเหลือจากพรรคที่คุณเลือก อย่างนี้ผิดหลักธรรมาธิปไตย…
ถ้าเราไม่ทำอะไร ปล่อยแบบนี้ต่อไป วันหนึ่ง มันจะเสื่อมโทรมจนสุดขีด แล้วรอเหตุการณ์เหมือนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต้องมาชำระล้าง สะสาง เอาพวกอลัชชี พวกไม่มียางอาย พวกปลอมบวช ออกหมด.....”
@@@@@@@
อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย วิทยากรมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนากล่าวว่า “… ท่านที่เข้าใจพระธรรมวินัย ท่านจะกระทำทุกอย่างทุกวิถีทาง เพื่อดำรงไว้ซึ่งพระสัทธรรม… การที่พระภิกษุไปทำกิจของคฤหัสถ์ เกลือกกลั้วกับคฤหัสถ์ เป็นการไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลมากมาย แล้วก็สามารถล่วงพระวินัยได้มากข้อด้วย..
ข้อความใน ภัททกสูตร มีข้อความแสดงไว้ชัดเจนว่า ภิกษุที่ยินดีในการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่ไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ ผิดพระวินัย ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมะได้ เพราะว่า มีอาบัติเป็นเครื่องกั้น และถ้าท่านไม่เห็นโทษ ไม่แก้ไข มรณภาพไป ชาติถัดไป ถัดจากชาตินี้เลย ก็คือ อบายภูมิ เท่านั้น เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงชัดเจนว่า อาบัติที่ภิกษุมีความจงใจที่จะล่วงละเมิด เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมได้ แน่นอน และมีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ก็คือ ถัดจากชาตินี้เลย..”คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ขขอบคุณ :
https://www.dailynews.co.th/article/835695พฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น.